ตาตุ่มทะเล

(Blind your eyes)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Excoecaria agallocha L.
ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น ตาตุ่ม ตาตุ่มทะเล (กลาง) บูตอ (มลายู-ปัตตานี)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10-18 ม. ผลัดใบ มียางสีขาวมาก ส่วนมากลำต้นจะตรง มักแตกกิ่งในระดับต่ำคล้ายไม้พุ่ม เปลือกต้นเรียบถึงแตกเป็นร่อง สีนํ้าตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลอมเทา กิ่งอ่อน มีช่องอากาศเล็ก รากหายใจแผ่กระจายไปตามผิวดิน


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่ แกมรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง 2-5ซม. ยาว 4-9 ซม. ปลายใบกลมถึงเว้าตื้นๆ หรือเรียวแหลม มนโคนใบมน ขอบใบหยัก เป็นคลื่นเล็กน้อยใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน แผ่นใบนิ่มคล้ายหนัง มีสีเขียวเป็นมัน และจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐ เมื่อใบใกล้ร่วง ก้านใบ เรียวยาว 1-2.5 ซม.
ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ เป็นช่อเชิงลด ดอกมีขนาดเล็กมาก ติดกันเป็นกระจุก ช่อดอกเพศผู้มีสีเหลืองแกมเขียวยาว 5-10 ซม. ช่อดอกเพศเมียสั้น 2-3 ซม.
ผล ผลแห้งแตก มี 3 พู รูปเกือบกลม กว้าง 0.5-0.7 ซม. ยาว 0.3-0.4 ซม. ด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง ผลเกลี้ยง สีเขียวถึงน้ำตาลเข้ม เมล็ดเกือบกลม สีดำ ออกดอกและติดผลเดือน พ.ค.-พ.ย.


นิเวศวิทยา พบตามป่าชายเลน ชอบขึ้นในที่ชื้นชายน้ำริมตลิ่งชายคลอง และขึ้นแทรกพืชชนิดอื่น เจริญเติบโตได้ดีในน้ำเค็มบริเวณน้ำแช่ขังและน้ำขึ้นน้ำลง มีความทนทานมีอายุยืน
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบ แก้ลมบ้าหมู เปลือกต้น ทำให้ อาเจียน เป็นยาถ่าย แก้โรคลมชัก ต้น ถ่ายเสมหะและโลหิต เผาเอาควัน รมฆ่าเชื้อโรคผิวหนัง โรคเรื้อน ราก ถ่ายหนองและลม ฝนทาแก้บวม ตามมือตามเท้า แก้คัน ยาง มีฤทธิ์ถ่ายอย่างแรง โทษ น้ำยาง สีขาวถ้าถูกนัยน์ตา ทำให้ตาบอด ถูกผิวหนังทำใหผิวหนังไหม้ คัน หอยแมลงภู่ ปู ที่เกาะอยู่ที่ไม้ตาตุ่มทะเล ถ้านำมากินจะทำให้ท้องร่วงและอาเจียนอย่างรุนแรง วิธีการรักษา ล้างน้ำยางออกจากผิวหนังโดยใช้สบู่ อาจให้ทายาสเตียรอยด์ ถ้ารับประทานเข้าไปให้เอาส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมออกใช้ activated charcoal ล้างท้อง หรือทำให้อาเจียนและรักษาตามอาการ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย