ถั่วเหลือง:การผลิตถั่วเหลืองฤดูแล้งที่ จ.พิษณุโลก

สมชาย  บุญประดับ

สถานีทดลองพืชไร่พิษณุโลก

สถาบันวิจัยพืชไร่

กรมวิชาการเกษตร

จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งในเขตภาคเหนือตอนล่าง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้ง ปีพ.ศ.๒๕๓๐/๒๕๓๑ ทั้งหมด ๓๘,๓๙๔ ไร่ แหล่งปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งแหล่งใหญ่พบอยู่ใน ๒ อำเภอ คือ พรหมพิราม และ อ.เมือง ประมาณร้อยละ ๔๗ และ ๒๘ ของพื้นที่ปลูกทั้งหมดตามลำดับ เนื่องจากแหล่งปลูกทั้ง ๒ แห่งเป็นเขตที่มีแหล่งน้ำจากชลประทานและบ่อน้ำบาดาล จึงสามารถเพาะปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งได้ดีกว่าแหล่งปลูกอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตเกษตรอาศัยน้ำฝน

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้งที่ ต.บึงพระ อ.เมือง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดและได้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้ง สามารถผลิตถั่วเหลืองได้ผลผลิตประมาณ ๓-๔ กระสอบต่อไร่ หรือประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ กก./ไร่ ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงของกล่าวถึงวิธีการปลูก การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองฤดูแล้งที่แหล่งปลูกดังกล่าว ดังรายละเอียดต่อไปนี้

การเลือกที่ปลูกและฤดูปลูก

การปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งที่ ต.บึงพระ อ.เมือง กสิกรส่วนใหญ่จะปลูกถั่วเหลืองในเดือนธันวาคม-มกราคม โดยอาศัยแหล่งน้ำจากบ่อบาดาล กสิกรมักเลือกที่เพาะปลูกที่มีสภาพดินเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนปนดินเหนียว ความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง ระบายน้ำดี

การเตรียมดิน

ถั่วเหลืองสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพที่ดินร่วนซุยและเก็บความชื้นได้ดี ดังนั้นกสิกรจึงทำการเตรียมดินโดยการไถดะ ๑ ครั้ง แล้วตากดินไว้ให้แห้งเพื่อทำลายวัชพืชและโรคแมลงต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในดิน หลังจากนั้นก็จะไขน้ำเข้าท่วมแปลงโดยสูบน้ำจากบ่อบาดาล

เมื่อดินแห้งพอดีสำหรับการไถพรวน กสิกรจะไถแปร ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนซุยและยกร่องแปลงคล้ายกับร่องน้ำกว้าง ๐.๕๐ เมตร

จากการสอบถามกสิกรเกี่ยวกับการยกย่องแปลงขนาด ๒.๔๐ เมตร กสิกรให้เหตุผลว่า การยกร่องแปลงขนาดดังกล่าวเหมาะสำหรับการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง คือ ละอองยาสามารถครอบคลุมพื้นที่ร่องแปลงปลูกได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องไปเดินพ่นบนแปลง นอกจากนี้การยกร่องแปลงปลูกยังให้ประโยชน์ในแง่ของการให้น้ำและการระบายน้ำออกได้อย่างรวดเร็ว ถ้าหากน้ำขังในแปลงนานเกินไปจะทำให้ต้นถั่วเหลืองแคระแกร็นและต้นเหลือง

พันธุ์และวิธีปลูก

กสิกรส่วนใหญ่ใช้พันธุ์แนะนำของทางราชการคือ สจ.๔ และ สจ.๕ ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการแลกเปลี่ยนพันธุ์ดีและโครงการอื่น ๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร

กสิกรปลูกโดยวิธีการหว่านเมล็ดในอัตรา ๑๖-๒๐ กก./ไร่ แล้วไถกลบเพื่อให้เมล็ดได้สัมผัสกับดินและความชื้นที่เพียงพอสำหรับการงอก

จากการสอบถามกสิกรในบางท้องที่ เช่น ที่ อ.พรหมพิราม กสิกรปลูกถั่วเหลืองโดยวิธีการหว่านเมล็ดเช่นกัน แต่ปฏิบัติต่างจากวิธีการปลูกที่ อ.เมือง โดยกสิกรไขน้ำเข้าแปลงก่อนและหว่านเมล็ดลงในแปลงทันทีโดยไม่มีการไถกลบ ทำให้เมล็ดถั่วเหลืองเน่าตาย จำนวนต้นที่งอกขึ้นมาน้อยมาก ซึ่งอาจเนื่องมาจากกสิกรยังขาดความรู้และประสบการณ์ในการปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้ง จึงประสบปัญหาดังกล่าวขึ้นมา

ในปัจจุบันบางท้องที่ เช่น ต.บึงพระ อ.เมือง สำนักงานเกษตรจังหวัดได้นำเครื่องหยอดเมล็ดมาให้กสิกรทดลองปลูกถั่วเหลืองซึ่งเหมาะสำหรับกสิกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกมาก เครื่องหยอดเมล็ดมีทั้งขนาดใหญ่ติดท้ายรถแทรกเตอร์และขนาดเล็กติดท้ายรถไถเดินตาม ซึ่งกสิกรให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเพราะว่าทำงานได้อย่างรวดเร็ว

การใส่ปุ๋ยและปฏิบัติดูแลรักษา

กสิกรบางรายมีการใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีสูตร ๑๕-๑๕-๑๕ อัตรา ๒๐ กก./ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน

กสิกรบางรายไม่มีการใส่ปุ๋ยเลยเนื่องจากสภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง นอกจากนี้ยังมีการคลุกเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก เพื่อให้ถั่วเหลืองมีการสร้างปมที่รากสำหรับการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ทำให้ต้นถั่วได้รับธาตุไนโตรเจนสำหรับการเจริญเติบโตต่อไป

ส่วนการปฏิบัติดูแลรักษา โดยทั่วไปกสิกรไม่มีการกำจัดวัชพืช นอกจากการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช ได้แก่ หนอนแมลงวันเจาะต้น หนอนม้วนใบ หนอนเจาะฝัก มวนเขียว เป็นต้น

การให้น้ำ

การปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งถือว่าน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ในบางท้องที่จึงไม่สามารถปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งได้ เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูก

ในขณะเดียวกันในบางท้องที่ที่มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่การปลูกถั่วเหลืองฤดูแล้วไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากกสิกรไม่รู้จักนิสัยของถั่วเหลืองดี

ตามปกติหากถั่วเหลืองมีการขาดน้ำช่วงออกดอกก็จะทำให้ดอกร่วงมาก หรือขาดน้ำช่วงติดฝักก็จะทำให้เมล็ดลีบหรือเมล็ดเป็นสีเขียวไม่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งนี้เป็นผลมาจากกสิกรมีการให้น้ำไม่ถูกวิธีและไม่ตรงตามความต้องการของถั่วเหลือง เช่น ในบางท้องที่ที่มีการให้น้ำแบบใช้สายยางรดน้ำฉีดพ่นไปที่ต้นถั่วเหลือง ทำให้ต้นถั่วเหลืองได้รับน้ำเฉพาะใบหรือบริเวณผิวดินเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

การให้น้ำโดยปล่อยน้ำเข้าไปในร่องน้ำเป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชไร่ในฤดูแล้ง โดยน้ำสามารถซึมผ่านชั้นดินลงไปถึงระดับรากพืชและรากพืชสามาถดูดซึมธาตุอาหารต่าง ๆ ขึ้นมาใช้ได้

นอกจากนี้ช่วงเวลาการให้น้ำก็มีความสำคัญมากดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ซึ่งแบ่งออกเป้น การให้น้ำสำหรับการเตรียมดิน และการให้น้ำแก่พืช

การให้น้ำสำหรับการเตรียมดิน คือ การให้น้ำในระยะหลังไถดะ โดยปล่อยให้น้ำท่วมแปลงแล้วระบายออก ทิ้งแปลงไว้จนกระทั่งดินแห้งพอเหมาะ จึงทำการไถแปรเพื่อให้ดินร่วนซุยและสามารถกักเก็บความชื้นไว้ได้นาน

สำหรับการให้น้ำแก่พืช จะแบ่งออกเป็ฯ ๔ ครั้ง คือ

การให้น้ำครั้งที่ ๑ เมื่อถั่วเหลืองอายุ ๒๐-๒๕ วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดินและความชื้นในอากาศ

กสิกรให้เหตุผลเกี่ยวกับการให้น้ำครั้งที่ ๑ ล่าไปจนกระทั่งถั่วเหลืองเริ่มเหี่ยวหรืออายุประมาณ ๒๐-๒๕ วัน ว่า วัชพืชเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก สำหรับการปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้ง เมื่อมีการให้น้ำเร็วเกินไปขณะที่ถั่วเหลืองยังต้นเล็กอยู่ จะทำให้วัชพืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้นถั่วเหลืองในช่วงอายุดังกล่าวไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่แปลงได้ การให้น้ำในขณะที่ถั่วเหลืองอายุ ๒๐-๒๕ วันนั้น ต้นถั่วเหลืองสามารถคลุมพื้นที่แปลงได้แล้ว ทำให้วัชพืชมีการเจริญเติบโตและแข่งขันสู้ต้นถั่วเหลืองไม่ได้

การให้น้ำครั้งที่ ๒  เมื่อถั่วเหลืองอยู่ในระยะออกดอก

การให้น้ำครั้งที่ ๓-๔ เมื่อถั่วเหลืองอยู่ในระยะติดฝักและหยุดการให้น้ำเมื่อฝักถั่วเหลืองเริ่มแก่ โดยสังเกตจากฝักถั่วเหลืองเมื่อสีเขียวเป็นสีเหลือง

การเก็บเกี่ยวและการนวด

ถั่วเหลืองแก่เก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน หรืออายุประมาณ ๙๐-๑๐๐ วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ของถั่วเหลือง

กสิกรจะเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองโดยใช้เคียวเกี่ยวต้นและวางตั้งเป็นกอง ๆ ในแปลงเพื่อตากแดดให้ฝักถั่วแห้งสนิท จากนั้นจะขนย้ายเข้ายุ้งฉางเพื่อรอการนวดต่อไป

สำหรับการนวดถั่วเหลืองของกสิกรมีทั้งการนวดโดยใช้เครื่องนวดและรถย่ำ เมื่อนวดถั่วเหลืองแล้วกสิกรจะทำการฝัดและคัดเอาเศษดิน หินและวัสดุอื่น ๆ ออกไป นำเมล็ดที่ได้บรรจุกระสอบเพื่อจำหน่ายต่อไป

สรุป

การปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้วที่ ต.บึงพระ จ.พิษณุโลก เป็นระบบการปลูกพืชไร่ในฤดูแล้ง เพื่อทดแทนการทำนาปรังที่น่าสนใจระบบหนึ่ง โดยมีการปฏิบัติดูแลรักษาน้อยให้ผลผลิตสูง ดังนั้นหากกสิกรในบางท้องที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งหรือเป็นพื้นที่ที่ทำนาปรังอยู่เดิม โดยเฉพาะในเขตชลประทาน กสิกรน่าจะหันมาให้ความสนใจการปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้ง นอกจากจะทำรายได้ให้แก่ครอบครัวดีกว่าการทำนาแล้วยังสามารถช่วยปรับปรุงสภาพของดินให้ดียิ่งขึ้นและประหยัดน้ำ เนื่องจากการปลูกถั่วเหลืองมีความต้องการใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาประมาณ ๓ เท่า โดยกสิกรในท้องที่อื่นสามารถนำเอาวิธีการปลูกถั่วเหลืองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ไปปรับใช้กับท้องที่ของตน เพื่อช่วยเพิ่มการผลิตถั่วเหลืองให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศต่อไป