นกเอี้ยง:ประโยชน์ของนกเอี้ยง

ประจง  สุดโต สถาบันวิจัยการทำฟาร์ม บางเขน กรุงเทพฯ

ในเมืองไทยมีนกอยู่มากมายหลายชนิด กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ได้จัดแบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ ๆ ได้แก่ นกพวกแรก เป็นพวกที่มีประโยชน์สีสรรสวยงามหายากหรือใกล้จะสูญพันธุ์ นกกลุ่มนี้ห้ามฆ่าโดยเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งนั้น นกพวกที่สอง เป็นพวกที่มีทั้งประโยชน์และโทษ ขยายพันธุ์ง่าย มีทั้งสีสวยและไม่สวย สามารถฆ่าได้ในบางฤดูกาลเท่านั้น

ชนิดของนกเอี้ยง

นกเอี้ยง จัดอยู่ในพวกหลัง นกเอี้ยงมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น

นกเอี้ยงหงอน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า นกเอี้ยงควาย มีลักษณะขนสีดำ มีขนยาวโผล่ที่หัวซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหงอน ชอบหากินอยู่ใกล้ ๆ โค กระบือ ชอบกินเหา แมลง หนอน และสัตว์เล็ก ๆที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน

นกกิ้งโครงคอดำ ตัวโตกว่านกเอี้ยงหงอน มีขนสีดำพาดที่คอ ขนตามลำตัวสีขาวหม่น ด้านหลังขนสีดำสลับขาว กินแมลง หนอน และสัตว์ตัวเล็ก ๆ

นกเอี้ยงสาลิกา พบกันอยู่เสมอ ๆ มีขนสีน้ำตาล ชอบหากินตามบริเวณอาคารบ้านเรือน หรือตามคอกสัตว์ ชอบกินแมลง หนอน สัตว์ตัวเล็ก ๆและอาหารที่สัตว์กินเหลือไว้อีกด้วย

นกเอี้ยงด่าง ลักษณะคล้ายนกกิ้งโครง แต่มีขนาดเล็กกว่า ปากยาว สีแดง ขนสีดำเข้มกว่า ชอบกินแมลง หนอน และสัตว์ตัวเล็ก ๆ

นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา เป็นนกตัวเล็กที่สุดในกลุ่มนกเอี้ยง ขนสีเทา ชอบบินเป็นฝูง กินผลไม้ ผลไม้ป่า เป็นอาหาร

นกเอี้ยงนอกเหนือจากที่กล่าวถึงมาแล้ว ก็ยังมีอีกหลายชนิดซึ่งรวมถึงนกขุนทองด้วย

นกเอี้ยงมีประโยชน์มากกว่าโทษ

ปัจจุบันประชาชนหันมาเลี้ยงนกเอี้ยงแทนนกขุนทองกันมากขึ้น เพราะว่าหาง่าย ราคาถูก และเสียงที่พูดก็ไพเราะไม่แพ้นกขุนทอง เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาฝึกสอนมากหน่อย บางคนบอกว่าต้องตัดที่ปลายลิ้น นกจะพูดได้เร็วขึ้น เท็จจริงแค่ไหนขอให้พิสูจน์เอง

จุดที่สำคัญที่จะขอกล่าวในที่นี้คือเห็นว่า นกเอี้ยงมีประโยชน์มากกว่าเป็นโทษในไร่นา ขณะที่ท่านทำการเกษตรจะพบนกพวกนี้เสมอ ๆ และมีปริมาณมาก มันมาทำไม?..ก็ช่วยทำลายแมลงและศัตรูพืชของท่านยังไงด้วยความเคยชินหรือเห็นจนเจนตาจึงไม่ค่อยจะมีใครสนใจในประโยชน์ของมัน นกเอี้ยงเป็นศัตรูธรรมชาติของแมลงหรือศัตรูพืชที่ดีมากชนิดหนึ่ง

ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ นกเอี้ยงหงอนและนกเอี้ยงสาลิกาจะรวมกลุ่มกันออกหากิน และอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะพบเสมอ ๆ ในนาข้าว ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ไร่ข้าวฟ่าง สวนผัก สวนผลไม้ หรือแหล่งที่ปลูกพืชไร่อื่น ๆทั้งแหล่งที่มีศัตรูพืชระบาดหรือไม่ระบาดก็ตาม แต่ถ้าท้องถิ่นไหนมีศัตรูพืชหรือหนอนลงระบาดมากจะพบนกพวกนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดเสมอ ๆ นึกว่ามันลงทำลายพืชของตน

สาเหตุที่นกเอี้ยงมีจำนวนลดน้อยลง

๑.  ช่วงฤดูที่มันรวมกลุ่ม หลับนอนกันเป็นกลุ่มตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ จะถูกคนจับไปขายหรือฆ่าเพื่อเป็นอาหารทั้ง ๆ ที่เนื้อก็มีรสชาติไม่อร่อยนัก ขอเตือนไว้ว่า หากท่านปรุงอาหารไม่สุกพอ พยาธิที่ติดมากับนกพวกนี้ อาจจะเข้าไปเบียดเบียนร่างกายท่านได้ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ตามขนนกนั้นมีไรและเหาอาศัยอยู่ซึ่งอาจจะเป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่ท่านได้เช่นกัน

๒.  ปัจจุบันการปลูกพืชก่อนและหลังการทำนาหรือโครงการปลูกพืชทดแทนได้ขยายตัวอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็ปรากฎว่ามีศัตรูพืชระบาดตามมา เกษตรกรหันไปใช้สารเคมีชนิดฤทธิ์รุนแรงกำจัดศัตรูพืช บางแห่งก็ใช้มากครั้งเกินความจำเป็น นกเอี้ยงที่ช่วยกำจัดศัตรูพืชก็ได้รับสารเคมีเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ ทำให้มันต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมาก

๓.  ในช่วงฤดูการผสมพันธุ์ มันจะจับคู่ทำรังเพื่อวางไข่ ก็ยังมีคนคอยจ้องฆ่าและทำลายไข่ของมัน ซึ่งค่อนข้างง่าย เพราะว่ารังอยู่สูงจากพื้นดินไม่มากนัก

๔.  ขณะนี้เมื่อแมลงหรือศัตรูพืชลงระบาดมากในแปลงปลูกพืช นกเอี้ยงก็จะแห่กันลงไปช่วยทำลายศัตรูพืชเหล่านั้น เกษตรกรเข้าใจผิดนึกว่ามันทำลายพืชผลจึงหาวิธีฆ่ามันด้วยวิธีการต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้

ช่วยกันอนุรักษ์…

นอกจากประโยชน์ดังที่กล่าวแล้ว นกเอี้ยงปัจจุบันยังช่วยกกไข่ให้นกกาเหว่าอีกด้วย เพราะว่าอีกาที่เคยกกไข่ให้นกกาเหว่านั้น ใกล้จะสูญพันธุ์แล้วในบางท้องที่

บทความนี้จึงใคร่ขอความอนุเคร์จากท่านผู้อ่าน ได้โปรดเผยแพร่ความรู้นี้ไปยังเพื่อนสนิทหรือบุคคลอื่น ๆ ด้วย เพื่อช่วยกันอนุรักษ์นกที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ด้วยเถิด