ถ้วยทอง:เรื่องของต้นไม้โตเร็ว

สุขุม  ถิระวัฒน์

ผมเป็นสมาชิกเคหการเกษตร ได้อ่านเรื่องต้นไม้โตเร็ว “ถ้วยทอง” โดยม.ล.จารุพันธ์  ทองแถม (เคหการเกษตร ก.ค.2537) นั้นแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่ส่วนรวม  จึงขอส่งข้อมูลเพิ่มเติมมา  เพื่อพิจารณานำลงพิมพ์ให้แพร่หลายต่อสาธารณชนต่อไปตามที่จะเห็นสมควร

ต้นไม้โตเร็ว “ถ้วยทอง” คือ EUCALYPTUS MACULATA และไม่ใช่ LATIFOLIA ซึ่งไม่มีในทำเนียบไม้ยูคาลิป  พร้อมกันนี้ได้แนบหลักฐานรูปลักษณะของไม้ยูคาลิป แมคคูลาต้ามาให้ประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว  สำหรับรูปลักษณะของผล  ได้เพิ่มเติมภาพจาก EUCALYPTUS FOR PLANTING ของ FAO มาด้วย  ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าตรงกับภาพประกอบของไม้ถ้วยทองในบทความของ ม.ล.จารุพันธ์ ทองแถม เป็นอย่างยิ่ง

เพื่อความเข้าใจอันดีในรากฐานความเป็นมาของเรื่องไม้ยูคาลิปในเมืองไทย  ผมขอลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องมาด้วยดังต่อไปนี้

ผมเป็นนักเรียนทุนกรมป่าไม้รุ่นรองสุดท้ายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช และได้กลับมารับราชการในต้น พ.ศ.2475  ก่อนมีการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยเล็กน้อย เมื่อพ.ศ.2495 ในขณะที่ผมดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบำรุง กรมป่าไม้  องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติได้จัดให้มีการสัมมนาเรื่องพรรณไม้ยูคาลิปของโลกขึ้นเป็นครั้งแรก โดยออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ เหตุผลที่ได้จัดขึ้นก็เพราะแม้ขณะนั้นเกือบทุกประเทศในโลกได้นำไม้ยูคาลิปเข้าไปปลูกใช้ประโยชน์กันแล้วอย่างกว้างขวาง แต่ FAO เห็นว่ามีนักวิชาการป่าไม้น้อยคนที่มีประสบการณ์ได้ไปศึกษาพรรณไม้ยูคาลิปในถิ่นกำเนิดเดิมในประเทศออสเตรเลีย  ในการสัมมนาครั้งนั้น  เจ้าภาพได้นำไปศึกษาถิ่นกำเนิดของยูคาลิปอย่างทั่วถึงในทุกมณฑลของออสเตรเลีย  รวมเป็นเวลาถึง 60 วัน

ออกเตรเลียนั้นเป็นทวีปซึ่งมีความชุ่มชื้นต่ำที่สุด  ต่ำกว่าแม้ทวีปอาร์กติค และแอนตาร์กติคเสียอีก แต่ธรรมชาติก็ได้บันดาลให้เกิดมีพรรณไม้ยูคาลิปตัสมากถึง 600-700 ชนิดขึ้นปกคลุมทั่วทั้งทวีปส่วนที่แห้งแล้งจัด เมื่อมีป่าไม้ขึ้นปกคลุมก็เกิดผลเป็นมาตรการอนุรักษ์น้ำและดิน  ทำให้ออสเตรเลียสามารถขุดบ่อบาตาลใช้น้ำเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ผลิตแกะและขนแกะ เป็นสินค้าส่งออกยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกได้

ยูคาลิปเป็นไม้เนื้อแข็งไม่ผลัดใบ(EVERGREEN) ซึ่งธรรมชาติสร้างให้เติบโตได้โดยต้องการความชุ่มชื้นน้อยมากอย่างน่าอัศจรรย์ ตัวอย่างเช่น ยูคาลิป REGNANS (ชื่อพื้นเมือง MOUNTAIN ASH) สูงได้ถึงเกือบ 100 เมตร เป็นไม้เนื้อแข็งซึ่งสูงที่สุดในโลก  โดยต้องการความชื้นเพียงราว 750-1,650 มม. ต่อปีเท่านั้น

และสำหรับไม้โตเร็วถ้วยทอง MACULATA ก็ต้องการความชุ่มชื้นในถิ่นกำเนิดเพียง 625-1,250 มม.ต่อปีเท่านั้น เช่นเดียวกัน

เมื่อ พ.ศ.2495  เมื่อกลับจากการร่วมสัมมนาว่าด้วยยูค่าลิปของโลกครั้งแรกแล้ว และได้นำยูคาลิปเข้ามาเผยแพร่  พร้อมกับสร้างสายพันธุ์ไม้ยูคาลิปขึ้นที่เนินเขาตรงข้ามกับพระธาตุสุเทพ  ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ แต่หลังจากนั้นผมได้รับการแต่งตั้งจากตำแหน่งหัวหน้ากองบำรุง  ไปทำหน้าที่ข้าหลวงตรวจการป่าไม้ภาคกลาง  จึงไม่ได้มีส่วนในการนำเผยแพร่ยูคาลิปในเมืองไทยต่อจากนั้นอีก

ต่อมาในระยะหลังนี้  เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าทรัพยากรป่าไม้อันมหาศาล ซึ่งธรรมชาติได้สร้างไว้ให้เมืองไทยอย่างสมบูรณ์ยิ่งกว่าประเทศอื่นใดได้ถูกทำลายลงเกือบสิ้นเชิง  ผมจึงได้เริ่มสนใจเรื่องไม้ยูคาลิปอีกครั้งหนึ่งภายหลังที่ได้ออกรับบำนาญตั้งแต่ พ.ศ.2502 นั้นแล้ว  ปรากฎว่าไม้ยูคาลิปที่ปลูกขึ้นได้ดีในทุกท้องที่ ไม่ว่าจะเป็นดินดีดินเลวอย่างไร  แม้แต่ในดินลูกรังก็ขึ้นได้  และจะแห้งแล้งเพียงใดก็สามารถขึ้นได้ดีเช่นเดียวกัน เป็นยูคาลิปชื่อ คามาลดูเลนซิส (CAMALDULENSIS) เพียงชนิดเดียว ทั้ง ๆ ที่เมล็ดไม้ยูคาลิปที่ผมได้นำเข้ามาเผยแพร่ปลูกทดลองมีถึง 25 ชนิด และได้สร้างสวนพันธุ์ขึ้นไว้ที่ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ตรงกันข้ามกับพระธาตุดอยสุเทพ ก็เป็นจำนวนมากชนิด

เมื่อปี พ.ศ.2535 ผมได้ไปเยี่ยมชมสวนป่าไม้ยูคาลิปคามาลดูเลนซิส ของคุณสุทธินันท์  ปรัชญพฤกษ์  ซึ่งได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติของ FAO ในฐานะผู้สร้างสวนป่ายูคาลิปได้เป็นเยี่ยม ที่ตำบลสนามชัย อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ก็ได้รับความประทับใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นยูคาลิปอายุได้เพียง 7 ปี สามารถแปรรูปออกมาใช้สอยได้ดี ตีปีกออกมาเป็นไม้หน้า 8 ยูคาลิปนั้นมีคุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ส่วนใหญ่จะสามารถแตกต้นจากตอเดิม (COPPICE) ได้ดีมาก  เมื่อปลูกได้เพียง 3 ปี ก็ตัดสางขยายระยะ (THINNING) เอาต้นที่เล็กกว่าออกไปใช้ประโยชน์เป็นเยื่อกระดาษ (WOOD PULP) ได้ดี  โดยมีบริษัทมารับซื้อถึงที่ และตัดฟันชักลากเอาไปเอง  ในราคาขณะนั้นเกือบตัน น้ำหนักละ 1,000 บาท คุณสุทธินันท์มีความคิดริเริ่มที่ดี  ตัดเอากิ่งไม้เล็กซึ่งเหลือจากขายเป็นเยื่อกระดาษแล้วออกมาเผาถ่าน ปรากฎว่ากิ่งก้านเล็ก ๆ ก็ยังคงรูปเป็นลำถ่านได้ดี ทำนองเดียวกับถ่านไม้โกงกางในป่าเลน  เพราะยูคาลิปเป็นไม้เนื้อแข็งขนาดไม้เต็งรัง  คือมีน้ำหนักประมาณ 1,000 ก.ก.ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร

ในสวนป่าของคุณสุทธินันท์ ปรากฎว่าแม้ในที่น้ำขัง ยูคาลิปก็ขึ้นได้ในสวนก็มีลูกไม้ขนาดต่าง ๆ ขึ้นปะปนกันไปกับไม้ต้นโต หมายความถึงว่ามีระบบการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ (NATURAL REGENERATION) ที่ดีในตัว  มีวัชพืชและไม้อื่น ๆ ขึ้นเป็นไม้ชั้นล่าง (UNDER GROWTH) ปกคลุมพื้นดิน และสามารถปลูกพืชแซมเป็นพืชเงินในระหว่างต้นยูคาลิปขึ้นได้ดี เช่น วางระยะปลูกยูคาลิป ห่างจากแถว 3 เมตร และระยะห่างระหว่างต้น 2 เมตร ก็ปลูกมันสำปะหลังขึ้นได้งอกงามในปีที่หนึ่ง  ในสวนป่าอายุ 2 ปีและกว่านั้นก็ปล่อยวัวเข้าไปอาศัยร่มเงา และถ่ายมูลเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ดีเป็นที่น่าสังเกต

สำหรับผมซึ่งเป็นนักวิชาการป่าไม้  เมื่อป่าไม้หมดสิ้นก็เห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งรีบสร้างป่าขึ้นใหม่ทดแทนให้เพียงพอโดยรีบด่วนที่สุด เพื่อผลประโยชน์ทางตรงที่จะได้ใช้ผลิตผลมาใช้สอย และทั้งทางอ้อมคือในแง่ของปัจจัยแวดล้อม อนุรักษ์น้ำและดิน เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แผ่นดินยิ่งขึ้นโดยลำดับจนถึงจุดอิ่มตัว(CLIMAX) เช่น ในป่าธรรมชาติแต่เดิมให้จงได้  ตามหลักการป่าไม้นั้น การสร้างสวนป่าเป็นการลงทุนระยะยาว  ซึ่งจะต้องได้ศึกษาค้นคว้าทางวนวัฒนวิทยา (SILVICULTURE) ทั้งวิธีการเพาะปลูก อัตราการเติบโต ฯลฯ ให้เป็นที่แน่ใจได้เสียก่อน

และสำหรับไม้ป่าเมืองร้อน (TROPICAL) นั้นก็มีไม้สักเพียงชนิดเดียวที่เราได้ศึกษาไว้กระจ่างแจ้งในทุกทุกมุมว่าการสร้างสวนป่าขึ้นนั้นจะคุ้มค่าการลงทุน  ทั้งนี้เพราะไม้สักขึ้น ในป่าผลัดใบ (DECIDUOUS) ซึ่งต้นไม้หยุดการเติบโต  ทิ้งใบไม่ผลิตอาหารเลี้ยงต้นในฤดูแล้ง ซึ่งร้อนจัด ดังนั้นเมื่อต้นไม้นั้นลงเป็นไม้ซุง  ที่หน้าตัดก็จะมีวงรอบปี (ANNUAL RING) เป็นชั้น ๆ เห็นได้ชัด  จึงสามารถคำนวณได้แน่นอนว่าไม้ขนาดนั้น ๆ ใช้เวลากี่ปีในการเติบโต เพื่อคำนวณราคาของไม้ที่งอกเพิ่มขึ้นเป็นรายได้การลงทุนได้ถูกต้อง

ประเด็นแรกที่มุ่งกลับไปศึกษาค้นคว้าของผมก็คือ เรื่องการสร้างสวนป่าไม้ยูคาลิปตัสเพื่อใช้ไม้แปรรูป (SAWN TIMBER) ทางพิจารณามีว่า คามาลดูเลนซิสนั้นไม่ใช่ไม้โตเร็วที่สุด และไม่ใช่ไม้ที่เหมาะสมในการแปรรูป เป็นไม้ใช้สอยยิ่งกว่าไม้ยูคาลิปหลายชนิดอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ไม้ยูคาลิปชนิดซึ่งโตเร็วกว่า CAMALDULENSIS และ ซึ่งอาจใช้เป็นไม้แปรรูปได้ดียิ่งกว่าด้วย มีถึง 7 ชนิดด้วยกัน กล่าวคือ CITRIODORA, CLOEZIANA, DIVERSICOLOR, GRANDIS, MACULATA (ไม้โตเร็วถ้วยทอง),MICROCORYS และ MUELLERANA

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วาระแรกที่ได้ตัดสินใจว่าจะกลับไปทำหน้าที่นักวิชาการป่าไม้อีกครั้งหนึ่ง  เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  ผมก็ได้มุ่งไปที่ “เพื่อนเก่า” ของผมคือ EUCALYPTUS GRANDIS เช่นที่ได้หวังไว้เมื่อส่งเสริมการนำยูคาลิปมาปลูกทดลองเมื่อ 40 ปีเศษก่อนหน้านี้  ทั้งนี้เพราะชื่อเฉพาะของยูคาลิปชนิดนั้นคือ GRANDIS เช่นเดียวกับไม้สัก  ซึ่งเป็นไม้ดีที่สุดของเราและโลกด้วย คือชื่อ GRANDIS ด้วยเช่นกัน (ไม้สักมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า TECTONA GRANDIS) แต่ประเด็นสำคัญที่คำนึงถึงก็คือยูคาลิป GRANDIS มีน้ำหนักเท่ากับไม้สักพอดี คือหนักเฉลี่ยราว 600 กก./ม³ เปรียบเทียบกับไม้ CAMALDULENSIS ซึ่งหนักกว่ามากเท่า ๆ กับไม้เต็งรังของเราคือเฉลี่ยราว 1,000 กก./ม³ ยิ่งกว่านั้นเนื้อไม้ของ GRANDIS ยังมีสีชมพู เปรียบเทียบกับเนื้อไม้ของ CAMALDULENSIS ซึ่งเป็นสีแดง

ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่ไม้ GRANDIS มีเส้นใยที่ยาวกว่า จึงมีความเหมาะสมแก่การที่จะใช้เป็นเยื่อกระดาษได้ดีกว่าทางคุณภาพและในขณะเดียวกัน  เมื่อมีน้ำหนักน้อยกว่า CAMALDULENSIS ถึงราว 60 เปอร์เซ็นต์ ดังที่ได้ลำดับมา  อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษจึงอยู่ในฐานะที่จะซื้อไม้ GRANDIS ได้ปริมาณเพิ่มขึ้นถึงอีก 40 เปอร์เซ็นต์คือใช้เงิน 1,000 บาท ซื้อเยื่อไม้ CAMALDULENSIS ได้ 1,000 ก.ก. แต่ซื้อเยื่อไม้ GRANDIS ได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ก.ก. และในขณะเดียวกัน GRANDIS ยังจะสนองประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกได้ทางคุณภาพของเยื่อไม้ คือเป็นเยื่อที่ยาวกว่า และสีอ่อนกว่า เหมาะแก่การใช้ผลิตกระดาษเป็นอันมาก

อนึ่ง  สำหรับผู้ประกอบการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่หรือสวนผลไม้ ใคร่เสนอให้พิจารณาด้วยว่าควรปลูกยูคาลิปเป็นแนวรั้วของที่ประกอบการทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้ไม้ขนาดต่าง ๆ ในการประกอบการเกษตร เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นไม้หลัก เป็นไม้เสาเข็ม เป็นเสาขนาดต่าง ๆ ส่วนในทางอ้อมยูคาลิปออกดอกดก และมีเกสรซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การเลี้ยงผึ้งสำหรับผสมเกสรให้แก่พืชเกษตรได้ดีมาก  ในประเทศออกเตรเลียในป่ายูคาลิป  มีผู้เลี้ยงนำรังผึ้งของตนเข้าไปเลี้ยงกันในป่ายูคาลิปอย่างกว้างขวาง

เมื่อได้ตัดสินใจว่าจำเป็นแล้วที่จะต้องกลับไปทำหน้าที่นักวิชาการป่าไม้  เพื่อค้นคว้าให้ได้ไม้ยูคาลิปชนิดที่เติบโตสูงสุด และมุ่งให้ได้ไม้แปรรูปใช้สอยดีที่สุดเป็นสำคัญ  ในโครงการปลูกยูคาลิปตัสเปรียบเทียบซึ่งกำลังดำเนินการอยู่นี้ ได้สั่งเมล็ดไม้ยูคาลิป ซึ่งพิจารณาจากหลักฐานทั้งมวลและประสบการณ์ในนานาประเทศทั่วโลกเป็นจำนวน 100 ชนิด เข้ามาเพาะขึ้น แยกกล้าลงถุงเพาะชำ และนำมาปลูกทดลองเปรียบเทียบผลการเติบโต และปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ภายในฤดูฝน พ.ศ.2537 นี้

ที่เมืองแก้ว ถนนบางนา-ตราด กม.7.7  เรามีความสะดวกสมบูรณ์ในการดำเนินการดังที่ได้กล่าวมา คือไปมาได้สะดวกโดยใช้ทางด่วนลงที่บางนาหรือจะมาทางเส้นทางอื่น เช่น ถนนศรีนครินทร์ ก็สะดวกเช่นเดียวกันเมืองแก้วเป็นที่รู้จักทั่วไปเพราะผมและภรรยาได้มีวโรกาสอันยิ่งใหญ่ทูลเกล้าฯถวายที่ดิน 30 ไร่ เพื่อพระราชทานให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างเป็นโรงเรียนมัธยมส่วนกลาง มีชื่อซึ่งทรงพระราชทานว่า โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ในพระบรมราชูปถัมภ์ เรามีสนามกอล์ฟเมืองแก้ว ซึ่งจะใช้ที่ดินริมถนนสร้างแปลงทดลองเปรียบเทียบยูคาลิปทั้ง 100 ชนิดให้สาธารณชนได้ศึกษาพิจารณาจากของจริง เพื่อช่วยกันสร้างสวนยูคาลิปขึ้น ใช้เป็นไม้แปรรูป และสนองความต้องการอื่น ๆ และทั้งเป็นการสร้างเสริมปัจจัยแวดล้อม  สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่น้ำและดิน ทดแทนป่าไม้ธรรมชาติซึ่งหมดสิ้นไปโดยสมบูรณ์

ผมมีความชื่นชมยินดีที่มีโอกาสกลับมาปฏิบัติหน้าที่นักวิชาการป่าไม้อีกวาระหนึ่งในบั้นปลายชีวิต เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม  ให้สมกับที่เป็นผู้ได้รับทุนกรมป่าไม้ไปศึกษามา และยังได้รับพระราชทานบำนาญอยู่โดยใช้ทุนรอนของตัวเอง  ยินดีต้อนรับทุกท่านที่จะมาพิจารณาศึกษาผลการปลูกยูคาลิปเปรียบเทียบดังที่ได้กล่าวในด้านเมล้ดยูคาลิป  หากผู้ใดประสงค์จะสั่งมาทดลองด้วยตนเอง