ต้นแซะ

(Catecher tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Callerya atropurpurea (Wall.) A.M. Schot
ชื่อวงศ์ LEGUMIMOSAE – PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่น กะแซะ กาแซะ ยีนีเก๊ะ พุงหมู
ถิ่นกำเนิด มาเลเซียและภาคใต้ของประเทศไทย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-20 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10 – 15 ม. ผลัดใบระยะสั้น ทรงพุ่มค่อนข้างกลม ลำต้นมักแตกกิ่งต่ำ เปลือกต้นสีน้ำตาล แตกเป็นร่องและหลุดล่อนเป็นแผ่นบางๆ


ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 20-30 ซม. ใบย่อย 3-5 คู่ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 3-4 ซม. ยาว 8-18 ซม. ปลายใบเรียว แคบเป็นติ่งแหลม โคนใบเบี้ยว ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบ ค่อนข้างหนาแต่เหนียว สีเขียวเข้มเป็นมัน


ดอก สีม่วงเข้ม หรือม่วงอมแดง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 15-30 ซม. ดอกย่อยรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ขอบหยักซี่ฟันตื้นๆ 5 จัก มีขนสั้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน ออกดอกเดือน ก.พ.-พ.ค.
ผล ผลแห้งแตกสองตะเข็บ เป็นฝักพอง เปลือกหนา สีเขียวสด รูปรีถึงรูปขอบขนาน คอดระหว่างเมล็ดโคนเรียวปลายงอเป็นจะงอย เมื่อสุกสีเหลืองอมน้ำตาล กว้าง 5-7 ซม. ยาว 8-15 ซม. เมล็ดรูปเมล็ดถั่ว สีน้ำตาลเข้มเป็นมันขนาดใหญ่ 1-3 เมล็ดต่อฝัก ติดผลเดือนมี.ค.-มิ.ย. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามป่าดิบชื้นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างทั่วไป แต่เนื้อไม้จะถูกทำลายโดยมอดและแมลง ใช้ทำฟืนและถ่าน ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสด
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย