ถั่วฝักยาวพืชผักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

ถั่วฝักยาวเป็นพืชผักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่มีผู้นิยมบริโภคตลอดปี รวมทั้งยังเป็นพืชผักที่ส่งออกเป็นสินค้าไปขายต่างประเทศที่สำคัญ ในรูปแช่แข็งอีกด้วย แต่ถั่วฝักยาวนอกจากคนจะชอบกินแล้ว พวกหนอนและแมลงก็ชอบมากด้วยเช่นกัน เกษตรกรที่ปลูกถั่วฝักยาวจึงต้องประสบกับปัญหาแมลงศัตรูของถั่วฝักยาวอย่างหนัก ทำให้ต้องมีการฉีดพ่นยากันบ่อย ๆ จึงจะป้องกันกำจัดได้ แต่การฉีดพ่นยามากและบ่อยเกินไปทำให้เป็นอันตรายต่อคน, สัตว์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย  เกษตรกรก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การปลูกถั่วฝักยาวเพื่อเป็นการค้า หากเกษตรกร ศึกษาถึงการใช้ยาให้เหมาะสมและถูกต้องจะช่วยให้ตัวเกษตรกรเองลดต้นทุนการผลิตลงได้ และตัวผู้บริโภครวมทั้งสิ่งแวดล้อมก็จะปลอดภัย

ถั่วฝักยาวปลูกได้ดีตลอดปี และปลูกได้ทั่วไปในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม มีการปลูกได้น้อยลงเล็กน้อย ปลูกกันได้หลายลักษณะ ทั้งปลูกแบบยกร่องมีคูน้ำล้อมรอบหรือแบบจีน หรืออาจจะปลูกบนคันนา ในท้องนา ปลูกไว้ริมรั้วเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนเป็นต้น แต่จะปลูกกันในลักษณะใดก็แล้วแต่ ข้อสำคัญคือ จะต้องใกล้แหล่งน้ำหรือสะดวกที่จะให้น้ำเพราะน้ำมีความสำคัญต่อการติดฝักมากหรือน้อยของถั่วฝักยาว

พันธุ

ถั่วฝักยาวมีพันธุ์อยู่มากมายเป็นสิบ ๆ พันธุ์และยังมีการคิดค้นพันธุ์ ใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิมขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ เท่าที่มีในรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยและการอบรมการเกษตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ ปี 2527 ที่ทดลองปลูกเพื่อหาผลของแต่ละพันธุ์ ก็มีอยู่ตั้ง 12 พันธุ์ จากรายงานได้กล่าวถึงจำนวนผลผลิตต่อไร่ และความยาวของผักไว้ดังนี้

1.พันธุ์คู่ 75 เซนติเมตร มีฝักยาวที่สุดเฉลี่ย 51.48 เซนติเมตร ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 2.207 ตัน

2.พันธุ์ มก.7 ให้ผลผลิตมากที่สุดคือ 2.901 ตัน/ไร่ ฝักยาวประมาณ 49.45 เซนติเมตร

3.พันธุ์เมล็ดแดง (Red Seeded) เป็นพันธุ์ไทยยาวประมาณ 49.34 เซนติเมตร ให้ผลผลิต 1.946 ตัน/ไร่

4.พันธุ์ Black mosaic Cยาวประมาณ 48.5 เซนติเมตร ให้ผลผลิต 2.316 ตัน/ไร่

5.พันธุ์ Red mosaic c 75 เซนติเมตร ฝักยาวเฉลี่ย 48 เซนติเมตร ผลผลิต 2.473 ตัน/ไร่ มีอายุเก็บเกี่ยว 45-50 วัน มีปริมาณฝักเสียหายน้อยส่งขายได้มาก

6.พันธุ์ Red White C. หรือพันธุ์เมล็ดแดงต่าง ฝักยาวเฉลี่ย  47.45  เซนติเมตร ผลผลิต 2.347 ตัน/ไร่

7.พันธุ์ Mosaic seeded ฝักยาวเฉลี่ย 45.99 เซนติเมตร ผลผลิต2.480 ตัน/ไร่

8.พันธุ์ Mosaic Y ฝักยาวเฉลี่ย 45.66 เซนติเมตร ผลผลิต

2.194 ตัน/ไร่

9.พันธุ์ White seeded CH เป็นพันธุ์ของไทย อายุเก็บเกี่ยวหลังจากปลูก 45-50 วัน ฝักยาวเฉลี่ย 44.44 เซนติเมตร ผลผลิตต่อไร่ 2.327 ตัน/ไร่

10.พันธุ์ Green pod No.69  ฝักยาวเฉลี่ย 42.16 เซนติเมตร ผลผลิต 1.542 ตัน/ไร่

11.พันธุ์ Black seeded หรือพันธุ์เมล็ดดำ ชาวสวนไม่ค่อยนิยมปลูกเพราะฝักค่อนข้างเหนียว แต่พองช้า เป็นพันธุ์ใต้หวัน ฝักยาวเฉลี่ย 41 เซนติเมตร ผลผลิต 1.534 ตัน/ไร่

12.พันธุ์สูงให้ฝักสั้นที่สุดคือเฉลี่ย 40.8 เซนติเมตร ผลผลิตก็ต่ำที่สุด คือ 1.275 ตัน/ไร่

ทางด้านเกษตรกรผู้ปลูกโดยทั่วไปใช้พันธุ์กันอยู่ไม่กี่พันธุ์ ได้แก่ (เรียกชื่อตามเกษตรกร)

1.พันธุ์ยาวพิเศษ (Extra long) มีฝักสีเขียวอ่อน ฝักดกยาวมากและสม่ำเสมอ เมล็ดสีแดงค่อนข้างเล็ก

2.พันธุ์ราชบุรี ฝักยาวพอสมควร เมล็ดสีแดง ด่างใหญ่ ฝักสีเขียวอ่อน

3.พันธุ์บางบัวทอง ฝักยาวพอสมควรและตรงสีเขียวอ่อน ดอกสีเหลืองนวล เมล็ดสีแดง ให้ผลผลิตสูงตรงตามความต้องการของตลาด

4.พันธุ์สองสีของเกษตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ชื่อคุณสีรำ มองทะเล ให้ฝักดกยาวประมาณ 2 ฟุต สีเขียว ใหญ่สม่ำเสมอตลอดฝัก ปลายไม่ลีบแหลม เนื้อแน่น รสหวานกรอบ

เมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวเกษตรกรคัดเลือกไว้ใช้เองได้โดยถือจากต้นที่มีลักษณะดีแข็งแรง

การเตรียมดิน

ขุดพลิกดินลึกสัก 20 เซนติเมตรตากดินไว้ประมาณ 7-10 แดด พรวนดิน ปรับหน้าดินให้เรียบเล็กน้อย ถ้าดินเป็นกรดก็ใส่ปูนขาวปรับสภาพดินในอัตรา 150 กก./ไร่ หรือหาอัตราใส่ที่แน่นอน จากการส่งตัวอย่างดินไปให้ทางหน่วยงานราชการตรวจหาค่าพีเอชที่ถูกต้อง

เตรียมหลุมปลูก จัดระยะห่างระหว่างหลุม 30-50 เซนติเมตร ระยะห่าง ระหว่างแถว 75-100 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกเช่น ปุ๋ยขี้เป็ด ปุ๋ยขี้ค้างคาว รองก้นหลุมประมาณหลุมละ 1-2 กำมือ

วิธีปลูก

หยอดเมล็ดพันธุ์ลงในหลุม ๆ ละ5 เมล็ด ใช้ดินหรือดินผสมปุ๋ยคอก ในอัตราส่วน 1:1 โรยปิดทับเมล็ดบาง ๆ รดน้ำด้วยแครงให้ชุ่ม ประมาณ 4 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 3-4 กก./ไร่

เมื่อต้นกล้าโตจนมีใบจริง 2-3 ใบ ทำการถอนแยกให้เหลือต้นที่แข็งแรง ไว้หลุมละ 3 ต้น

พอถั่วเริ่มทอดยอดและเลื้อยใช้ไม้ไผ่ปักทำค้าง ลักษณะการปักค้าง ปักได้หลายแบบเช่น

แบบ ก.ใช้ไม้ปัก 2 หลุม ให้ไม้ไขว้กันระหว่างแถวเป็นรูปกากบาท วิธีนี้ ดูจะเก็บฝักได้สะดวกกว่าเพราะใบของถั่วจะโปร่ง

แบบ ข.ใช้ไม้ปัก 3 หลุม แล้วรวบปลายไม้ผูกรวมกัน ผูกอย่าให้สูงนัก เพราะจะทำให้เก็บฝักได้ลำบาก

ขณะที่ถั่วเลื้อยพันค้าง อาจจะมีบางยอดทอดออกไปนอกค้าง จะต้องช่วยดูแลช่วยเหลือจับมาพันค้างให้ด้วย เพราะหากต้นถั่วไม่พันกับไม้ค้างลำต้นจะไม่แข็งแรง

การให้น้ำ

ถั่วฝักยาวจะทนแล้งได้ในบางช่วง แต่จะทำให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ระยะที่ต้องการน้ำมากและจะขาดน้ำไม่ได้ คือช่วงออกดอกและช่วงพัฒนาของฝัก ดังนั้นแหล่งที่จะปลูกถั่วฝักยาวให้ได้ผลดีจึงควรมีน้ำอย่างเพียงพอ การให้น้ำของเกษตรกรโดยทั่วไป แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

1.ในระยะต้นกล้ายังเล็ก ใช้แครงตักรด

2.พอถั่วขึ้นค้างเปลี่ยนเป็นใช้เครื่องยนต์สูบน้ำฉีดพ่นทั่วทั้งต้น

การใส่ปุ๋ย

ใส่ปุ๋ยสูตรที่เหมาะสมกับถั่วฝักยาวคือ สูตร 12-24-12, 5-10-5 ถ้า ปลูกโดยใส่ปุ๋ยหมัก ก็ใช้ปุ๋ยสูตรในอัตรา 30-50 กก./ไร่ ก็พอ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้งคือ ใส่ผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่รองก้นหลุม และใส่เมื่ออายุได้ประมาณ 20-30 วัน โดยการกำจัดวัชพืชก่อน แล้วจึงพรวนดินใส่ปุ๋ยไปพร้อมกัน สำหรับกรณีที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยคอก อัตราการใส่ปุ๋ยสูตรเพิ่มขึ้นเป็น 50-100 กก./ไร่ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง เช่นกัน

โรคและแมลงศัตรู

การปลูกถั่วฝักยาวของเกษตรในปัจจุบันนี้ ต้องประสบกับปัญหาการระบาดทำลายของแมลงศัตรูมากมายหลายชนิด แมลงพวกนี้จะทยอยกันเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงและกัดกินส่วนต่าง ๆ ของถั่วฝักยาวตั้งแต่เริ่มเพาะเมล็ดจนกระทั่งเก็บเกี่ยว แมลงถั่วฝักยาวเท่าที่พบแล้วมีอยู่ถึง 15 ชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน ไรขาว ไรแดง หนอน แมลงวันเจาะต้น หนอนเจาะฝักลายจุด หนอนผีเสื้อสีน้ำเงิน  หนอนคืบกะหล่ำ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรต้องฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดการทำลายของแมลงเป็นระยะ ๆ อย่างขาดกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง มีการฉีดพ่นยากันอย่างพร่ำเพรื่อเกินความจำเป็น และเก็บขายก่อนกำหนด ที่พิษยาฆ่าแมลงจะสลายตัวไป การใช้ยาเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูของถั่วฝักยาวจึงควรศึกษาการใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม และศึกษาถึงพิษตกค้าง, ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวหลังจากการใช้ยาเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรผู้ปลูกเองและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และการส่งถั่วฝักยาวเป็นสินค้าออก จะต้องควบคุมการใช้ยาฆ่าแมลงและพิษตกค้างอย่างเข้มงวดขึ้นจึงจะตีตลาดต่างประเทศได้ วิธีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

1.หนอนเจาะต้นถั่วและหนอนเจาะฝักลายจุด ทำให้ตามเถาถั่วมีแผลบวมพองและปริแตกออกเป็นสีน้ำตาล ทำให้ใบและกิ่งแห้งตาย และไม่เจริญเติบโต ฝักถั่วมีรูเจาะ ฝักบิดเบี้ยว กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้ใช้ยาคาร์โบฟูราน (ชื่อสามัญ) หรือที่มีชื่อทางการค้าว่าฟูราดาน เม็ด 3% คูราแทร์เม็ด 3% ใส่รองก้นหลุม หรือรอบ ๆ ต้นหลังงอกเพียงครั้งเดียว จะคุมแมลงได้ 30 วัน และตลอดระยะอายุของถั่วให้ใส่ได้ครั้งเดียว ใช้ยาโมโนโครโตพฟอส (ชื่อสามัญ) หรือชื่อทางการค้าว่า นูวาครอน น้ำ 40%,พิษเด็ด น้ำ 65% .อโซดริน น้ำ 56 %,อโกรดิน น้ำ 55% ใช้ ฉีดพ่นเมื่อพบหนอนระบาดบนต้น และฉีดพ่นหลังจากที่ยาสำหรับใส่ก้นหลุมเสื่อม หรือหมดฤทธิ์แล้ว คือหลังจาก 30 วันขึ้นไป ใช้ในอัตรา 25 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในระยะทุก ๆ 7-14 วัน และเว้นระยะปลอดภัยก่อนออกจำหน่าย 14 วัน จึงจะทำให้สารพิษตกค้างมีอยู่ระดับต่ำกว่าค่า MRL (MAXIMUM Rasidue Limit) ที่ทาง FAO กำหนด

สำหรับหนอนเจาะฝัก ให้ใช้อา เมโธมิล หรือที่มีชื่อทางการว่า น็อกเด็ด ผงละลายน้ำ 90%,แลนเนท ผงละลายน้ำ 90%, แลนเนทเอลน้ำ 24%,น๊อกแอล น้ำ 24% ฉีดพ่นเมื่อพบระบาด 4-5 ตัว ก็เริ่มฉีดพ่นยาทุก 7-10 วันต่อครั้ง ระวัง อย่าให้ถูกผิวหนังและไม่ควรทำงานในแปลงหลังจากฉีดพ่นยาใหม่ ๆ ก่อนเก็บฝัก ควรงดฉีดยา 7-10 วัน

2.เพลี้ยอ่อน จะเกาะติดเป็นกลุ่มสีดำตามต้น, ใบและดอก ทำให้ชะงัก การเจริญเติบโต มีมดเป็นตัวนำพามา จึงควรหาทางกำจัดมดไม่ให้เข้าไปในแปลงปลูกถั่ว การปลูกบนร่องที่มีน้ำล้อมรอบไม่ควรให้ไม้ทอดสะพานติดกับร่องผัก หากพบระบาดก็ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเพลี้ย ไม่ควรฉีดพ่นในเวลาร้อนจัด

3.ไรขาว-ไรแดง ทำให้ใบเหลืองและต้นทรุดโทรมเร็วกว่าปกติ ดอกร่วง ให้ใช้กำมะถันผงละลายน้ำฉีดพ่นในอัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 1 ปีบ ฉีดพ่นตามยอด และใต้ใบ เมื่อพบมีอาการผิดปกติ ฉีดพ่นห่างกัน 3-5 วัน สัก 2-3 ครั้ง แล้วหยุดจนกว่าจะเริ่มเห็นอาการใหม่ ยาเคมีที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้ใช้ก็คือ ไดโคโฟล มีชื่อทางการค้าว่า เคลเทน 18.5% EC ในอัตราส่วน 50-60 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ทุก 7 วัน

เกษตรกรบางรายใช้ยาคลุกเมล็ด เฮปตาคลอ (heptachlor), ดีลดริน (dieldnn) ก่อนปลูกเพื่อป้องกันกำจัดแมลง แต่สารประเภทนี้เป็นสารที่มีพิษตกค้างในดินและในสภาพแวดล้อมได้นานมาก

ในฤดูแล้งจะพบปริมาณพิษตกค้างของยาเคมีฆ่าแมลงมากกว่าในฤดูฝน

การป้องกันกำจัดโรคที่สำคัญ

1.โรคใบด่างเหลือง (Bean yellow mosaic virus) ทำให้ฝักไม่ดก และมีขนาดเล็ก ป้องกันกำจัดโดยไม่ใช้เมล็ดจากต้นที่เป็นโรคปลูกและทำลายต้นที่เป็นโรคเสีย

2.โรคใบจุด,โ รคใบดำ ใช้ยาไจเนบ,มาเนบ ฯลฯ ฉีดพ่น

3.โรคโคนเน่าและรากเน่า โคนต้นระดับดินและรากเน่าเป็นสีน้ำตาล เถาเหี่ยว รอบโคนต้นมีเส้นใยสีขาว ป้องกันกำจัดโดยการปรับปรุงดินด้วยปูนขาว 200-400 กก./ไร่ และใช้ปุ๋ยคอก-ปุ๋ยหมักให้มากอย่างน้อย 1-2 ต้น/ไร่ ก่อนปลูก

4.โรคยอดหงิก ยอดเหลืองด่างและแตกยอดอ่อนเป็นกระจุก ทำให้การเจริญเติบโตชะงัก และไม่ให้ผลผลิต

การเก็บเกี่ยว

ถั่วฝึกยาวมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60-90 วัน เก็บโดยวิธีใช้มือเด็ดหรือใช้กรรไกรตัด เมื่อเก็บแล้วมีการคัดขนาดความยาวเป็น 2 พวก คอยาวกว่า 50 เซนติเมตร และสั้นกว่า 50 เซนติเมตรแล้วจึงมัดส่งขาย ผลผลิตต่อไร่จะได้ประมาณ 900-4,800 กก./ไร่