นกแว่นสุมาตรา

ชื่อสามัญ  Bronze-Tailed Peacock Pheasant

ชื่อวิทยาศาลตร์ Polyplectron chalcurum

ผู้เพาะเลี้ยงของไทยมักจะเรียกนกแว่นชนิดนี้ทับศัพท์ว่านกแว่นบรอนซ์เทล เป็นนกแว่นที่ตัวค่อนข้างเล็ก ไม่มีหงอน ขนสร้อยคอ และโดยเฉพาะเป็นนกแว่นชนิดเดียวที่ไม่มีแว่นที่เป็นวงกลมรูปไข่อยู่บนขนเหมือนนกแว่นชนิดอื่น ๆ แต่จะลายขวางบนขนหางเป็นจุดเด่นแทน ข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือมันมีหางเหมือนพวกไก่ฟ้าสีทอง ซึ่งมีลักษณะปลายแหลมไม่กลม มนและจะแผ่ขึ้นในแนวตั้ง

นกแว่นชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย ซึ่งเหมือนกันมาก มีข้อแตกต่างกันเล็กน้อยคือ

1. South Sumatran Peacock Pheasant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า p.c. chalcarum

2. North Sumatran Peacock Pheasant มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า p.c. scutulatum

ทั้งสองชนิดมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้และตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ชอบอาศัยอยู่บนภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,500-4,000 ฟุต ถูกนำออกจากเกาะสุมาตราครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1929 โดยถูกนำไปเพาะเลี้ยงที่เมืองมาแซล ประเทศฝรั่งเศส และสามารถขยายพันธุ์ได้ในปี ค.ศ.1932 เป็นนกที่เลี้ยงได้ค่อนข้างเชื่อง ไม่ตื่นคน มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่เกาะอยู่บนคอน ชอบวางไข่บนรังที่แขวนไว้สูงจากระดับพื้นดินเหมือนนกแว่นอีกหลายชนิด วางไข่ครั้งละ 2 ฟอง แต่ถ้าเก็บไข่ไปมันก็จะวางไข่อีก ใช้เวลา ฟักไข่ 22 วัน ตัวผู้สีจะเต็มตั้งแต่ปีแรก แต่หางจะยังสั้นและเดือยจะเพิ่งขึ้น รำแพนเกี้ยวตัวเมียทางด้านข้าง โดยใช้หางแผ่ตั้งขึ้นไปอวดตัวเมีย เลี้ยงรวมกับนกชนิดอื่นได้อย่างดี ปัจจุบันในต่างประเทศมีการเพาะเลี้ยงกันไม่มากนัก