นาข้าว:นาข้าวบนที่สูงวันนี้ปลูกได้ดี

ข้าวบนพื้นที่สูงหรือข้าวดอยมีลักษณะการปลูก 2 แบบคือ การปลูกแบบสภาพไร่หรือที่เรียกว่าข้าวไร่ ปลูกตามไหล่เขา ไม่มีคันนาสำหรับเก็บกักน้ำในแปลงปลูก ส่วนมากมักเตรียมดินโดยการถางวัชพืชหรือพืชอื่นออกก่อนแล้วเตรียมดิน หลังจากนั้นจึงทำการปลูกข้าว พื้นที่ปลูกข้าวไร่ส่วนใหญ่มักมีความลาดชันตั้งแต่ 5-60 องศา อาศัยความชื้นในการเจริญเติบโตจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว และอีกสภาพหนึ่งคือการปลูกในสภาพนา โดยเริ่มต้นตั้งแต่เตรียมดิน ตกกล้า ไถ คราด ทำเทือก และปักดำ ดังเช่นการทำนาพื้นราบทั่วไป พื้นที่ปลูกจะอยู่ระหว่างหุบเขามีการทำคันนาสำหรับกักเก็บน้ำ

ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนาขั้นบันได ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการทำนาในลักษณะนี้มากขึ้น เนื่องจากหลายพื้นที่มีโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำจากพื้นที่สูงเพื่อผันน้ำสู่พื้นที่นา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝายที่ราษฏรในพื้นที่ถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานโครงการ และหลังจากที่สำนักราชเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการในโครงการจนแล้วเสร็จราษฎรในพื้นที่นั้นๆ ก็มีน้ำเพื่อการทำนาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการเตรียมพื้นที่เพื่อทำนาของเกษตรกรในพื้นที่สูงนั้นมีการเตรียมพื้นที่ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในเดือนมีนาคม ครั้งที่สองในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม การเตรียมพื้นที่ครั้งที่สองเป็นการเตรียมแบบประณีตเพื่อปลูกข้าว มีการไถคราดทำเทือก ยกร่องเป็นแปลงขนาดเล็กกว้าง 1-1.5 เมตรความยาวตามพื้นที่ มีร่องระบายน้ำ แล้วหว่านเมล็ดข้าวที่หุ้มให้งอกแล้วลงบนแปลงเพราะ ดังเช่นการตกกล้า สำหรับการทำนาบนพื้นราบทั่วไป

ข้าวที่สูงหรือข้าวดอยเป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดีกว่าข้าวที่ปลูกในพื้นที่ราบทั่วไป เช่น ทนต่อสภาพอากาศเย็น แล้ง ต้านทานต่อโรคไหม้ ส่วนการตกกล้าสภาพนาหรือในแปลงที่มีน้ำขัง โดยการปฏิบัติเช่นเดียวกับการตกกล้าในการทำนาพื้นราบ คือ มีการไถเมื่อในกระทงนามีน้ำขัง คราด ทำเทือก ยกร่องเป็นแปลงเพาะ กว้าง 1-1.5 เมตร ยาวตามความยาวกระทงนาแล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการแช่น้ำ 24-48 ชั่วโมง และบ่ม 24-48 ชั่วโมง หรือพอมีรากงอกประมาณ 1 ซม.ลงบนแปลงเพาะ บริเวณรอบแปลงเพาะให้มีน้ำขังอยู่โดยไม่ให้ท่วมหลังแปลงเพาะจนกระทั่งกล้าครบอายุหรือถอนไปปักดำ โดยใช้เมล็ดพันธุ์ตารางเมตรละประมาณ 50 กรัม การตกกล้า

การปลูกข้าวนาที่สูงแบบปักดำนี้ก็จะมีการเตรียมดิน เมื่อในกระทงนามีน้ำขังโดยไถแล้วทิ้งไว้ 2-4 สัปดาห์ ในระยะ 2-4 สัปดาห์ เกษตรกรจะเตรียมซ่อมแซมคันนา กำจัดวัชพืชตามคันนาและรอบแปลงนา หลังจากนั้นจะเริ่มคราดและทำเทือก แล้วปักดำทันทีที่ทำเทือกเสร็จ ทั้งนี้เพราะสภาพดินในนาบนที่สูงส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนปนทราย หากทิ้งไว้นานจะแน่นทำให้ยากต่อการปักดำ

บางแปลงปลูกโดยวิธีหว่านข้าวงอกหรือหว่านน้ำตม มีการเตรียมดิน เมื่อมีน้ำขังในนาแล้ว ไถทิ้งไว้ 2-4 สัปดาห์ แล้วคราด ทำเทือกจนเป็นเลนนุ่ม และให้หน้าดินเรียบสม่ำเสมอกันให้มากที่สุด จึงลดน้ำลงเหลือเป็นลักษณะดินเลน หว่านเมล็ดข้าวที่แช่น้ำประมาณ 24-48 ชั่วโมง และหุ้ม 24-48 ชั่วโมง หรือพอเมล็ดข้าวงอกยาว 2-3 มิลลิเมตร หว่านในอัตราไร่ละ 8-12 กิโลกรัม เมื่อข้าวงอกยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ทดน้ำเข้าแปลง โดยให้ยอดโผล่พ้นน้ำ 3-4 เซนติเมตร เมื่อข้าวตั้งตัวได้ดีก็เพิ่มระดับน้ำลึกประมาณ 5-7 เซนติเมตร

อดีตที่ผ่านมาเกษตรกรบนที่สูงไม่นิยมปลูกโดยวิธีหว่าน ทั้งนี้เพราะไม่มั่นใจในปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ซึ่งอาจทิ้งช่วงจนเกิดสภาวะแล้ง และฝนที่ตกบนที่สูงอาจมีปริมาณมากจนไม่สามารถระบายน้ำได้ทันจนเกิดการท่วมและไหล่บ่าพัดพาเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านไว้เสียหายได้ แต่ปัจจุบันเรื่องนี้ไม่มีปัญหาแล้ว เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำจากฝายทดน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ให้กับเกษตรกร นาหว่านจึงเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้