ทานตะวัน:ไม้ดอกยอดนิยมปลูกได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

ทานตะวันเป็นไม้ล้มลุกอายุ 1 ปี ใบรูปกลมรี โคนใบโค้งเว้าเป็นรูปหัวใจปลายใบแหลมขอบใบหยักแบบฟันปลา หลังและใต้ท้องใบมีขนสาก ดอกออกเป็นช่อหรือกระจก กลีบดอกวงในมีสีเหลือง กลีบดอกวงนอกสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองทอง ล้อมรอบเกสรขนาดใหญ่คล้ายจานเป็นไม้ดอกที่มีลักษณะพิเศษคือ ดอกจะหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์เสมอ

พันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก เช่น พันธุ์คัลเลอร์ แฟชั่น (Color Fashion) อิตาเลี่ยน ไวท์ (Italian White) ซึ่งเป็นชนิดที่แตกกิ่งก้านสาขา มีลำต้นสูงประมาณ 4-5 ฟุต ขนาดดอกประมาณ 3-4 นิ้ว

การขยายพันธุ์

ทานตะวันขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ซึ่งนิยมเพาะเมล็ดในแปลงปลูกโดยตรง ทานตะวันสามารถปลูกได้ดีในดินทุกชนิด ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และชอบแสงแดดจัด

การเลือกสถานที่ปลูก

สถานที่ปลูกทานตะวันควรเป็นที่โล่งแจ้ง ได้รับแสงอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ 8-10 ชั่วโมง หากปลูกในที่ที่ได้รับแสงน้อยจะให้ผลผลิตต่ำ ขนาดดอกเล็ก และมักพบว่าต้นอ่อนแอต่อโรคได้ง่าย

การเตรียมแปลงปลูก

ก่อนปลูกควรมีการเตรียมดินหรือปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ มีธาตุอาหารเพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยขุดดินให้ลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้ย่อยดินให้ละเอียดใส่อินทรีย์วัตถุที่สลายตัวแล้วอย่างเช่น เศษฟาง เปลือกถั่วลิสง ขี้เถ้าแกลบ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพหรือปุ๋ยพืชสด เพื่อให้ดินมีความร่วนซุย สามารถเก็บความชื้นและมีการระบายน้ำดี

ก่อนเพาะเมล็ดให้นำเมล็ดไปแช่ในน้ำสกัดชีวภาพก่อนนำไปปลูก จะช่วยให้เมล็ดงอกเร็วและมีความแข็งแรงขึ้น  การเพาะเมล็ดทานตะวันให้หยอดเมล็ดหลุมละ 2 เมล็ด ฝังลึกประมาณ 2 นิ้ว ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 25×30 ซม. ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 70-75 ซม. ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยชีวภาพที่ให้ธาตุอาหารหลักได้แก่ ไนโตรเจน โปแตสเซียมและฟอสฟอรัสครบถ้วน หลังจากกลบดินเรียบร้อยแล้วควรคลุมแปลงปลูกและรดน้ำให้ชุ่ม การคลุมแปลงจะช่วยรักษาความชื้นรักษาอุณหภูมิและช่วยป้องกันวัชพืช วัสดุที่ใช้คลุมแปลง เช่น ฟางข้าว เศษหญ้าแห้ง เปลือกถั่ว หรือวัสดุอื่นที่มี หลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 10 วัน ให้ถอนต้นกล้าออกเหลือเพียงหลุมละ 1 ต้น เพื่อให้ทานตะวันผลิตดอกที่มีคุณภาพต่อไป

การให้น้ำ

ระยะแรกควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เพื่อรักษาความชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้เมล็ดงอก และเจริญเติบโตได้สมบูรณ์ หลังจากต้นตั้งตัวได้แล้วหรือมีความแข็งแรงเพียงพออาจให้น้ำได้ 1-2 วันต่อครั้งก็ได้

การให้ปุ๋ย

หลังจากปลูกประมาณ 30 วัน ให้ใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่ง และใบ ในระยะนี้หากทานตะวันขาดไนโตรเจนจะโตช้า ใบมีสีเหลือง กิ่งก้านยาว เล็ก และอ่อนแอ เมื่อทานตะวันเริ่มเกิดตาดอกจึงใส่ปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสสูงเพื่อเร่งดอก หลังใส่ปุ๋ยทุกครั้งควรรดน้ำตามทันที หรือฉีดพ่นด้วยน้ำหวานหมักจากผลไม้ ใช้ฉีดพ่นแบบฮอร์โมนพืช ให้ผลในการบำรุงดีมากโดยเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังออกดอก

การตัดดอก

การตัดดอกควรทำเมื่อดอกยังไม่บานเต็มที่หรือบานประมาณ 70%หรือสังเกตว่าส่วนใจกลางของดอกยังมีสีเขียวอยู่ วิธีตัดให้ตัดชิดโคนกิ่งหรือให้มีความยาวของก้านดอกประมาณ 10-12 นิ้ว การตัดดอกควรตัดในช่วงเช้า

โรค-แมลงและการป้องกันกำจัด

โรคทานตะวัน

โรคทานตะวันที่สำคัญได้แก่ โรคโคนเน่าหรือต้นเน่า โรคใบจุด ซึ่งโรคเหล่านี้ผู้ปลูกจะทราบก็ต่อเมื่อเชื้อได้เข้าทำลายต้นแล้ว ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ใช้เชื้อโรคเข้าทำลายต้นได้

1.  โรคโคนเน่าหรือต้นเน่า

เกิดจากเชื้อราในดิน ระบาดมากในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำค้าง มีความชื้นสูง ๆ มักเกิดกับต้นแก่มากกว่าต้นอ่อน อาการเริ่มแรกจะพบใบมีสีเหลือง เหี่ยว และแห้งตายทั้งต้น เมื่อถอนต้นขึ้นมาดูจะพบว่าโคนต้นและรากเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือดำ พบเส้นใยสีขาอยู่ตามโคนต้นและดิน

การป้องกัน

ไม่ปลูกทานตะวันให้ชิดกันเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังแสงอันเป็นเหตุให้ต้นมีความชื้นง่ายต่อการเข้าทำลายของโรค เมื่อพบที่เป็นโรคให้ตัดทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้งเสีย และอาจใช้วิธีปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนกับทานตะวันเพื่อตัดวงจรของโรคให้หายไป โดยให้ปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอก สำหรับต้นที่เป็นโรคให้ถอนและขุดดินในหลุมไปเผา จากนั้นใช้ปูนขาวผสมน้ำราดลงไปในดินอีกครั้ง

2.  โรคใบจุด

เกิดจากเชื้อรา เกิดได้ตั้งแต่ระยะต้นอ่อนจนถึงตัดดอก อาการเริ่มแรกจะมีจุดสีน้ำตาลเข้มและมีสีเหลืองล้อมรอบ มักเกิดกับใบแก่มากกว่าใบอ่อน ระบาดมากในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม หรือช่วงที่มีน้ำค้างมาก หากเป็นมากจะทำให้ทานตะวันไม่ให้ผลผลิตเลย

การป้องกัน

ให้หลีกเลี่ยงการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูก และตัดทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้งเสีย

แมลงศัตรูทานตะวัน

แมลงศัตรูทานตะวันที่สำคัญ ได้แก่ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้ผัก หนอนม้วนใบส้ม

การป้องกันกำจัด

วิธีที่ดีที่สุดคือดูแลรักษาต้นทานตะวันให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง หมั่นกำจัดวัชพืชทำความสะอาดต้นด้วยการ นำใบแก่ที่ร่วงหล่นออกไปให้พ้นบริเวณต้น กำจัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพ เพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุก ๆ สัปดาห์ ก่อนที่จะมีโรคแมลงรบกวน โดยควรทำในช่วงเช้าหรือหลังฝนตกหนัก และควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดินชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของโรคแมลง และให้มีการใช้ประโยชน์จากดินอย่างเต็มที่ เพราะพืชแต่ละชนิดมีรากลึกและต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน