น้ำมันมะพร้าว:กรรมวิธีในการผลิตน้ำมันมะพร้าว

การผลิตน้ำมันมะพร้าว สามารถทำได้ 2 วิธี

1.  แบบเคี่ยว คือการนำมะพร้าวสดมาคั้นกะทิ(ควรใช้หัวกะทิ) จากนั้นนำน้ำกะทิที่ได้มาเทลงในกะทะที่ตั้งไฟแล้วทำการเคี่ยวน้ำกะทิจนน้ำมันแยกตัวออก (เวลาขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำกะทิ) โดยส่วนที่อยู่ก้นกะทะจะเป็นกากและจับตัวเป็นก้อน ๆ ส่วนนี้เราจะไม่ใช้แต่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงใช้ติดไฟได้ น้ำมันมะพร้าวที่ได้จากการเคี่ยวจะมีความสะอาดและมีไขมันน้อย

กะทิ 1 ลิตร สามารถเคี่ยวได้น้ำมันมะพร้าวประมาณ 0.25 ลิตร

2.  แบบหีบ คือการนำมะพร้าวแห้งหรือสด มาแกะเอาเนื้อมะพร้าวออก แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำเนื้อมะพร้าวแห้ง ไปเข้าเครื่องอัดหรือรีดก่อนการหีบควรนำเนื้อมะพร้าวเข้าอบให้ความร้อนก่อน เพื่อให้เนื้อมะพร้าวคลายน้ำมันได้มากและง่ายขึ้น น้ำมันที่ได้จากการหีบจะมีเศษปนเปื้อนค่อนข้างมากเช่น กากของมะพร้าว เศษผงต่าง ๆ ที่ติดมากับเนื้อมะพร้าว วิธีนี้น้ำมันมะพร้าวที่ได้จะมีไขมันปนอยู่ในอัตราที่สูง การนำไปใช้งาน ควรมีการกรองให้สะอาดหรือนำมาเคี่ยวอีกครั้งหนึ่ง

มะพร้าวแห้ง 3 ลูก จะได้เนื้อมะพร้าวแห้ง 1 กก. เมื่อนำมาหีบจะได้น้ำมะพร้าว 6 ขีด(ประมาณ 0.8 ลิตร)

การทำน้ำมันมะพร้าวดัดแปลงใช้เอง

1.  เตรียมน้ำมันมะพร้าว เราสามารถใช้น้ำมันมะพร้าวที่เราเคี่ยวเอง หรือน้ำมันมะพร้าวดิบที่หีบเอง หรือมาจากโรงงานก็ได้ แต่ต้องนำมากรองให้สะอาดด้วยผ้าขาวบาง 2-3 ชั้นก่อนนำมาผสม ยิ่งกรองมากยิ่งดี เพื่อเป็นการป้องกันตะกอนที่ตกค้างอยู่ในน้ำมันมะพร้าว

2.  เตรียมน้ำมันก๊าด หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป

3.  นำน้ำมันมะพร้าวผสมกับน้ำมันก๊าด โดยตวงน้ำมันมะพร้าว 20 ส่วน และให้ตวงน้ำมันก๊าด 1 ส่วน (โดยใช้ถ้วยตวงที่มีขนาดเท่ากัน) มาใส่รวมกันในภาชนะที่จะใช้ผสม จากนั้นกวนให้ผสมเป็นเนื้อเดียวกันพร้อมนำไปใช้งานแทนน้ำมันดีเซล

4.  ก่อนใช้ควรถ่ายน้ำมันดีเซลที่อยู่ในถังออกให้หมดเพื่อป้องกันน้ำมันมะพร้าวไปผสมกับน้ำที่อยู่ในน้ำมันดีเซลจับเป็นไข

ปั๊มน้ำมันที่ให้บริการจำหน่ายน้ำมันมะพร้าวดัดแปลงทดแทนน้ำมันดีเซลของกลุ่มเกษตรกร ได้แก่

1.  ปั๊มน้ำมันของกลุ่มเกษตรกรทำสวนทับสะแก อยู่ติดริมถนนเพชรเกษม ในพื้นที่ทำการ อบต. ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

2.  ปั๊มน้ำมันของกลุ่มเกษตรกรทำสวนตำบลแสงอรุณ อยู่ติดริมถนนเพชรเกษม จ.ประจวบคีรีขันธ์

ขอขอบคุณ: คุณยุทธชัย  วิวัฏฏ์กุลธร

เอกสารอ้างอิง

“วิกฤติการณ์น้ำมันกับการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก” สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม เอกสารประกอบการเสวนา วันที่ 2 พ.ค. 44