ถั่วพู

ถั่วพู เป็นพืชสมุนไพรที่ให้โปรตีนสูง

ถั่วพู มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า โปรสโฟคาร์พุ๊ส เตทตระโกโนโลบุ๊ส ( Prosphocarpus tetragonolobus ( L. ) DC ) อยู่ในตระกูล แพบไพไลออนนอยดี้ (papilionoidae) ถั่วพูเป็นพืชเขตร้อน เป็นไม้เลื้อยจำพวกถั่ว ใบเขียว ปลายใบแหลม มีใบย่อย ๓ ใบ ดอกสีม่วง ผลมีลักษณะเบ็นฝักสี่เหลี่ยมมีปีกออกสี่เหลี่ยม บางคนก็เรียกว่า winged bean หรือ four angled bean หรือ rea bean หรือ asparagus pea ฝักถั่วพูยาวประมาณ ๓- ๔ นิ้ว ผักถั่วพูที่ยังไม่แก่เกินไปใช้เป็นอาหารได้เป็นอย่างดี เก็บฝักได้ระยะแรกในช่วง ๑๐ สัปดาห์แรกหลังจากหว่านเมล็ด หลังจากนั้นก็เก็บได้เรื่อยๆ ใบ และยอดอ่อนของถั่วพูใช้แทนผักได้ ประกอบด้วยโปรตีนสูง ภายในฝักหนึ่งมีจำนวนเมล็ดประมาณ ๒๐ เมล็ดๆ ละ ๓ กรัม เมล็ดมีลักษณะเรียบเป็นมัน อาจมีสีขาว น้ำตาล ดำ หรืออาจเป็นจุดๆ เมล็ดที่ยังอ่อนอาจใส่ในซุป เมล็ดแก่อาจใช้ทอด หรือต้มรับประทานคล้ายถั่วลิสง เมล็ดแก่มีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับถั่วเหลือง คือมีโปรตีน ๓๔% ประกอบด้วยกรดอะมิโนไลซีน (Lysine) ประมาณ ๘% ของกรดอะมิโนทั้งหมด และมีน้ำมัน ๑๘% ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว ประมาณ ๗๐ % ซึ่งจัดเป็นน้ำมันหุงต้มชั้นดี นอกจากนี้เมล็ดถั่วพูยังประกอบด้วยสารเริ่มต้นวิตามินเอ หรือ โทโคเฟอรัล (Tocopherol) ในปริมาณที่สูง สารนี้มีรสหวานและไม่สลายง่าย ช่วยในการย่อยกรดไขมันไม่อิ่มตัว และช่วยเสริมวิตามินเอให้กับร่างกาย รากเป็นหัวสำหรับเก็บอาหารใต้ดิน มีการแตกปม (nodules) ปมถั่วพูเป็นที่อยู่ของแบคทีเรีย ช่วยตรึงไนโตรเจนในดินไว้ช่วยให้สภาพดินอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ แต่ละปมของถั่วพูมีขนาดใหญ่ แตกปมได้ทุกสภาพโดยไม่ต้องฉีดเชื้อเข้าไป พบถั่วพูแต่ละต้นมีปมถึง ๖๐๐ ปม หัวใต้ดินที่ยังไม่แก่ อายุประมาณ ๒ เดือน รับประทานคล้ายมันฝรั่ง โดยเอามาเชื่อมหรือฉาบนํ้าตาล พบว่าหัวถั่วพูประกอบด้วยโปรตีนสูงกว่า ๒๐% ใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีนได้เป็นอย่างดีแทนมันสำปะหลังที่มีโปรตีนต่ำ

ถั่วพูมีการปลูกมากในประเทศปาบัวนิวกินี และประเทศในเขตเอเซียอาคเนย์ ถั่วพูเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็ว อายุยืน และเจริญดีในประเทศแถบร้อนและฝนตกชุก ถั่วพู ไม่ค่อยมีปัญหา ปลูกง่ายในดินแทบทุกชนิดในบริเวณที่มีฝนตกชุก ถั่วพูจัดว่าเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นพืชน้ำมันเพื่อการหุงต้มชั้นดี ดังนั้นควรจะมีการส่งเสริมสนับสนุนการปลูกถั่วพู โดยพยายามศึกษาคัดเลือกพันธุ์ที่ดีได้ผลผลิตสูง

แต่การศึกษาคนคว้าวิจัยในด้านโภชนาการก็คงยังไม่หยุดยั้งอยู่แค่นี้ ยังคงจะต้องศึกษาค้นคว้าวิจัยถึงประโยชน์และโทษของสารภายในส่วนต่างๆ ของถั่วพู เช่น เมล็ดแก่ที่ยังดิบมีสารที่มีโทษหรือไม่ โปรตีนที่ได้จากลำต้น ใบ ฝัก เมล็ด ถูกย่อยได้หรือไม่ในระยะการเจริญเติบโต ระยะใดดีที่สุด เมล็ดถั่วพูสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ แต่มีคุณค่าทางอาหารสัตว์มากน้อยแค่ไหน

สรุปสรรพคุณ

ใบและยอดอ่อน ใช้แทนผักประกอบด้วยโปรตีนสูง

เมล็ดอ่อน เป็นอาหารทำซุบได้

เมล็ดแก่ เป็นอาหารใช้ทอดหรือต้มรับประทานคล้ายถั่วลิสง ซึ่งมีคุณค่าทางอาหาร ให้โปรตีนถึง ๓๔% น้ำมันและกรดอาหารและวิตามินเอ

ราก มีลักษณะเป็นหัวใต้ดิน มีโปรตีนสูงมาก รับประทานแทนมันสัมปะหลัง ให้คุณค่าทางอาหารแทนเนื้อสัตว์