ทานตะวัน:ข้อมูลจำเพาะของทานตะวัน

ทานตะวัน(Helianthus anuus) เป็นพืชที่น่ามหัศจรรย์ ดอกทานตะวันจะบานและหันไปทางทิศตะวันออกเสมอ ทานตะวันเป็นพืชที่มีระบบรากลึกและแข็งแรง ทำให้ต้นทนแล้งได้ดีมาก ในปลายปี 2536 ที่แล้งจัด จนต้นข้าวฟ่างที่ปลูกแถว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ยืนต้นตาย แต่ต้นทานตะวันกลับสามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ดี ดังนั้นจึงเป็นพืชที่น่าสนใจมากที่จะปลูกเป็นพืชปลายฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พันธุ์

แต่เดิมพันธุ์ที่ใช้ปลูกต้องอาศัยแมลงช่วยผสมเกสร แต่ปัจจุบันมีพันธุ์ลูกผสม (แปซิฟิค 33) เป็นพันธุ์ที่ติดเมล็ดได้ดีโดยไม่ต้องใช้แมลงช่วยผสมเกสร พันธุ์นี้มีอัตราการงอกสูงกว่า 90℅ เก็บเกี่ยวภายใน 105-115 วัน ให้ผลผลิต 400-500 กิโลกรัมต่อไร่

การปลูก

เริ่มด้วยการไถเตรียมดินให้ร่วนซุย ควรทำเมื่อดินมีความชื้นเพียงพอ ก่อนไถดายหญ้าให้เตียน หว่านปุ๋ยคอกอัตรา 1.5 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ แล้วจึงทำการไถดะให้ลึกที่สุด หลังจากนั้นจึงไถแปรให้พื้นที่เรียบสม่ำเสมอตลอดแปลง ถ้าแปลงเป็นที่ลุ่มน้ำขังได้ ควรทำร่องระบายน้ำรอบแปลง

หยอดเมล็ดหลุมละ 2-3 เมล็ด ให้ระยะระหว่างหลุม 45 ซม. ระหว่างแถว 75 ซม. กลบดินให้หนา 3-5 ซม. แล้วเหยียบให้แน่นพอสมควร หลังจากปลูกแล้ว 5-10 วัน ตรวจดูความงอกแล้วทำการปลูกซ่อม หลังจากนั้นอีก 5-8 วัน ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม การปลูกในระยะดังกล่าวจะใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 0.7 กิโลกรัมต่อไร่ และจะได้ทานตะวัน 6,400-8,500 ต้นต่อไร่

ทานตะวันควรปลูกปลายฤดูฝน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ด้วยคือ ในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนเหนียวสีดำ ควรปลูกระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ในพื้นที่ที่ดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ควรปลูกระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ในกรณีพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ก็ปลูกในฤดูแล้งได้อีกครั้งหนึ่ง โดยปลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

การดูแลรักษา

ก่อนหยอดเมล็ดควรใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 หรือ 25-7-7 อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ อาจจะใช้ผงบอแรกซ์ อัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่ ในพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย หว่านให้ทั่วแปลง หรือโรยพร้อมปุ๋ยรองพื้น เมื่อต้นอายุได้ 25-30 วัน ให้ทำรุ่นพูนโคนและกำจัดวัชพืช พร้อมทั้งใส่ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ห่างจากโคน 20 ซม. (ระวังอย่าให้ถูกใบ) เสร็จแล้วกลบปุ๋ยพูนโคนตามแถว

การกำจัดวัชพืช  ให้ใช้ยาคุมหญ้าประเภทอะลาคอร์ เมตลาคอร์ อัตรา 300-400 ซีซีต่อไร่ หรือ 7-8 ช้อนแกงต่อน้ำ 18-20 ลิตร (กรณีใช้ถังโยกหรือมือฉีด) พ่นหลังหยอดเมล็ดก่อนที่เมล็ดจะงอก หรือใช้แรงงานจากเครื่องจักร คน สัตว์ ทำรุ่นตามความจำเป็น และห้ามใช้อาทราซีน ในทานตะวันโดยเด็ดขาด

การเก็บเกี่ยว

เมื่อทานตะวันมีอายุ 105-115 วัน จากดอกจะเริ่มเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาลให้เก็บเกี่ยวและตากแดดให้แห้ง 1-2 แดดก่อน จึงนวดโดยใช้เครื่องนวดถั่วเหลืองหรือถั่วลิสง หรือใช้เครื่องสีข้าวฟ่างก็ได้ ควรทำความสะอาดเมล็ดให้ดี และเก็บไว้ในยุ้งฉางที่ป้องกันแดด ฝน และแมลงศัตรูได้ ความชื้นเมล็ดที่จะเก็บรักษาไว้ควรมีไม่เกิน 10℅

โรคและแมลงศัตรู

ในประเทศไทย ปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูของทานตะวันพบน้อย แต่บางครั้งอาจพบปัญหาเมล็ดเน่าเมื่อเจอฝนในช่วงดอก ป้องกันได้โดยปลูกทานตะวันในช่วงปลายฝนจะได้ไปเก็บเกี่ยวในช่วงแล้ง

แมลงศัตรูที่สำคัญได้แก่ ผีเสื้อกลางคืนที่มักเข้าทำลายช่วงดอกบาน ป้องกันโดยใช้ฟูราดานรองก้นหลุม นอกจากนั้นยังมีเพลี้ยจักจั่น แมลงหวี่ขาว มวนเขียวข้าว ซึ่งเข้าทำลายเมื่อทานตะวันอายุ 40-45 วัน ป้องกันโดยใช้อโซดริน 15 ซีซี น้ำ 20 ลิตร หรือใช้เซฟวิน 3 ช้อนแกง น้ำ 20 ลิตร

(ข้อมูลจาก บ.แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ตู้ ปณ.15 อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี 18120 โทร.(036)266316-9)