น้ำหมักชีวภาพ:น้ำหมักชีวภาพ พด.6 กับ อีเอ็มบอล

จากกรณีที่มีหลายหน่วยงานได้ออกมาสนับสนุนและช่วยเหลือในการฟื้นฟูบำบัดน้ำเน่าเสียในพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วยผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละหน่วยงานที่ทำขึ้นมา  แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจและเรียกรวมผลิตภัณฑ์ที่บำบัดน้ำเสียว่า อีเอ็ม หรือ อีเอ็ม บอล

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู  หรือเห็นเมื่อเกิดการเกาะกลุ่มกัน  ซึ่งจุลินทรีย์ ประกอบด้วย แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และยีสต์  ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ และเป็นจุลินทรีย์ที่มีทั้งประโยชน์และโทษ สำหรับ EMที่ใช้กันมากทางการเกษตร  ย่อมาจากคำว่า Effective Microorganism แปลว่าจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นหลักการเดียวกัน ที่นำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ขณะนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เกิดการเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น จึงได้มีการคัดเลือกจุลินทรีย์กลุ่มหนึ่งมาใช้ประโยชน์ แต่มีการเรียกชื่อผลิตภัณฑ์ของแต่ละหน่วยงานตลอดจนการผลิตขายโดยเอกชน ในชื่อที่แตกต่างกัน รวมถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างกัน เช่น เป็นของเหลว เป็นลูกบอล หรือเป็นผง

ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดิน ได้เรียกว่า “น้ำหมักชีวภาพ พด.6”  โดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะได้คัดเลือกเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.6 ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ประกอบด้วย ยีสต์ ทำหน้าที่ผลิตแอลกอฮอล์ช่วยรักษาความสะอาด แบคทีเรียย่อยโปรตีน และแบคทีเรียย่อยไขมัน ช่วยย่อยสลายซากสัตว์และไขมันได้เร็วขึ้น ไม่ให้เกิดการหมักหมม จนเกิดการเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น รวมทั้งแบคทีเรียที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวร้ายที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเหม็น  แล้วนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้ในรูปของเหลวสีน้ำตาล เรียกว่า น้ำหมักชีวภาพ พด.6  ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้พัฒนาและใช้มาตั้งแต่ปี 2547 แล้ว  รวมทั้งได้มีการศึกษา วิจัยทดสอบถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ จนเป็นที่มั่นใจได้ในประโยชน์ของน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ดังกล่าว  รวมทั้งได้มีการนำไปใช้ในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่นเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ของไทย และเหตุการณ์พายุนากิสถล่มประเทสพม่า

นายธวัชชัย  สำโรงวัฒนา  อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สำหรับการผลิตน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีปัญหาน้ำท่วมขัง เกิดการเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็นในครั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากระบวนการผลิตและคุณภาพน้ำหมัก  จะได้รับการควบคุมและตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ  เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานตามที่กำหนด ประกอบกับได้มีการนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้ผลเป็นที่ยอมรับและมีเสียงยืนยันตอบรับที่ดี  ดังนั้น  จึงยืนยันได้ว่าน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ที่กรมพัฒนาที่ดินผลิตขึ้นนั้น สามารถนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเน่าเสียในชุมชนได้จริง และไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ ตลอดจนไม่ส่งผลทำให้น้ำเน่าเสียมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม การนำน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ไปใช้งาน  ถ้าต้องการใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องใช้ในบริเวณน้ำนิ่ง และใช้ในปริมาณที่เหมาะสม คือ น้ำหมักชีวภาพ 50 ลิตร ต่อพื้นที่ 250 ตร.ว. ที่ระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 ซม.  ซึ่งถ้าพื้นที่ใดมีระดับน้ำสูงกว่านี้ ก็ให้เพิ่มสัดส่วนน้ำหมักชีวภาพ พด.6 ขึ้นไปอีก และถ้ากลิ่นยังไม่หาย สามารถใส่ซ้ำได้อีกในอัตราส่วนเดิม เช่น พื้นที่ 1 ไร่ ระดับน้ำสูง 50 ซม. ใช้หมัก 80 ลิตร พื้นที่ 100 ตร.ว. ระดับน้ำสูง 50 ซม. ใช้น้ำหมัก 20 ลิตร พื้นที่ 100 ตร.ม. ระดับน้ำสูง 50 ซม.ใช้น้ำหมัก 5 ลิตร โดยเทในน้ำเสียทุกๆ 3-7 วัน จนกว่าน้ำจะใสและกลิ่นลดลง

เกษตรกรหรือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำเน่าเสียสามารถแจ้งขอรับการช่วยเหลือได้ที่ กรมพัฒนาที่ดิน ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กท. 10900 โทรฯสายด่วน 1760 กด 7 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดทั่วประเทศ