ทองหลางใบมน


(Indian Coral Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina ovalifolia Roxb.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – PAPILIONOIDEAE
ชื่ออึ่น ทองหลาง
ถิ่นกำเนิด อินเดีย
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 8-12 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ หนาทึบ เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามแนวยาว สีน้ำตาลอ่อน ลำต้นเล็กและกิ่งมีหนามสั้นสีดำ


ใบ ใบประกอบมีใบย่อยสามใบ เรียงเวียนสลับ แกนกลางใบ ประกอบยาว 15-20 ซม. ใบรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขนมเปียกปูน กว้าง 6-15 ซม. ยาว 8-16 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางและอ่อน สีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอก สีแสดมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะขนาดใหญ่ ที่ปลายกิ่ง ดอกรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ขอบหยัก ซี่ฟันตื้นๆ 5 จัก มีขนสั้นๆ กลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกโค้ง ยาว 4-7 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน


ผล ผลแห้งแตก เป็นฝักหนา กว้าง 2-3 ซม. ยาว 15-30 ซม. คอดเล็กน้อยระหว่างเมล็ด หรือเป็นข้อๆ ต่อกัน เมื่อสุกสีน้ำตาลเข้ม หรือเทาอมดำ เมล็ดรูปไต สีส้มหรือแสด 3-10 เมล็ดต่อฝัก ติดผลเดือน มี.ค.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่งหรือปักชำกิ่ง
นิเวศวิทยา พบตามป่าทุ่งหรือป่าโปร่ง
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือก ใบ รสเฝื่อนเอียน แก้เสมหะ แก้ลมพิษ หยอดตา แก้ตาแดง ตาแฉะ ตาฝ้าฟาง ดับพิษร้อน ราก แก้พยาธิในท้อง แก้ตาฟาง แก้เสมหะและลม แก้ไข้หวัด พอกบาดแผล แก้ปวดแสบปวดร้อน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย