ถั่วลันเตาจัดเป็นอาหารประเภทให้โปรตีนสูง

ถั่วลันเตา เป็นพืชในตระกูลถั่วที่มีชื่อสามัญเรียกกันอยู่หลายชื่อคือ Sugar pea, Shelling pea, field pea, green pea. snow pea ในภาคใต้ของ สหรัฐอเมริกา ถั่วลันเตาหมายถึง ถั่วอังกฤษ (English pea) ทางภาคเหนือของประเทศไทยเรียกว่า ถั่วน้อย

ถั่วลันเตาเป็นพืชที่ปลูกกันอย่างกว้างขวางในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน เช่น ในประเทศอินเดีย พม่า, เอธิโอเปีย, ประเทศรอบ ๆ ทะเลสาบวิคตอเรียในอาฟริกาตะวันออกมีประเทศคองโก, มอรอคโค ในอเมริกาใต้มีโคลอมเบีย, เอควาดอร์ และเปรู

ในประเทศไทยสามารถปลูกถั่วลันเตาได้ทุกภาค ภาคเหนือมีปลูกมากที่ลำปาง นครสวรรค์ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ตาก โดยเฉพาะเพชรบูรณ์นั้น ปลูกได้ตลอดปีทีเดียว ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกมากที่นครราชสีมา ภาคกลางปลูกมากที่สระบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ซึ่งปลูกพันธุ์พื้นเมืองได้ดี ภาคใต้ปลูกมากที่สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออกก็มีมากที่ปราจีนบุรี

ถั่วลันเตาจัดเป็นอาหารประเภทให้โปรตีนสูง คือมีถึง 25 % มีคาร์โบไฮเดรต 59-60 % ไขมัน 1 % แร่ธาตุ 3-3.5 % แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส และไวตามินสูง

ฤดูปลูก

เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกถั่วลันเตากันในฤดูหนาว เริ่มประมาณเดือน ตุลาคม-กุมภาพันธ์จะเก็บผลผลิตได้ในราวเดือนมกราคม-เมษายน แต่ช่วงที่ปลูกได้ผลดีคือช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

การปลูกถั่วลันเตานอกฤดูกาลสามารถทำได้โดยการปลูกในที่ราบสูง แถบภูเขาในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยใช้พันธุ์เฉพาะที่เหมาะสมที่จะปลูกนอกฤดูได้ ช่วงที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในรุ่นนี้ได้คือช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

ถึงแม้ว่าถั่วลันเตาจะปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขตร้อนและเขตร้อนชื้น แต่ถั่วลันเตาก็ยังชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็นสำหรับในบ้านเรา คือชอบอุณหภูมิประจำวันที่พอเหมาะ 17 °C ช่วงอุณหภูมิต่ำสุด-สูงสุด คือ 10 °C- 23 °C ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตรก็อาจจะปลูกถั่วลันเตาได้คือ ไปปลูกบนที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร

พันธุ์

ถั่วลันเตามีพันธุ์อยู่หลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ที่กินฝักและพันธุ์ที่กินเมล็ด สำหรับพันธุ์ที่นิยมปลูกในเมืองไทย มีดังนี้คือ

1.พันธ์ 2-2003-6 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์ไทจุงเบอร์ 9 และ พันธ์รัฐบาลแม่โจ้ 2 จากการทดลองในปี 2523-2524 พบว่าให้ผลผลิตสูงกว่า พันธุ์อื่น ๆ คือ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 800 กก./ไร่ ในขณะที่พันธุ์แม่โจ้ 2 ได้ 625 กก. /ไร่ พันธุ์แม่โจ้ 1 ได้ 475 กก./ไร่ และพันธุ์จากร้านค้าได้ 475 กก./ไร่ ลักษณะของพันธุ์นี้คือ ฝักมีขนาดยาว คุณภาพดี ตรงตามความต้องการของตลาด

2.พันธุ์ฝักใหญ่ (large podded sugar pea) ได้แก่พันธุ์ฟาง 7 เป็นพันธุ์หนักในรูปกินสด, บรรจุกระป๋อง หรือแช่แข็งเก็บไว้ก็ได้ โดยมีคุณสมบัติดังนี้ ใช้รับประทานสด ฝักหนาทนทานต่อการขนส่ง มีอายุเก็บเกี่ยวฝักนาน ฝักมีสีเขียวเข้ม เปลือกเมล็ดควรมีลักษณะย่น ซึ่งแสดงว่ามีน้ำตาลในเมล็ดสูง

พวกทำถั่วบรรจุกระป๋อง หลังจากผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ ของการทำเป็นกระป๋องแล้ว เมล็ดยังคงมีสีเขียวอยู่ ไม่เละง่าย แม้นำมาทำให้ร้อนในการใช้ประกอบอาหารก็ตาม

พวกทำเป็นอาหารแช่แข็ง เมล็ดมีขนาดใหญ่ (เกินจากมาตรฐานของโรงงาน บรรจุกระป๋อง) ฝักมีสีเขียวเข้ม ฝักจะต้องคงรูปและสีสม่ำเสมอเช่นเดิมหลังจากที่นำมาใช้ในการปรุงอาหาร

การเตรียมดิน

เตรียมดินเหมือนกับการปลูกถั่วฝักยาว เตรียมหลุมปลูกมีระยะห่างระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว 70 เซนติเมตร

วิธีปลูก

วิธีการปลูกปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกถั่วฝักยาว ในเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5-8 กิโลกรัม หยอดเมล็ดพันธุ์ หลุมละ 4-5 เมล็ด เมื่อกล้าโตขึ้นมีใบ 2 ใบ จึงถอนแยกต้นกล้าเหลือต้นที่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วยหลุมละ 2 ต้น เมื่อกล้ามีอายุประมาณ 15 วัน หรือสูงสัก 10-15 เซนติเมตร  เริ่มมีมือเกาะจึงใช้ไม้ไผ่ขนาดยาว 1.5 -2 เมตรปักทำค้างโดยการปักตรงหลุมทุกหลุมรวบปลายไม้ไขว้กัน หรือใช้วิธีใช้ไม้ค้างปักห่างกันเป็นระยะ 1.5 -2 เมตร ตามแถวปลูก แล้วใช้เชือกไนล่อนหรือเชือกฟางก็ได้ ผูกขึ้นตามแนวนอน ผูกเป็นขั้น ๆ ห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร และผูกตามแนวดิ่งอีกทีในระยะห่างพอควรเพื่อช่วยให้มือเกาะดีขึ้น

การให้น้ำ

รดน้ำตามหลุมปลูก ให้ชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอในช่วงออกดอกและติดผล เป็นช่วงสำคัญที่สุดที่จะขาดน้ำไม่ได้

การใส่ปุ๋ย

หากดินที่ปลูกใส่ปุ๋ยคอกมากเพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยสูตรรองก้นหลุมอีก แต่ถ้าดินไม่สมบูรณ์เพียงพอ จะใช้ปุ๋ยสูตร 5-1 0-5, 10-20-10 รองก้นหลุม 25-50 กก./ไร่ และเมื่ออายุ 30 วัน ให้เก็บวัชพืช พรวนดินโคนต้น โรยปุ๋ยแล้วกลบดิน ในอัตรา 25-50 กก./ไร่

การเก็บเกี่ยว

เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุได้ประมาณ 60 วัน และจะเก็บได้เป็นระยะเวลา ประมาณ 30-60 วัน เก็บโดยใช้มือเด็ดฝัก ได้ผลผลิตประมาณ 1,000 กก./ไร่ เลือกเก็บฝักที่ยาวได้ขนาด เมล็ดเริ่มเกิดและยังผอมลีบ ฝักอ่อนนุ่มกรอบไม่พอง