ถั่วเหลือง:ปัญหาเมล็ดสีเขียวในเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

กัลยา  รัตนถาวร

ธวัชชัย  ทีฆชุณหเถียร

โดยทั่วไปแล้วเปลือกหุ้มเมล็ดถั่วเหลืองจะมีสีเหลือง แต่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๗ พบว่าเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองที่เก็บเกี่ยวในภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่างมีลักษณะสีของเปลือกหุ้มเมล็ดผิดปกติคือบางเมล็ดมีสีเขียว และความเขียวของเมล็ดแต่ละเมล็ดมีมากน้อยแตกต่างกัน กล่าวคือ มีสีเขียวจัด สีเขียวอมเหลือง เมล็ดสีเขียวในถั่วเหลืองนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองมาก และในปีหนึ่ง ๆ ต้องคัดเมล็ดทิ้งถึงประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์

การเกิดเมล็ดสีเขียวในเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งในขณะนี้ ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ได้ดำเนินการวิจัยหาสาเหตุการเกิดเมล็ดสีเขียวในเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง เพื่อที่จะหาแนวทางแก้ไขต่อไป

สาเหตุที่น่าจะเป็นไปได้ของการเกิดเมล็ดสีเขียว

สภาพอุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์สูง และน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นก่อนการเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกถั่วเหลืองในเขตร้อน

จากวารสารเมล็ดพันธุ์ของกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้ดำเนินงานวิจัย ได้จำแนกสาเหตุของการเกิดเมล็ดสีเขียวในเมล็ดถั่วเหลือง ตามที่คาดว่าน่าจะเป็นไปได้ไว้ดังต่อไปนี้

๑.  เกิดจากการไม่ติดฝักตามกำหนดอายุของต้นถั่วเหลือง ซึ่งจะสังเกตได้จากมีการทยอยออกดอก อาจเป็นเพราะเป็นพันธุ์ไวต่อช่วงแสงก็ได้

๒.  เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม สำหรับการเจริญเติบโตของถั่วเหลือง คือ มีน้ำมาก หรือน้อยเกินไปในระยะออกดอก

๓.  เกิดจากแมลงบางชนิด เช่น มวนเขียวหรือมวนต่างๆ ที่เจาะฝัก

๔.  เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ

อัตราการเพิ่ม และชนิดของเมล็ดสีเขียว

จากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์หลักถั่วเหลืองของศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่จะพบอัตราการเกิดเมล็ดสีเขียวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๒๘-๒๕๓๐ ดังแสดงในตารางที่ ๑

ตารางที่ ๑ อัตราการเกิดของเมล็ดสีเขียวในเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์หลักถั่วเหลืองของศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่

พันธุ์ ปี พ.ศ. เมล็ดสีเขียว
สจ. ๕ ๒๕๒๘ ๓.๕
สจ. ๔ ๒๕๒๘ ๔.๒๕
สจ. ๕ ๒๕๒๙ ๑.๔๑
สจ. ๔ ๒๕๒๙ ๑๐.๖
สจ. ๕ ๒๕๓๐ ๑๐.๙๕
สจ. ๔ ๒๕๓๐
เชียงใหม่ ๖๐ ๒๕๓๐ ๒๑.๒

 

เมล็ดสีเขียวดังกล่าวเมื่อนำมาทดสอบความงอกโดยแยกเป็นเมล็ดสีเขียวจัด และเขียวเรื่อๆ พบว่าเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดสีเขียวจัดอยู่ระหว่าง ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนเมล็ดสีเขียวเรื่อๆ เปอร์เซ็นต์ความงอก ๔๐-๔๕ เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเมล็ดสีเขียวในเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองนั้นมีความงอกต่ำกว่ามาตรฐานเมล็ดพันธุ์อยู่มาก

อย่างไรก็ตามเมล็ดสีเขียว ดังกล่าวยังคงมีความงอกอยู่แสดงว่าเมล็ดสีเขียวต่าง ๆเหล่านี้ อาจจะมีเมล็ดสีเขียวในระดับใดระดับหนึ่ง ยังคงรักษาความงอกและความแข็งแรงอยู่ได้ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่จึงพิจารณาดำเนินงานร่วมกับศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ ๗ และได้จำแนกความแตกต่างของสีเมล็ดตามความเขียวได้อย่างเด่นชัดด้วยสายตาเป็น ๔ ประเภท คือ

๑.  เมล็ดสีเหลือง

๒.  เมล็ดสีเหลืองอมเขียว

๓.  เมล็ดเขียว

๔.  เมล็ดเขียวจัด

เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดสีเขียว

จากการศึกษาคุณภาพของเมล็ดทั้ง ๔ ประเภท โดยเก็บรักษาไว้ในสภาพห้องเก็บธรรมดาและห้องเก็บปรับอากาศ อุณหภูมิ ๑๕ องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ ๕๕-๖๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วนำมาทดสอบความงอกและความแข็งแรงทุกๆ ๒ สัปดาห์ เป็นเวลา ๒๐ สัปดาห์ พบว่า ความเขียวของเมล็ดมีความสัมพันธ์กับระดับการเสื่อมคุณภาพคือ เมล็ดเหลืองมีคุณภาพสูงสุด เมล็ดเหลืองอมเขียวมีคุณภาพปานกลาง เมล็ดเขียวมีคุณภาพต่ำ และเมล็ดเขียวจัดไม่มีชีวิตอยู่เลย โดยเปอร์เซ็นต์ความงอกจะเป็น ๙๘, ๘๐, ๕๙ และ ๐ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

เปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดรวม (ไม่ได้คัดเมล็ดเขียวออก) เมล็ดเหลืองอมเขียวจะลดลงต่ำกว่ามาตรฐานเมล็ดพันธุ์หลัก และพันธุ์จำหน่ายของกรมส่งเสริมการเกษตร (๗๐℅) หลังจากเก็บรักษาในห้องเก็บไม่ปรับอากาศนานประมาณ ๘ สัปดาห์ แต่การเก็บรักษาในโรงเก็บปรับอากาศนาน ๒๐ สัปดาห์ พบว่าเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดทั้งเหลืองและเหลืองอมเขียว ลดลงเพียง ๔-๑๑℅ตามลำดับ เท่านั้น เมล็ดสีเหลืองยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานพันธุ์หลัก แต่เมล็ดเหลืองอมเขียว มีเปอร์เซ็นต์ความงอก ๗๑℅ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานพันธุ์หลัก แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานพันธุ์จำหน่ายของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งสามารถใช้เป็นเมล็ดพันธุ์จำหน่ายได้

ความแข็งแรง

จากการทดสอบความแข็งแรงพบว่า เมล็ดเหลืองเป็นเมล็ดที่มีคุณภาพดีที่สุด ความแข็งแรงจะลดลงหลังจากเก็บรักษาได้ ๔-๖ สัปดาห์ ในสภาพห้องไม่ปรับอากาศ ส่วนการเก็บรักษา ในสภาพห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน ๒๐ สัปดาห์ ทำให้คุณภาพลดลงเล็กน้อย โดยเปอร์เซ็นต์ความงอกเฉลี่ยลดลงเพียง ๑๑℅ เมื่อทดสอบโดยวิธีจำแนกลักษณะของกล้า ความแข็งแรงจะดีอยู่ได้ ๖-๘ สัปดาห์ หลังจากนั้นจะลดลง แต่ผลการเร่งอายุเมล็ดพบว่าเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ ความแข็งแรงยังสูงอยู่ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา

จากการตรวจสอบความแข็งแรงนี้ โดยวิธีจำแนกลักษณะของกล้า ชี้ให้เห็นว่าความแข็งแรงของเมล็ดถั่วเหลืองอมเขียวจะลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากการเก็บรักษาไปแล้ว ๔ สัปดาห์ แม้จะเก็บในโรงเก็บปรับอากาศก็ตาม แต่การทดสอบโดยวิธีเร่งอายุนั้น การเก็บรักษาในสภาพปรับอากาศจะทำให้ความแข็งแรงลดลงเพียงเล็กน้อยตลอดระยะเวลาการเก็บรักษาสำหรับเมล็ดเขียวมีความแข็งแรงต่ำมากและความแข็งแรงจะลดลงอย่างรวดเร็วในระหว่างการเก็บรักษา

จากการใช้สารละลายเตตราโซเลียม ย้อมสีเมล็ดดูส่วนของต้นอ่อนและลักษณะที่เสื่อมคุณภาพ พบว่าเมล็ดเขียวเกือบทั้งหมดใบเลี้ยง ลำต้นอ่อนปลายรากอ่อน ติดสีแดงจัด และใจกลางใบเลี้ยงเป็นเนื้อเยื่อช้ำ ๆ(ตาย) ซึ่งจากการทดสอบความงอกให้ผลสอดคล้องกัน คือพบว่าต้นอ่อนจำนวนมากที่มีลักษณะใบเลี้ยงช้ำ เป็นแผลกลวงที่ส่วนกลางของใบเลี้ยงและระบบรากอ่อนแอ

ผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องคัดเมล็ดสีเขียวทิ้ง

ดังนั้น ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ต้องทำการคัดเลือกเมล็ดสีเขียวทิ้ง เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ซึ่งวิธีการคัดเมล็ดสีเขียวทิ้งนั้นจะเป็นการใช้แรงคนหรืออาจจะคัดได้รวดเร็วขึ้นด้วยใช้เครื่องแยกสี แต่ทั้งนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ควรศึกษาหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขก็จะทำให้ปัญหาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองหมดไป