นกยูงคองโก

ชื่อสามัญ  Congo Peacock

ชื่อวิทยาศาสตร์  Afropavo congensis

เป็นนกในตระกูลไก่ฟ้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้นในจำนวนทั้งหมด 48 ชนิด ที่ไม่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยไปมีถิ่นกำเนิดแถบบริเวณลุ่มนํ้าคองโกตอนกลางของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1913 ถึง ค.ศ.1936 นักปักษีวิทยาเคยเห็นแต่เพียงขนของมันเพียงเส้นเดียวบนหมวกของชาวพื้นเมืองเท่านั้นจนกระทั่ง Dr.James p. Chapin นักปักษีวิทยาชาวอเมริกันได้เห็นตัวจริงที่สตั๊ฟไว้ในพิพิธภัณฑ์คองโก ประเทศเบลเยี่ยม โดยตั้งชื่อผิดเป็นนกยูงไทยด้วย จึงได้ศึกษาอย่างจริงจัง บันทึกรายละเอียดต่าง ๆ และ ตั้งซื่อให้มันในครั้งนั้นด้วย

นกยูงคองโกมีข้อแตกต่างอย่างมากจากนกยูงไทยและนกยูงอินเดียซึ่งอยู่ในตระกูล Pavo โดยที่มันมีตัวเล็กกว่า ตัวผู้ไม่มีขนหางที่ยาวเหมือนสองชนิดแรก ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะมีรูปร่างป้อม ๆ มีหงอนที่เป็นขนแข็ง ๆ ตั้งขึ้นอยู่บนหัว ความสวยของนกยูงชนิดนี้อยู่ที่สีของขน มันชอบอาศัยอยู่ตามป่าที่มีฝนชุกที่ระดับความสูง 1,200-1,500 ฟุต เป็นพวก monogamous คือผัวเดียวเมียเดียว มักจะพบออกหากินเป็นคู่ ชอบนอนบนต้นไม้สูง ๆ และมักจะส่งเสียงร้องในเวลากลางคืน ในขณะที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้

ข้อสังเกตจากการนำมาเพาะเลี้ยง มันเป็นนกยูงที่เลี้ยงให้รอดยากและขยายพันธุ์ยากด้วย เป็นนกที่ไม่ค่อยตื่นคนมากนัก ตัวผู้มักจะรำแพนบ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ ปกติจะวางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 26 วัน ตัวผู้จะมีขนสวยสมบูรณ์ในปีที่สอง นกยูงชนิดนี้มีผู้เพาะเลี้ยงน้อยมาก จะมีอยู่ในเฉพาะสวนสัตว์ใหญ่ ๆ เท่านั้น