น้ำสมุนไพรดับกระหายคลายโรค

น้ำสมุนไพรไทย เป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับครัวคนไทยมาช้านานแล้ว ถึงแม้ว่าช่วงหนึ่งความนิยมจะลดลงไป จากการเข้ามาแทนที่ของเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม แต่ด้วยรสชาติที่ยังคงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสมุนไพรแต่ละชนิด และที่สำคัญสรรพคุณที่เป็นยาของสมุนไพรแต่ละอย่าง น้ำสมุนไพรจึงเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยบำรุงสุขภาพ ใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อปรับธาตุในร่างกายให้สมดุลสอดคล้องกับฤดูกาล และยังใช้ดื่มรักษาโรคบางอย่างได้

ด้วยเหตุนี้เครื่องดื่มสมุนไพรจึงกำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง จนมีผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ ทำน้ำดื่มสมุนไพรบรรจุขวด บรรจุกล่องออกมาจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ หรือทำเป็นสมุนไพรบรรจุซอง สำหรับใช้ชงเป็นชาสมุนไพรด้วยเช่นกัน ซึ่งน้ำสมุนไพรสำเร็จรูปเหล่านี้ มีผู้ผลิตหลายรายที่มีการใส่สารปรุงแต่งทั้งน้ำตาล ปรุงแต่งกลิ่น ปรุงแต่งสี หรือสารกันบูด ซึ่งสารต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนเป็นสารสังเคราะห์ ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายบางครั้งอาจเป็นโทษด้วย

การทำน้ำสมุนไพรดื่มเอง โดยดื่มทันทีเมื่อทำเสร็จใหม่ ๆ จะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าทำเก็บไว้นาน ๆ เราเองก็สามารถทำน้ำสมุนไพรดื่มเองได้ง่าย ๆ จากสมุนไพรใกล้ตัว ที่มีอยู่รอบ ๆ บ้าน หรือพืชสมุนไพรที่ใช้ประกอบอาหาร อย่างเช่น น้ำใบเตย น้ำตะไคร้ น้ำขิง น้ำมะตูม น้ำว่านหางจระเข้ น้ำรางจืด เป็นต้น

น้ำขิง-แก้ไอ บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อจุกเสียด

น้ำขิงเป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากเหง้าขิงแก่สดมาต้มกับน้ำใช้ดื่ม

สรรพคุณ

ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับลม แก้คลื่นไส้ อาเจียน ไอ หอบ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง

ส่วนผสม

ขิงแก่ 1 แง่ง

น้ำ 1 ลิตร

น้ำตาลทรายตามชอบ

วิธีทำ

1.  นำเหง้าขิงมาล้างน้ำให้สะอาดทุบพอแหลกตั้งน้ำให้เดือด

2.  เอาขิงลงต้นให้เดือด กรองเอากากออก

3.  ถ้าต้องการหวานก็เติมน้ำตาล ชิมรสตามต้องการ รีบยกลง กรองใส่ขวดที่นึ่งแล้ว 20-30 นาที ตั้งทิ้งไว้เก็บใส่ตู้เย็น เก็บไว้ดื่มได้นาน

การต้มน้ำขิงถ้าเดือดนานเกินไปกลิ่นหอมของขิง ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยจะระเหยออกไปหมด ทำให้น้ำขิงที่ได้ไม่มีกลิ่นหอมชวนดื่ม

ปัจจุบันมีการนำเหง้าขิงมาตากให้แห้ง แล้วบดเป็นผงบรรจุขวดใช้ชงเป็นชาสมุนไพรได้เช่นเดียวกัน

น้ำตะไคร้-บรรเทาอาการไข้หวัด ขับเหงื่อ ขับลม ขับปัสสาวะ

นิยมนำตะไคร้แกงแก่ ๆ สดทั้งต้นและใบมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมุนไพร

สรรพคุณ

ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด ขับเหงื่อ ขับลม ขับปัสสาวะได้ดี

ส่วนผสม

ตะไคร้ 2-3 ต้น

น้ำสะอาด 2-3 ถ้วย

น้ำตาลทรายแดงตามชอบ

วิธีทำ

1.  นำต้นตะไคร้ ตัดใบออก แล้วล้างน้ำให้สะอาด

2.  ตัดเป็นท่อนสั้น ๆ ทุบพอแตก ใส่หม้อเติมน้ำ ตั้งไฟพอเดือด กรองเอาแต่น้ำ

3.  ถ้าต้องการหวานให้เติมน้ำตาลนิดหน่อย นำน้ำสมุนไพรตั้งไฟให้เดือดประมาณ 3 นาที ยกลง

4.  กรองใส่ขวดที่นึ่งแล้ว 20-30 นาที เย็นแล้วเก็บใส่ตู้เย็น จะได้น้ำตะไคร้สีเหลืองอมเขียวอ่อน ๆ ใส มีกลิ่นหอมตะไคร้

ปัจจุบันนิยมนำตะไคร้มาหั่นเป็นฝอยนำไปตากแห้งแล้วชงเป็นชาดื่มร้อนก็ได้เช่นกัน

น้ำบัวบก-แก้เจ็บคอ กระหายน้ำ ทำให้สดชื่น ลดความดันโลหิตสูง

น้ำบัวบก เป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากใบบัวบกสด ตำให้ละเอียดต้มผสมกับน้ำจะได้น้ำสมุนไพรกลิ่นหอมชื่นใจ

สรรพคุณ

แก้เจ็บคอ กระหายน้ำ แก้ช้ำใน ทำให้สดชื่น ลดความดันโลหิตสูง

ส่วนผสม

ใบบัวบก 2 ถ้วย

น้ำสะอาด 2 ถ้วย

น้ำเชื่อมตามชอบ

น้ำแข็ง

วิธีทำ

1.  นำใบบัวบกที่สด ๆ ใหม่ ๆ ล้างน้ำให้สะอาด

2.  นำมาสับหรือตำให้ละเอียด

3.  กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำเชื่อมพอหวาน ชิมรสตามใจชอบ จะได้น้ำใบบัวบกสีเขียวใสน่ารับประทานหรือจะใส่น้ำแข็ง ลงไปก็ได้

น้ำเตยหอม-บำรุงหัวใจ ทำให้ชุมชื่น

น้ำเตยหอมเป็นน้ำสมุนไพรที่ทำจากใบสดของใบเตยหอมที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป นำมาต้มกับน้ำหรือนำใบเตยสดไปหั่นเป็นฝอย ๆ ตากแดดหรืออบให้แห้งเก็บไว้ชงเป็นน้ำชาใบเตย

สรรพคุณ

ช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น ช่วยขับปัสสาวะ

ส่วนผสม

ใบเตย 3 ถ้วย

น้ำสะอาด 8 ถ้วย

น้ำตาลทรายแดงตามชอบ

วิธีทำ

1.  ใบเตยสดที่ไม่แก่มากเก็บใหม่ ๆ ล้างทีละใบให้สะอาด

2.  นำมาหั่นตามขวางเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงในหม้อที่มีน้ำกำลังต้มเดือด ต้มเคี่ยว 5-10 นาที

3.  ถ้าชอบหวานให้เติมน้ำตาลทราย กรองเอากากออก จะได้น้ำใบเตยหอมไว้รับประทาน หรือจะเติมน้ำแข็งลงไปใช้ดื่มก็ได้ หรือจะชงเป็นชาดื่มร้อน ๆ เพื่อสุขภาพก็ดีทีเดียว

น้ำมะขาม-แก้ท้องผูก เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ

น้ำมะขามเป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากเนื้อมะขามเปียกใหม่ ๆ ที่แกะออกจากฝักมาละลายต้มน้ำ ซึ่งจะได้น้ำสมุนไพรที่มีคุณภาพดี

สรรพคุณ

แก้ท้องผูก เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ลดการกระหายน้ำ

ส่วนผสม

น้ำมะขามเปียกใหม่ ๆ 200 กรัม

น้ำตาลทรายตามชอบ

เกลือป่นตามชอบ

น้ำ 3 ลิตร

วิธีทำ

1.  ล้างเนื้อมะขามเปียก ให้สะอาดแล้วนำไปใส่ลงในหม้อเคลือบ เติมน้ำ ยกขึ้นตั้งไฟ พอเดือดคนให้เนื้อมะขามผสมกับน้ำให้มากที่สุดแล้วยกลง

2.  จากนั้นกรองเอาแต่น้ำใส่หม้อเคลือบ เอากากทิ้งไป ยกขึ้นตั้งไฟอีกครั้ง พอเดือดใส่น้ำตาล เกลือ ตามใจชอบ คนให้ละลาย เดือดสักครู่ ยกลงจากเตา

3.  ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วกรองใส่ขวด (ต้องนึ่งขวดก่อน)แล้วเก็บไว้ในตู้เย็น

4.  เวลารับประทานจะเติมน้ำแข็งก็ได้ ใช้เป็นเครื่องดื่มดับกระหายได้

น้ำมะนาว-แก้ไอ ขับเสมหะ ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

น้ำมะนาว เป็นน้ำสมุนไพรที่ใช้น้ำมะนาวสด ๆ บีบออกจากผลของมะนาวผสมกับน้ำต้ม จะได้น้ำสมุนไพรเอาไว้ดื่ม ชุ่มคอดีทีเดียว

สรรพคุณ

แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้กระหาย แก้ร้อนใน บำรุงธาตุ เจริญอาหารและแก้เลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิด

ส่วนผสม

น้ำมะนาวสด ๆ 1 ถ้วย

น้ำตาลทรายตามชอบ

เกลือป่นตามชอบ

น้ำสะอาด

วิธีทำ

1.  ทำน้ำเชื่อมก่อน โดยผสมน้ำตาลและน้ำ ตั้งไฟให้ละลาย ทิ้งให้พออุ่น ๆ

2.  จากนั้นใส่น้ำมะนาว เกลือลงในน้ำเชื่อมแล้วคนให้เกลือละลาย

3.  จะรับประทานแบบอุ่น ๆ หรือใส่น้ำแข็งลงไปก็ได้

น้ำบัว-แก้ท้องร่วง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงกำลัง

น้ำบัวเป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากรากบัวต้มกับน้ำ ใช้ดื่มเป็นน้ำสมุนไพรดับกระหาย

สรรพคุณ

แก้ท้องร่วง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเสมหะ บำรุงกำลัง

ส่วนผสม

รากบัว 2 ถ้วย

น้ำสะอาด 3 ถ้วย

น้ำตาลทรายแดงตามชอบ

วิธีทำ

1.  นำรากบัวมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วฝานเป็นชิ้นบาง ๆ

2.  นำไปต้มกับน้ำ จากนั้นเคี่ยวจนกระทั่งได้น้ำเป็นสีชมพูแล้วกรองเอากากทิ้งไป

3.  ถ้าชอบหวานเติมน้ำตาลทรายนิดหน่อย ตั้งไฟให้เดือด ชิมรสชาติตามใจชอบ ยกลงตั้งทิ้งไว้ให้เย็น

4.  แล้วบรรจุใส่ขวดที่นึ่งแล้วประมาณ 20-30 นาทีแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น จะได้น้ำรากบัวสีชมพู รสหวานเย็น

น้ำรางจืด-ถอนพิษเบื่อเมา ถอนไข้ พิษทั้งปวง

น้ำรางจืด เป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากใบรางจืดที่แก่ปานกลางต้มกับน้ำ หรือได้จากใบรางจืดมาหั่นเป็นฝอย ๆ แล้วนำไปตากแดดหรืออบให้แห้งแล้วนำมาชงเป็นชาสมุนไพรรางจืดได้เช่นกัน

สรรพคุณ

ใช้ถอนพิษเบื่อเมา ถอนพิษไข้และพิษทั้งปวง

ส่วนผสม

ใบรางจืดสด 1 กำมือ

น้ำเปล่า 3 ถ้วย

วิธีทำ

1.  นำใบรางจืดมาล้างน้ำให้สะอาดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่น้ำลงไปต้มเคี่ยวไปเรื่อย ๆ นานประมาณ 10 นาที ยกลงตักเอาน้ำรางจืดมาดื่มร้อน ๆ

2.  ส่วนที่เหลือเก็บไว้ต้มเคี่ยวในวันต่อไปจนกว่าน้ำสมุนไพรจะหมด

วิธีการชงชา

นำใบรางจืดแห้ง 1 หยิบมือมาใส่ในแก้วเทน้ำร้อนที่ต้มจนเดือดลงแก้วทิ้งไว้สักครู่ ให้ตัวยาละลายรอสักพักแล้วจึงดื่ม

น้ำว่านกาบหอย-แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ฟกช้ำภายใน

น้ำว่านกาบหอยเป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากใบนำมาต้มกับน้ำ ดื่มแก้ร้อนใน

สรรพคุณ

แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ ฟกช้ำภายใน

ส่วนผสม

ใบว่านกาบหอย 5-15 ใบ

น้ำสะอาด 2 ½ ถ้วย

น้ำตาลทรายตามชอบ

วิธีทำ

1.  ใบว่านกาบหอยสดมาล้างน้ำให้สะอาด

2.  จากนั้นหั่นตามขวางให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ

3.  ใส่ลงในหม้อน้ำเดือด ต้มให้เดือด 3-7 นาที เติมน้ำตาลทรายพอหวาน กรองเอากากทิ้งไป

4.  จะได้น้ำว่านกาบหอยสีชมพูอ่อนแล้วกรองใส่ขวดที่นึ่งแล้ว 20-30 นาที เย็นแล้วเก็บใส่ตู้เย็นเก็บไว้ดื่มได้หลายวัน

น้ำว่านหางจระเข้-บำรุงร่างกาย ทำให้สดชื่น กระปรี้ประเปร่า

น้ำว่านหางจระเข้เป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากวุ้นของหางจระเข้ผสมกับน้ำต้มเอาไว้ดื่มเหมาะสำหรับคนนอนดึกอ่อนเพลีย ดื่มแล้วทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า

สรรพคุณ

บำรุงร่างกาย ทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีท้องไม่ผูก

ส่วนผสม

ใบว่านหางจระเข้ 2 ใบ

น้ำต้มสุก 1 ถ้วย

น้ำเชื่อมตามชอบ

วิธีทำ

1.  เลือกใบว่านหางจระเข้ที่มีขนาดใหญ่ โตเต็มที่ ปอกเปลือกล้างน้ำให้หมดยางสีเหลือง

2.  แล้วนำไปใส่เครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุก ปั่นให้ละเอียด

3.  กรองด้วยผ้าขาวบาง เติมน้ำเชื่อมเล็กน้อย ใส่ขวด(ที่นึ่งแล้ว)

4.  เก็บไว้ในตู้เย็น ควรเตรียมดื่มไม่เกิน 2 วัน

น้ำข่า-รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

ข่าเป็นพืชสมุนไพรในครัวที่สามารถนำมาทำเป็นน้ำสมุนไพร โดยใช้เหง้าข่าแก่มาต้มกับน้ำ ใช้ดื่มร้อน ๆ

สรรพคุณ

รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้

ส่วนผสม

เหง้าข่าแก่สดหรือแห้ง 15 แว่น

น้ำ 1 ลิตร

วิธีทำ

1.  นำเหง้าข่ามาล้างน้ำให้สะอาด

2.  หั่นเป็นแว่นบาง ๆ ตั้งน้ำให้เดือด ใส่ข่าลงไป ต้มต่อไปอีก 5-10 นาที ยกหม้อลง

3.  ตักเอาแต่น้ำข่ามาดื่มร้อน ๆ ส่วนที่เหลือเก็บเอาไว้เคี่ยวใหม่ดื่มต่อไปจนกว่าน้ำจะหมด

น้ำมะตูม-แก้ร้อนใน บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร

น้ำมะตูม เป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากผลอ่อนของมะตูมมาฝานบาง ๆ แล้วตากแห้ง นำมาต้มกับน้ำ หรือนำมะตูมแห้งไปบดเป็นผง นำมาชงเป็นชามะตูมได้เช่นกัน

สรรพคุณ

เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร กินข้าวได้ แก้บิด แก้ร้อนใน ช่วยขับลม

ส่วนผสม

มะตูมแห้ง 3-5 แผ่น

น้ำ 7 ถ้วย

น้ำตาลตามชอบ

วิธีทำ

1.  นำมะตูมมาย่างไฟให้หอม ตั้งน้ำให้เดือด นำมะตูมมาใส่ลงไปในหม้อต้มนานประมาณ 30 นาที

2.  ตักเนื้อมะตูมออกใส่น้ำตาลปรุงรสตามชอบ พอน้ำตาลละลายยกหม้อลง

3.  นำน้ำมะตูมกรองผ้าขาวบางตักใส่ขวดเก็บไว้ในตู้เย็น เก็บไว้ดื่มได้นานขึ้น

วิธีการชงชา

ให้ใช้ผงมะตูม 1 ช้อนชา ละลายในน้ำร้อน 1 แก้ว ทิ้งไว้สักครู่ แล้วดื่มร้อน ๆ

น้ำหญ้าปักกิ่ง-ต้านโรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ และโรคเบาหวาน

น้ำหญ้าปักกิ่ง เป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากการใช้ทั้งต้นทั้งรากที่สด ๆ นำมาผสมกับน้ำต้ม เอาไว้ดื่มเพื่อสุขภาพ

ส่วนผสม

หญ้าปักกิ่ง 3 ต้น

เกลือ

น้ำสะอาด

วิธีทำ

1.  นำหญ้าปักกิ่งทั้งต้นทั้งรากที่สด ๆ ใหม่ ๆ ล้างน้ำให้สะอาด

2.  แล้วนำน้ำเกลือโดยผสมน้ำเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 กะละมังเล็ก(1 ลิตร) แช่ทิ้งไว้เพื่อฆ่าเชื้อต่าง ๆ

3.  นำหญ้าปักกิ่งมาล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง จากนั้นนำมาตำให้ละเอียดในครกดินเผาหรือครกไม้ (ควรเป็นครกใหม่)

4.  เติมน้ำต้มสุกแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำนั้นเอาไว้ดื่ม

หมายเหตุ

การทำน้ำหญ้าปักกิ่งสด ควรดื่มให้หมดในแต่ละครั้ง ไม่ควรทำค้างไว้ เพราะอาจทำให้สรรพคุณของยาเสื่อมได้ ผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารตอนเช้าครึ่งชั่วโมง และก่อนเข้านอนอีก 1 ครั้ง สำหรับเด็กครั้งละ ½ – 1 ช้อนโต๊ะ(ของแสลงต้องห้ามได้แก่ แตงกวา หน่อไม้ ผักบุ้ง ปลาเค็ม และเนื้อวัว)

น้ำหนุมานประสานประกาย-แก้อาการหอบหืด ไอเรื้อรัง แพ้อากาศ และเกสรดอกไม้

น้ำหนุมานประสานกาย เป็นน้ำสมุนไพรที่ได้จากใบสดมาต้มกับน้ำ ดื่มแก้หอบหืดได้ดี

สรรพคุณ

แก้อาการหอบหืด แก้ไอเรื้อรัง แพ้อากาศ และเกสรดอกไม้

ส่วนผสม

ใบหนุมานประสานกายสด 15 ใบ

น้ำสะอาด ½ ลิตร

วิธีทำ

นำใบหนุมานประสานกายต้มกับน้ำสะอาดแล้วดื่มต่างน้ำ หรือดื่มวันละหนึ่งครั้ง แก้หวัด และหอบหืด

ชาขี้เหล็ก-ช่วยเจริญอาหาร ช่วยให้นอนหลับ

ชาขี้เหล็กเป็นชาสมุนไพรที่ใช้ใบขี้เหล็ก เลือกใบขนาดกลางถึงใบค่อนข้างแก่(ปริมาณตามต้องการ)

สรรพคุณ

เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยเจริญอาหาร ช่วยให้นอนหลับสบาย แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันประจำนาน ๆ ใช้ดื่มเมื่อมีอาการ

วิธีทำ

1.  คัดเลือกเอาใบขี้เหล็กที่มีอายุขนาดพอเหมาะ ล้างให้สะอาด

2.  นำไปตากแดดให้แห้ง

3.  คั่วให้หอมด้วยไฟอ่อนหรืออบโดยใช้ไฟขนาดกลางให้แห้ง

4.  เก็บใส่ขวดโหล ปิดฝาให้มิดชิด

วิธีใช้

ขี้เหล็กสัก 1 หยิบมือใส่แก้วเทน้ำร้อนต้มเดือดลงไป ทิ้งไว้สักครู่ให้น้ำร้อนสกัดตัวยาออกมา จากนั้นจึงดื่ม

ชาดอกคำฝอย-บำรุงเลือด ขับระดู ขับเหงื่อ ระงับประสาท

โดยทั่วไป จะนิยมนำดอกคำฝอยแห้งมาชงเป็นชาแล้วจะดื่มร้อน ไม่นิยมไปต้มเป็นน้ำดอกคำฝอยสมุนไพร

สรรพคุณ

เป็นยาระบาย ขับเหงื่อ ระงับประสาท บำรุงเลือด ขับระดู ระงับอาการปวดในสตรีที่รอบเดือนมาไม่ปกติ บำรุงคนที่เป็นอัมพาต โรคดีซ่าน โรคไขข้ออักเสบ

ส่วนผสม

ดอกคำฝอยแห้ง 1 กรัม

น้ำต้มสุก 1 ถ้วย

วิธีทำ

1.  เลือกดอกคำฝอยใหม่ ๆ จะมีสีแดงสด มีกลิ่นหอม ถ้าเป็นดอกที่เก่าเก็บสีแดงอมน้ำตาลกลิ่นไม่หอม

2.  ชงด้วยน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ 3-5 นาที กรองด้วยผ้าขาวบาง จะได้น้ำดอกคำฝอยสีเหลืองส้มดื่มร้อน ๆ

ชาชุมเห็ดเทศ-แก้ท้องผูก เป็นยาระบาย

ชาชุมเห็ดเทศได้จากใบชุมเห็ดเทส ขนาดไม่อ่อนและแก่เกินไป จำนวนมากตามต้องการที่ใช้ แต่ควรเก็บใบก่อนออกดอก ทำให้ได้ชาสมุนไพรที่มีคุณภาพดี

สรรพคุณ

ใช้เป็นยาระบาย แก้ท้องผูก ควรใช้เมื่อเกิดอาการท้องผูก หรือจำเป็นต้องใช้เท่านั้น ถ้าใช้ติดต่อกันระยะยาวจะทำให้ลำไส้เคยชินกับยาจะขับถ่ายเองไม่ได้

วิธีทำ

1.  นำใบชุมเห็ดเทศไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง

2.  นำไปคั่วให้หอมหรืออบ หรือจะบดเป็นผงละเอียด แล้วใช้ถุงชาบรรจุ

3.  เก็บใส่ขวดปิดฝามิดชิด

วิธีใช้

ใบชา 1 หยิบมือใส่แก้ว เทน้ำร้อนจนเดือดลงไป รอตัวยาละลายออกมาก่อนสักพักจึงดื่ม

ชาหญ้าหนวดแมว-บำรุงไต ขับปัสสาวะ ลดน้ำตาลในเลือด

ชาหญ้าหนวดแมว เป็นชาสมุนไพรที่ได้จากหญ้าหนวดแมว ส่วนที่เป็นยอด ใบ กิ่งอ่อน จนไปถึงใบและกิ่งจวนแก่

สรรพคุณ

แก้นิ่ว แก้อาการขัดเบา บำรุงไต ขับปัสสาวะ ช่วยขับกรดยูริคในรายที่เป็นโรคเก๊าท์ ช่วยลดน้ำตาลในเส้นเลือดในรายที่เป็นเบาหวาน

วิธีทำ

1.  นำหญ้าหนวดแมวมาล้างให้สะอาด

2.  หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นก็นำไปผึ่งแดด ประมาณ 2-3 แดด จนแห้งดี(การตากต้องเก็บก่อนแดดหมด อย่าให้ถูกน้ำค้างไม่เช่นนั้นหญ้าหนวดแมวจะมีสีดำ)

3.  จากนั้นนำไปคั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้หอม

4.  ใส่ขวดหรือถุงแห้ง ปิดฝาให้สนิท ไว้ต้มดื่ม

วิธีใช้

1.  หญ้าหนวดแมว 1 หยิบมือต้มกับน้ำเปล่า 1 ขวดน้ำปลา ต้มให้เดือด ทิ้งไว้ให้อุ่น ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

2.  หยิบหญ้าหนวดแมวสักเล็กน้อยใส่ถ้วยแก้ว แล้วเทน้ำร้อนเดือด ๆลงไป ทิ้งไว้สักพัก รอให้อุ่นจึงดื่ม