กระถินณรงค์

(Wattle)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia auriculiformis A.Cum.ex Benth.
ชื่อวงศ์ LEGUMIMOSEA – MIMOSOIDEAE
ถิ่นกำเนิด ทางเหนือของออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8-100 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม แผ่กว้างและค่อนข้างแน่น กิ่งแขนง ห้อยย้อย เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว และเปลือกต้นที่กั้นสลับร่องลึกแตกเป็นกาบหนา มีรูปร่างไม่แน่นอน


ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ พบเฉพาะเมื่อเป็นต้นอ่อน เมื่อโตขึ้นจะเหลือเพียงก้านใบเปลี่ยนรูปแผ่ขยายคล้ายใบ มีลักษณะ และทำหน้าที่คล้ายใบ เรียงเวียนสลับ รูปทรงโค้งงอ เป็นรูปเสี้ยว กว้าง 1-2 ซม. ยาว 7-15 ซม. ขอบใบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยงหนา สีเขียวเข้ม ลายเส้นเป็นแนวยาวมองเห็นชัดเจนทั้งสองด้าน


ดอก สีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อแบบช่อหางกระรอก ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกห้อยยาว 4- 10 ซม. ดอกย่อยขนาดเล็ก จำนวนมาก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกโคนกลีบเชื่อมติดกันปลายแยก เป็น 5 แฉก ปลายกลีบโค้งกลับลง เมื่อบานเต็มที่เกสรเพศผู้สีเหลือง สดใสจำนวนมากและอาจมีผลสำหรับผู้เป็นโรคภูมิแพ้
ผล ผลแห้งแตกสองตะเข็บ เป็นฝักทรงแบนและบิดเป็นเกลียว หรือวงกลม 1-3 วง กว้าง 1-1.3 ซม. ยาว 3-4 ซม. สีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีน้ำตาลมีเนื้อหุ้มเมล็ดสีส้ม เมล็ดทรงกลมแบน สีน้ำตาลอมดำ 5-15 เมล็ดต่อฝักขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ออกดอกและติดผลตลอดปี แต่ออกดอกมากเดือน มิ.ย.-ก.ค.
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ กระถินณรงค์เป็นไม้โตเร็ว นอกจากใช้เป็นไม้ เบิกนำในการปลูกป่าพื้นดินเสื่อมโทรมแล้ว ยังใช้เป็นไม้ฟืนเชื้อเพลิง และประโยชน์อื่นๆ เช่น เผาถ่าน ทำเฟอร์นิเจอร์ และเป็นวัตถุดิบ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย