ถั่วขาว


ชื่อวิทยาศาสตร์ Bruguiera cylindrica Bl.
ชื่อวงศ์ RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น ถั่วแดง ประสักขาว (จันทบุรี), โปรง โปรย (มลายู-ใต้) ปรุ้ย (มลายู-สตูล), รุ่ย (เพชรบุรี)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 8-15 ม. พูพอนน้อย แต่บริเวณโคนต้นพองขยายออก ทรงพุ่มแน่นทึบรูปปิรามิด เปลือกต้นสีเทาหรือสีนํ้าตาล เรียบถึงหยาบเล็กน้อย ตามลำต้นมีช่องอากาศ กิ่งอ่อนสีเขียว มีรากหายใจรูปคล้ายเข่า ยาว 15-20 ซม. เหนือผิวดิน


ใบ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับทิศทาง แผ่นใบรูปรี กว้าง 3-8 ซม. ยาว 7-19 ซม. ปลายใบแหลม ใบรูปลิ่ม ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ผิวใบด้านล่าง มีสีจางกว่า เกลี้ยงทั้งสองด้าน ขอบใบจะม้วนลง เส้นกลางใบมีสีเขียว เส้นใบมี 7 คู่ ไม่เด่นชัด ก้านใบยาว 1.5-4 ซม. หูใบยาว 3-5 ซม. มีสีเขียว
ดอก สีเขียวอ่อน ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ง่ามใบ ช่อละ 3 ดอก ก้านช่อดอก ยาว 0.6-0.9 ซม. ดอกยาว 1-1.4 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 0.1-0.5 ซม. วงกลีบเลี้ยงรูประฆัง โคนกลีบจะติดกันเป็นหลอด กว้าง 0.2-0.3 ซม. ยาว 0.4-0.6 ซม.


ผล ผลแบบงอกตั้งแต่ยังอยู่บนต้น ผลสีเขียว ยาว 1-1.4 ซม. กลีบเลี้ยงหุ้มผลรูปดาว กลีบโค้งกลับ ลำต้นใต้ใบเลี้ยง หรือ ฝัก รูปทรง กระบอกเรียวโค้ง ขนาดกว้าง 0.4-0.6 ซม. ยาว 7-14 ซม. ผลอ่อนสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเขียวเมื่อแก่ ออกดอกและติดผลเกือบ ตลอดทั้งปี
นิเวศวิทยา พบตามที่ดินเลนตื้นเหนียวและแข็งตามริมชายฝั่งหรือพื้นที่ที่ถูกเปิดโล่ง
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ เป็นไม้เนื้อแข็ง นำมาเผาถ่าน และทำที่อยู่อาศัย
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย