ต้นขาเขียด

ขาเขียด (khaa khiat) (ไทย) ผักฮิน (เชียงใหม่)
เป็นพืชล้มลุกน้ำอายุปีเดียว (annual) หรือข้ามปี (perennial) ไม่มีลำต้น ต้นที่แก่ๆ จะมีส่วนของก้านใบสุมอัดกันแน่น มองดูเหมือนมีลำต้น แต่ทว่าภายในแยกห่างไม่ติดกัน มีราก (rhizome) สั้นมาก และมีรากฝอยสีน้ำตาลแดงจำนวนมาก
ใบ เป็นใบเดียว ออกสลับกันที่โคนของต้น ก้านใบยาว 5-25 ซม. ออกมาจากตาที่ฐาน ค่อนข้างกลมและอวบน้ำ กลวง โคนของก้านใบจะแผ่ออกเป็นกาบหุ้ม แผ่นใบเป็นรูปไข่ หลังใบมน ยาว 5-7 ซม. กว้าง 1.5-5.5 ซม. โคนใบหยักเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ขณะงอกใหม่ๆ ใบมักจะเรียวยาว ไม่มีแผ่นใบ และไม่มีก้าน


ดอก ออกเป็นช่อ (spikelike) ออกที่ก้านใบที่ระยะ 2 ใน 3 ของความยาวก้านใบจากฐาน และมีแผ่น (bract) สีเขียวอ่อนคล้ายใบ บาง ปลายแหลม หุ้มช่อดอกขณะที่ยังเจริญไม่เต็มที่ มีดอกย่อย 3-15 ดอก (อาจมีถึง 25 ดอก) ซึ่งถูกเปิดให้โผล่ออกพร้อมๆ กัน หรือในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ดอกย่อยแต่ละดอกมีก้านดอกสั้น ยาวไม่เท่ากันตั้งแต่ 4-25 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอก (perianth) 6 กลีบ ยาว 11-15 มม. สีม่วงน้ำเงิน ด้านหลังของกลีบจะเป็นสีเขียวจางๆ แต่ละกลีบแยกจากกัน ปลายมน เกสรตัวผู้ 6 อัน ก้านยาวไม่เท่ากัน ก้านเป็นสีม่วง ในจำนวน 6 อัน จะมีอันหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าอันอื่นๆ อับละอองเรณู 2 เซล แตกออกตามยาว รังไข่แบ่งเป็น 3 ห้อง (carpel) ปลายยาว
ผล (capsule) ยาวประมาณ 1 ซม. มีส่วนของกลีบดอกหุ้มอยู่ แตกออกตามยาว เป็น 2 ซีก ให้เมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก
ขยายพันธุ์โดยอาศัยเมล็ด พบในนาข้าวทั่วไป