ลักษณะต้นกันเกรา

(Anan, Common tembusu)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea fragrans Roxb.
ชื่อวงศ์ GEMTIAMACEAE (LOGANIACEAE)
ชื่ออื่น ตะมะซู ตำมูซู ตำเสา ทำเสา มันปลา
ถิ่นกำเนิด อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-30 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปไข่หรือรูปรี เปลือกต้นสีน้ำตาลเข้ม หรือเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาวเปลือกที่กั้นสลับร่องลึก แตกเป็นกาบหนา มีรูปร่างไม่แน่นอน


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับฉาก รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง 2-4 ซม. ยาว 7-13 ซม. ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนใบสอบเรียบแคบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง สีเขียวเข้มเป็นมัน มีหูใบระหว่างก้านใบ คล้ายรูปถ้วยเล็กๆ ก้านใบยาว 0.6-2 ซม.
ดอก สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลอ่อนเมื่อใกล้ร่วง มีกลิ่นหอมเย็น ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงสั้นๆ ที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 5-10 ซม. ดอกย่อยรูปแจกัน 7-30 ดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบดอก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้ 5 อัน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.2 ซม. ออกดอกเดือน มี.ค.-พ.ค.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.6-0.8 ซม. มีติ่งแหลมสั้นติดอยู่ที่ปลาย สีเขียว เมื่อสุกสีแดงอมส้ม มีเนื้อบางรสขม เมล็ดเป็นเหลี่ยม สีน้ำตาลเข้มขนาดเล็ก ติดผลเดือน เม.ย.-ส.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำในป่าเบญจพรรณชื้น หรือ ทุกภาคของประเทศไทย พบมากทางภาคใต้
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ แข็งทนทานมาก ใช้ทำเสาเรือน เสาสะพาน กระดานปูพื้น ผนัง ประตู หน้าต่าง เครื่องเรือน เครื่องกลึง กระดูกงูเรือ โครงเรือ เสากระโดงเรือ
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ใบ แก้ไข้จับสั่น บำรุงธาตุ แก้หืด รักษาโรคผิวหนัง
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดนครพนม
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย