ต้นเหงือกปลาหมอ

(Sea Holly)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acanthus ilicifolius L.
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE
ชื่ออื่น แก้มหมอ แก้มหมอเล (กระบี่). นางเกร็ง จะเกร็ง อีเกร็ง (กลาง) เหงือกปลาหมอ เหงือกปลาหมอน้ำเงิน (ทั่วไป)
ลักษณะทั่วไป ไม้พุ่มลำต้นเลื้อย สูง 1-2 ม. ไม่มีเนื้อไม้ลำต้น เป็นโพรง ตั้งตรง แต่เมื่ออายุมากจะเอนนอน ลำต้นแก่จะแตกกิ่งออกไป มีรากค้ำจุน และมีรากอากาศ
ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก มักมีหนามที่โคนก้านใบ 1 คู่ใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. แผ่นใบรูปใบหอกกว้าง ขนาดกว้าง 3-6 ซม. ยาว 7-18 ซม. แคบลงทางโคนใบ ขอบใบเรียบ ปลายใบกลมหรือเป็นติ่งหนาม หรือขอบใบเว้า เป็นลูกคลื่น มีหนามที่ปลายหยัก หนามนี้มักเกิดที่ปลายเส้นใบหลัก และมีหนามขนาดเล็กกว่าแทรก ปลายใบเป็นสามเหลี่ยมกว้าง มีหนามที่ปลาย


ดอก สีน้ำเงินหรือม่วงอ่อน ออกดอกที่ปลายกิ่งแบบช่อเชิงลด ยาว 10-20 ซม. ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ออกรอบแกน 20 คู่ ใบประดับ ล่างสุดของแต่ละดอก ยาว 0.5 ซม. ร่วงหลุดเร็ว ใบประดับย่อยด้านข้าง 2 ใบ ยาว 0.7 ซม. ติดคงทนและเด่นชัด วงกลีบเลี้ยงมี 4 แฉก สีเขียวอ่อน ถึงสีน้ำตาลอมเขียวแฉกบนใหญ่กว่าแฉกล่าง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ วงกลีบดอกสมมาตรด้านข้าง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5-4 ซม. กลีบในด้านบนสั้นมาก กลีบล่างใหญ่ มี 3 แฉก


ผล ผลแห้งแตก รูปไข่ ขนาดกว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2.5-3 ซม. สีเขียวถึงนํ้าตาลอ่อน ผิวเป็นมัน แตกสองซีกตามยาว มี 2-4 เมล็ด ต่อผล รูปร่างแบนเป็นเหลี่ยมยาว 1 ซม. มีรอยย่นที่เมล็ด ออกดอก และผลเดือน ม.ค.-พ.ค.
นิเวศวิทยา พบตามป่าชายเลน และบริเวณน้ำกร่อย
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ต้น ราก ต้มอาบแก้พิษไข้ แก้โรค ผิวหนังทุกชนิด ถ้าใช้รับประทานเป็นยาแก้พิษฝีดาษ และฝี ต้นสด ตำให้ละเอียด เอาพอกปิดหัวฝี หรือแผลเรื้อรัง
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย