นกหว้า

ชื่อสามัญ Great Argus

ชื่อวิทยาศาสตร์ Argusianus argus

เป็นนกขนาดใหญ่ที่ไม่มีเดือย ชอบอาศัยอยู่ตามป่าลึกที่มีความทึบมากๆ ตั้งแต่ระดับนํ้าทะเลจนถึงระดับความสูง 4,000 ฟุต แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันมาก

1. Malay Great Argus มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า A.a.argus มีในคาบสมุทรมาเลย์ เกาะสุมาตราตอนใต้ของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์จนถึงแหลมมลายู

2. Bornean Great Argus มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า A.a.grayi มีในเกาะบอร์เนียว ตามป่าเชิงเขา ไม่พบตามชายฝั่ง มีลักษณะเด่นน้อยกว่าชนิดแรก แต่จะมีสีสดใสกว่าเล็กน้อย

ทั้งสองชนิดนี้มีน้อยมากในป่าธรรมชาติ เริ่มเป็นที่รู้จักกันในยุโรปในศตวรรษที่ 18 และถูกส่งจากสิงคโปร์ไปที่สวนสัตว์กรุงลอนดอนในปี ค.ศ.1872 เป็นนกที่ชอบหากินอยู่ตัวเดียว นอกจากฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น โดยตัวผู้จะทำลานสำหรับรำแพน เรียกว่า “ลานนกหว้า” แล้วส่งเสียงร้องซึ่งดังมากได้ยินไปไกลเรียกตัวเมียให้มาหา นกหว้าจะรำแพนด้วยขนปีก ไม่เหมือนนกยูงที่รำแพนด้วยขนหาง เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะแยกตัวออกไปสร้างรังตามพื้นดินใต้ต้นไม้ วางไข่ครั้งละ 2 ฟองเท่านั้น ในระยะห่างกัน 2 วัน ใช้เวลาฟักไข่ 26 วัน ตัวผู้จะมีขนเต็มเมื่ออายุ 3 ปี แต่จะผลัดขนปีกและหางไปเรื่อย ๆ จนยาวเต็มที่เมื่ออายุ 6-7 ปี ตัวเมียเมื่อเลี้ยงรวมกันมักจะตีกัน นกหว้ายังมีอีกชนิดหนึ่งอยู่ในเกาะชวา ชื่อ Double-Banded Argus (A.bipunctatus) แต่สูญพันธุ์มานานแล้ว มีแต่ขนให้ดูในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น