นกแว่นสีน้ำตาลมาเลย์

ชื่อสามัญ  Malay Peacock Pheasant

ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyplectron malacense malacense

เรียกกันในหมู่นักเพาะเลี้ยงว่า “นกแว่นใต้” เป็นชนิดย่อยหนึ่งในสองชนิดของนกแว่นสีนํ้าตาล มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมาเลย์ตลอดเทือกเขาตะนาวศรี จนถึงแหลมมลายูและในเกาะสุมาตรา ในประเทศไทยมีในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป มันมีรูปร่างเหมือนนกแว่นสีเทา แต่ตัวเล็กกว่า มีสีตลอดลำตัวออกเป็นโทนสีนํ้าตาล ตัวผู้มีขนหงอนสีนํ้าเงินเหลือบเขียว แว่นมีสี เขียวอมเหลืองและเหลือบสีม่วงแดง มีจำนวนแว่นมากกว่านกแว่นสีเทา มีเดือยข้างละ 2 เดือย ตัวเมียหงอนสั้นกว่าและไม่มีเดือย เป็นนกที่อยู่ตั้งแต่ระดับนํ้าทะเลจนถึงระดับความสูง 3,000 ฟุต แต่ปกติจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 1,000 ฟุต ชอบอยู่ตามป่าทึบชื้นที่มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น เป็นนกที่ชอบซุกซ่อนตัว ไม่ค่อยให้พบเห็นได้ง่าย ๆ ทำให้รู้พฤติกรรมตามธรรมชาติของมันน้อยมาก ชอบหากินตามลำพังตัวเดียวหรือบางครั้งเป็นคู่ชอบกินแมลง เมล็ดพืช ผลไม้สุก ใบไม้อ่อน และสัตว์เล็ก ๆ เช่น ลูกกบ ลูกเขียด ตัวผู้จะส่งเสียงร้องและรำแพนอวดตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ซึ่งจะอยู่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เสียงร้องจะเหมือนนกแว่นสีเทา แต่ดังและห้าวกว่า ตัวเมียจะออกไข่เพียงฟองเดียว และใช้เวลาฟักไข่ 21 วัน ตัวผู้จะมีสีสวยสมบูรณ์ในปีที่สอง

นกแว่นชนิดนี้ถูกนำเข้าไปเพาะเลี้ยงในยุโรปครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1870 และได้นำเข้าไปอีกหลายครั้งจนกระทั่งขยายพันธุ์ได้ในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1884 จากสถิติการเพาะเลี้ยงจัดว่าเป็นนกที่เลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ยากกว่านกแว่นทุกชนิด