น้ำเต้าต้น

(Calabash Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Crescentia cujete L.
ชื่อวงศ์ BIGMOMIACEAE
ชื่ออื่น น้ำเต้าญี่ปุ่น
ถิ่นกำเนิด อเมริกากลาง
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-9 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-10 ม. ไม่ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลมโปร่ง แตกกิ่งก้านแผ่กว้างปลายกิ่งห้อยย้อย เปลือกต้นสีนํ้าตาลอ่อนอมเทา เรียบ หรือแตกล่อนเป็นแผ่นบางๆ


ใบ ใบเดี่ยว รวมกันเป็นกระจุก 3-7 ใบ เรียงสลับรูปไข่กลับแกมรูปช้อน กว้าง 2.5-5.5 ซม. ยาว 8-18 ซม. ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบ สอบเรียวเป็นครีบ ขอบใบห่อเข้าทางผิวใบด้านล่างและเป็นคลื่น แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียวและย่นเป็นลอน สีเขียวสด ไม่มีก้านใบ
ดอก สีเขียวอมเหลือง มีลายริ่วสีชมพูอมม่วงเข้ม ดอกเดี่ยวหรือคู่ออกที่ลำต้นและกิ่ง ดอกห้อยลง ก้านดอกยาว 1.5-2.5 ซม. กลีบเลี้ยง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 2 แฉก กลีบดอกโคน เชื่อมติดกันเป็นหลอดขนาดใหญ่ ยาว 5-7 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกร่วงง่าย เกสรเพศผู้ 4 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 3-5 ซม.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 13-20 ซม. ก้านผลยาว 4-6 ซม. เปลือกแข็งหนา ผลอ่อนสีเขียวสด เมื่อสุกมีสีเหลืองอมเขียว เมล็ดทรงกลมแบนสีน้ำตาลเข้ม ฝังอยู่ในเนื้อจำนวนมาก ออกดอกติดผลตลอดปี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง
นิเวศวิทยา พบปลูกเลี้ยงอยู่ทั่วไป
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือก นำมาต้มกับน้ำ ให้ทาน
เฉพาะน้ำ แก้ท้องเดินและใช้ล้างแผล ผลดิบ เป็นยาระบายอ่อนๆ แต่ถ้าทานมากเกินไปจะทำให้ท้องเสียได้ เนื้อในผลเป็นยาขับปัสสาวะ แก้บิด ยาระบาย แก้ไข้ พอกแก้ปวดศีรษะ แต่จะเป็นพิษต่อสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ และนกต่างๆ ใบ นำใบสดมาตำหรือบดก็ได้ ให้ละเอียด แล้วนำมาพอกแก้ปวดศีรษะ
หมายเหตุ ต้นที่คล้ายกันคือ ตีนเป็ดฝรั่ง (Crescentia alata HBK.)
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย