ถิ่นกำเนิดมะม่วงหิมพานต์

(Cashew nut)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Anacardium occidental L.
ชื่อวงศ์ ANACARDIACEAE
ชื่ออื่น กาหยี ท้ายล่อ ยาร่วง ยาโหย หัวครก
ถิ่นกำเนิด บราซิล
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5-10 ม. ขนาด ทรงพุ่ม 4-6 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม แผ่กว้าง เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน อมเทา มีรอยด่างขาวเป็นวงทั่วไปและแตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาว


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับรูปไข่กลับ กว้าง 5-8 ซม. ยาว 10-12ซม. ปลายใบรูปตัดหรือมน โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบและห่อเข้าทางผิวใบด้านล่าง แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว ย่นเป็นลอน สีเขียวสดเป็นมัน ใบอ่อนสีม่วงแดงหรือสีเขียวอมน้ำตาล ก้านใบยาว 1-2 ซม.
ดอก สีเขียวอมเหลือง มีแถบสีน้ำตาลแดง ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 15-25 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ สีเขียวอ่อน เชื่อมติดกับฐานรองดอก กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลมและโค้งไปข้างหลัง เกสรเพศผู้ 10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ดอก 0.8-1 ซม. ออกดอกเดือน ม.ค.-มี.ค.


ผล ผลประกอบด้วยผลจริงและผลเทียมที่เกิดจากก้านดอก ผลจริงเป็นผลแห้ง มีลักษณะคล้ายรูปไต กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 2.5-3 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีเทาเรียบเป็นมัน ผลเทียมเป็นผลสดแบบมีเนื้อ เมื่อสุก สีเหลืองหรือสีแดงคลํ้า เมล็ดรูปไต สีน้ำตาลอมเทา 1 เมล็ดต่อผล ติดผลเดือน ก.พ.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงทั่วไปและพบมากทางภาคใต้
การใช้ประโยชน์ ฐานรองดอก ที่พองโตเหมือนผล มีกลิ่นหอม รับประทานได้ ใบอ่อนเป็นผัก ผลหรือที่เรียกทั่วไปว่าเมล็ดนำมาคั่ว หรืออบรับประทาน
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ผล ใช้ฆ่าเชื้อขับปัสสาวะ เมล็ด แก้กลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนัง เปลือก แก้บิด ยอดอ่อน รักษาริดสีดวงทวาร ยาง ทำลายตาปลา น้ำมันใช้ฆ่าเชื้อ รักษาโรคเรื้อน แก้บาดแผลเน่าเปื่อย ผลใช้รับประทานแก้ท้องร่วง รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย