ถั่ว:การปลูกถั่วนิ้วนางแดงในระบบปลูกพืชเศรษฐกิจ

ถั่วนิ้วนางแดงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญพืชหนึ่ง  โดยในปี 2541  มีมูลค่าการส่งออกถึง 125.20 ล้านบาท  แต่ปริมาณการส่งออก มีแนวโน้มลดลงจาก 8,991 ต้นในปี 2540 เป็น 3,230 ต้น ในปี 2542  เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตลดลง  แหล่งปลูกถั่วนิ้วนางแดงที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเลย  ซึ่งมีพื้นที่ปลูกเมื่อปี 2536 ถึง 108,000 ไร่  หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของพื้นที่ ปลูกถั่วนิ้วนางแดงทั้งประเทศคือ 122,000 ไร่  หลังจากนั้นพื้นที่ปลูกได้ลดลงเหลือเพียง 19,868 ไร่  ในปี 2540 ได้ผลผลิตรวม 2,603 ต้น และผลผลิตเฉลี่ยเพียง 131 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ตลาดต่างประเทศต้องการปีละ 4,000-10,000 ต้น  โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญ  ยังคงนำเข้าและมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้น  เนื่องจากถั่วนิ้วนางแดงมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับถั่วอัดซุกิ (adzuki bean) ซึ่งใช้ทดแทนกันได้และเป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่น

สถานีทดลองพืชไร่เลยได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกถั่วนิ้วนางแดงมาตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา  โดยการปรับปรุงพันธุ์และปรับปรุงการเกษตรกรรมจนได้เทคโนโลยีที่เหมาะสม  สามารถถ่ายทอดสู่เกษตรกรในท้องถิ่นได้  กล่าวคือในปัจจุบันมีสายพันธุ์ก้าวหน้า L28-0395 ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ของเกษตรกรคือให้ผลผลิตเฉลี่ย 239 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อปลูกเป็นพืชแซม และ 264 กิโลกรัมต่อไร่  เมื่อปลูกเป็นพืชเดี่ยว (ตารางแสดง) การปลูกถั่วนิ้วนางแดงมี 2 ระบบ คือ ระบบแรกปลูกเป็นพืชแซมร่วมกับข้าวโพด (intercropoing) ฤดูปลูกที่เหมาะสมคือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม  โดยปลูกพร้อมกันในหลุมเดียวกันใช้ระยะปลูก 75×50 เซนติเมตร ประชากรข้าวโพดต่อถั่วนิ้วนางแดง 2:2 ระบบนี้ต้นทุนการผลิตต่ำ  เนื่องจากค่าเตรียมดิน ค่าปุ๋ย ค่ากำจัดวัชพืชมีเพียงครั้งเดียวปลูกพืช 2 ชนิดในเวลาเดียวกัน ระบบที่สองปลูกเป็นพืชเดี่ยว (monocropping) เป็นพืชที่สองพืชรองหลังข้าวโพดหรือพืชอื่น ปลูกในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ระยะปลูก 50×20 เซนติเมตร จำนวน 2 ต้นต่อหลุม  ในกรณีปลูกเป็นพืชแซมร่วมกับข้าวโพดใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่  ถ้าปลูกเดี่ยวใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่รองพื้นหรือเมื่ออายุได้ 3 สัปดาห์  ป้องกันกำจัดแมลงโดยฉีดพ่นสารฮอสตาธีออนหรือคาราเต้ในระยะต้นกล้า ระยะออกดอกและติดฝักอ่อนตามความจำเป็น และกำจัดวัชพืชโดยสารอลาคลอร์พ่นก่อนพืชปลูกงอก  หากมีความจำเป็นต้องกำจัดวัชพืชอีก 1 ครั้ง  กรณีปลูกร่วมกับข้าวโพดสามารถเก็บเกี่ยวข้าวโพดฝักอ่อน  ถั่วนิ้วนางแดงจะออกดอกประมาณวันที่ 15-20 ตุลาคม  แนะนำให้เก็บเกี่ยวเมื่ออายุได้ 50-55 วัน หลังออกดอก  โดยใช้เคียวเกี่ยว จะทำได้เร็วและไม่เสียเวลาทำการนวดกะเทาะในแปลงโดยใช้ผ้าฟางพลาสติกผืนใหญ่ปูรองพื้นจะเป็นวิธีที่สะดวก  หลังจากนวดเสร็จให้แยกเศษซากลำต้นกิ่งในเปลือกเกลี่ยทิ้งในแปลง  ฝัดทำความสะอาดจะได้เมล็ดถั่วนิ้วนางแดง  พร้อมบรรจุถุงหรือกระสอบต่อไป

จากผลการวิจัยและพัฒนาถั่วนิ้วนางแดงดังกล่าวสถานีทดลองพืชไร่เลย ได้ขยายเมล็ดพันธุ์ถั่วนิ้วนางแดงสายพันธุ์ L28-0395 มาตั้งแต่ปี 2540 ประมาณปีละ 250-300 กิโลกรัม และได้แจกจ่ายให้เกษตรกร หน่วยงานเพื่อใช้ในโครงการพิเศษต่าง ๆ พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรที่ได้เข้ามาดูในสถานีฯ เกษตรกรที่ร่วมทำแปลงทดสอบในโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง และเกษตรกรที่เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตพืชไร่ ซึ่งจัดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย

ตารางแสดง    ศักยภาพการให้ผลผลิตถั่วนิ้วนางแดงสายพันธุ์ L28-0395 และข้าวโพดเมื่อปลูกพืชแซมปลูกที่สถานีทดลองพืชไร่เลย ปี 2543

 

วิธีการ                                                    ผลผลิตข้าวโพด ผลผลิตถั่วนิ้ว     ผลผลิตถั่วนิ้ว นางแดง

(กก./ไร่)

1.  ข้าวโพดพันธุ์นครสวรรค์ 72+ถั่วนิ้วนางแดง                   741                                          196

2.  ข้าวโพดพันธุ์บิ๊ก 919+ถั่วนิ้วนางแดง                            831                                          164

3.  ข้าวโพดพันธุ์นครสวรรค์ 1+ถั่วนิ้วนางแดง                     804                                          239

4.  ข้าวโพดพันธุ์นครสวรรค์ 72                                         927                                          –

5.  ข้าวโพดพันธุ์บิ๊ก 919                                                  940                                          –

6.  ข้าวโพดพันธุ์นครสวรรค์ 1                                           765                                          –

7.  ถั่วนิ้วนางแดง                                                            –                                               264

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ปลูกถั่วนิ้วนางแดงในจังหวัดเลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ 2541-2543 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจาก 19,868 ไร่ ในปี 2540 เป็น 23229 ไร่ ในปี 2543 ในทำนองเดียวกันผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มจาก 131 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2540 เพิ่มเป็น 197 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2543 ส่งผลให้ผลผลิตรวมเพิ่มจาก 2,603 ตัน เป็น 4,568 ตันในช่วงเดียวกัน  และส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกถั่วนิ้วนางแดง  มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 23 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม  ยังพบว่าในระบบการปลูกพืชที่มีถั่วนิ้วนางแดงร่วมกับข้าวโพดหากใช้ปุ๋ยในอัตราและสูตรปุ๋ยที่เหมาะสม  จะสามารถเพิ่มผลผลิตถั่วนิ้วนางแดงได้อีก  โดยผลผลิตของข้าวโพดและถั่วนิ้วนางแดงไม่แตกต่างกัน  อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชเดี่ยว  ซึ่งหากการทดสอบยืนยันผลแล้ว  จะได้แนะนำขยายผลสู่เกษตรกรต่อไป