บร๊อคโคลี

1.กะหล่ำดอกอิตาเลียนหรือที่คนไทยโดยทั่วไปเรียกตามชื่อสามัญว่า บร๊อคโคลี (Broccoli) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Brassica olercea L.var.italica Pleneck อยู่ในตระกูล Cruciferae เป็นพืชผักเมืองหนาวมีถิ่นเดิมอยู่ทางตอนใต้ของยุโรปหรือแถว ๆ ประเทศอิตาลี และเริ่มมีมากนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ โดยในระยะแรก ๆ ทำการปลูกทางแถบภาคเหนือ ซึ่งผลผลิตมีน้อยราคาในช่วงนั้นจึงอยู่ในขั้นแพง เนื่องจากเป็นของแปลกใหม่และมีได้เฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพันธุ์ให้ทนร้อนได้มากขึ้น ในช่วงฤดูการผลิตจึงสามารถปลูกในภาคอื่นได้เหมือนกัน แต่สำหรับนอกฤดูนั้นปลูกได้เฉพาะทางภาคเหนือที่มีอากาศเย็นบางเขตเท่านั้น

ลักษณะของบร๊อคโคลี คือ มีใบกว้างสีเขียวเข้มออกเทา ริมขอบใบเป็นหยัก ทรงพุ่มใหญ่เก้งก้างลำต้นใหญ่และอวบ ดอกอยู่รวมกันเป็นกลุ่มช่อหนาแน่นดูเป็นฝอย ๆ สีเขียวเข้ม ดอกมีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 เซนติเมตร โดยทั่วไปนิยมกินตรงส่วนที่เป็นดอกและลำต้นนิยมรองลงมา แต่ในด้านคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะวิตามินซี กลับมีอยู่มากในส่วนของลำต้น ดังนั้นหลังจากเก็บไว้แล้ว พบว่าดอกลายเป็นสีเหลือง อย่าเพิ่งทิ้งนำเอาส่วนลำต้นมาทำอาหารกินยังได้และดีกว่าด้วย  บร๊อคโคลีมีรสหวาน กรอบ จึงเป็นที่นิยมกันของคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในช่วงฤดูหนาวพืชผักต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดีทำให้ผลิตผลพืชผักในระยะนั้นมีมากจนเกินความต้องการของตลาด เกษตรกรบางรายผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ บางรายขายได้ในราคาที่ต่ำมาก ยกตัวอย่างเช่น ผักคะน้า ช่วงฤดูฝนประมาณเดือน กันยายนราคาขายส่งกิโลกรัมละ 10 บาท แต่พอถึงช่วงหน้าหนาวราวเดือนพฤศจิกายน- ธันวาคม เหลือราคากิโลกรัมละ 0.50 บาทเท่านั้น ดังนั้นในระยะช่วงฤดูหนาวเกษตรกร จึงควรจะวางแผนการปลูกผักให้ดีเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสินค้าล้นตลาดจึงมีเกษตรกรบางรายหันมาปลูกพืชผักที่คนไทยนิยมกันใหม่ ๆ อยู่อย่างเช่น บร๊อคโคลี เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังมีผู้ปลูกกันไม่มากนักจึงไม่เกิดการล้นตลาดขึ้น เพราะยังผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่ว่าในด้านราคานั้นในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูกาลของบร๊อคโคลีราคาจะได้ไม่สูงนัก (ราคาขายส่งตลาดกรุงเทพฯ ปี 2528 ประมาณ15 บาท/กก.  เกษตรกรควรจะตัดสินใจในเรื่องต้นทุนและระยะเวลาการเพาะปลูกว่าจะคุ้มค่าที่จะปลูกหรือไม่

แหล่งที่ปลูกบร๊อคโคลีกันมาก ได้แก่ เพชรบูรณ์ กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ช่วงที่เหมาะสมคือเดือนตุลาคม-มกราคม อุณหภูมิที่ชอบประมาณ 18-27 องศาเซลเซียส

คุณค่าทางโภชนาการของบร๊อคโคลี น้ำหนัก 155 กรัม หรือประมาณหนึ่งขีดครึ่งให้พลังงาน 40 แคลอรี่ โปรตีน 5 กรัม ไขมัน 1 กรัม คาร์โบไฮเดรท 7 มิลลิกรัม วิตามินเอ 3,880 (หน่วยสากล) ไทอามิน 0.14 กรัม ไรโมฟลาวิน

0.31 มิลลิกรัม ไนอาซีน 1.2 มิลลิกรัม และวิตามินซี 140 มิลลิกรัม

พันธุ

บร๊อคโคลีมีอยู่หลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ปลูกในประเทศไทยได้คือ

1.พันธุ์ เด ซิกโก (De Cicco) มีอายุประมาณ 65 วัน

2.พันธุ์ซากาต้า หรือพันธุ์ Green Duke อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 60 วัน

3.พันธุ์ กรีน โคเมท (Green Comet) เป็นพันธุ์จากญี่ปุ่นเก็บเกี่ยวได้เร็ว ประมาณ 40 วัน ให้ผลผลิตสูง มีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาด

4.พันธุ์ชองเจือโตให้ผลผลิตสูงเกษตรกรสวนผักส่วนใหญ่ ซื้อเมล็ดพันธุ์ผักจากร้านค้าที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ทั่ว ๆ ไป หรือซื้อจากพ่อค้าคนกลางผู้มารับซื้อผักของตน โดยเกษตรจะเลือกใช้พันธุ์ใดมักจะขอคำแนะนำจากผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์หรือคำแนะนำจากผู้ที่เคยใช้มาก่อน หรือจากประสบการณ์ของตัวเอง คำแนะนำที่เกษตรกรได้รับบางครั้งก็ถูกต้องบางครั้งก็ไม่ถูกต้องทำให้เกษตรกรต้องเสี่ยงอยู่บ้าง ราคาเมล็ดพันธุ์ของบร๊อคโคลีค่อนข้างแพง   และราคาขายตามร้านค้าย่อยก็ยิ่งแพงกว่าราคาขายแถวปากคลองตลาดมากอีกด้วย พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมใช้กันอยู่ก็มีพันธุ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าตราลูกโลก ตราช้าง ตราปลาทอง ซึ่งเมล็ดมีความงอกดีและสม่ำเสมอใช้ได้

ทางด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์บร๊อคโคลีของส่วนราชการ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรก็มีการผลิตขึ้นมาได้บ้างแล้วเหมือนกันคือ ในปี 2528 ผลิตได้ 15 กก. ปี 2529 กะว่าจะผลิตได้ 105 กก.และเป้าหมายในปี 2530-2531 คาดว่าจะ ผลิตได้ 180-285 กก. ซึ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เองในประเทศได้มากขึ้นจะทำให้ราคาของเมล็ดพันธุ์ลดลงเป็นการช่วยให้เกษตรลดต้นทุนการผลิตและได้พันธ์ที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศของไทย รวมทั้งมีความต้านทานโรคได้ดีอีกด้วย

การเตรียมดิน

การเตรียมดินแบ่งเป็น 2 ส่วน คือแปลงเพาะกล้า กับแปลงปลูก

แปลงเพาะกล้า ขุดพลิกดินลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ตากดินไว้ 5-7 วัน ทำการย่อยพรวนดินให้แตกเป็นก้อนเล็ก ผสมปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกหรือใส่ปุ๋ยขี้เป็ดผสมกากถั่วในอัตรา 300 กก./ไร่ สำหรับการปลูก 1 ไร่ ควรเตรียมแปลงเพาะกล้าขนาดประมาณ 5-10 ตารางเมตร

แปลงปลูก ขุดพลิกดินลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ตากดินไว้สัก 7-10 วัน แล้วย่อยพรวนดินใส่ปุ๋ยขี้เป็ดหรือปุ๋ยคอกอื่น ๆ ในอัตราประมาณ 300 กก./ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากันใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินที่มีค่าพีเอชเกิน 6-6.8 ในอัตราพอเหมาะกับสภาพความเป็นกรดมากกรดน้อยของดินประมาณ 380-1,000 กก./ไร่

การเพาะกล้า

บร๊อคโคลี เป็นผักตระกูลกะหล่ำที่มีทรงพุ่มใหญ่กว่าผักจำพวกกินใบ ต้องการระยะการปลูกระหว่างต้นพอสมควร จึงควรจะเพาะกล้าในแปลงเล็ก ๆ เสียก่อน แล้วจึงค่อยย้ายกล้าให้ได้ระยะตามต้องการ การหว่านเมล็ดในแปลงเพาะอาจจะใช้วิธีหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วแปลงอย่างสม่ำเสมอซึ่งอาจจะผสมเมล็ดกับทรายเพื่อให้มีลักษณะการกระจายของเมล็ดพันธุ์ได้ดียิ่งขึ้น หรืออาจจะใช้โรยเมล็ดเป็นแถว โดยมีระยะแถวห่างกัน 15 เซนติเมตร คลุมฟางแห้งลงบนแปลงบาง ๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม การดูแลเรื่องโรคและแมลงอย่างใกล้ชิด

การเพาะกล้าเพื่อให้ปลูกในเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 100-150 กรัม หว่านลงในแปลกปลูกขนาด 5-10 ตารางเมตร ซึ่งหากต้องการเพิ่มหรือลดเนื้อที่ปลูกก็เพิ่มหรือลดเมล็ดพันธุ์ตามอัตราส่วนหรือหากในบริเวณที่ทำการเพาะปลูกมีสภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย เช่น ความชื้นในดินไม่เหมาะสม มีโรคและแมลงรบกวนมาก ก็ควรใช้เมล็ดพันธุ์เพาะกล้ามากขึ้น ในปริมาณเมล็ดพันธุ์หนัก 100 กรัม หลังจากเพาะกล้าแล้วประมาณว่าจะได้ต้นกล้าที่แข็งแรงประมาณ 17,800 ตัน (เมล็ดหนัก 100 กรัม มีจำนวนเมล็ด 31,770 เมล็ด)

อุณหภูมิในดินที่เหมาะสำหรับการงอกของเมล็ดพันธุ์บร๊อคโคลี อยู่ใน ระหว่างช่วง 7.2-29.4 องศา แต่ช่วงที่อุณหภูมิเหมาะสมที่สุดคือช่วง 26.6 องศาเซลเซียส

วิธีปลูก

หลังจากต้นกล้ามีอายุ 25-30 วัน จึงทำการถอนกล้าไปปลูก วิธีการย้ายไปปลูกทำเหมือนการย้ายปลูกผักอื่น ๆ คือทำการถอนกล้าเอาไว้ก่อนในเวลาเช้า ตอนแดดยังอ่อน ๆ ก่อนถอนกล้ารดน้ำในแปลงก่อนเพื่อจะได้ถอนได้ง่าย ตอนถอน ต้องระมัดระวังอย่าให้ลำต้นชอกช้ำเพราะจะทำให้ตายหลังจากปลูก วิธีถอนโดยใช้มือดึงตรงส่วนใบขึ้นมาตรง ๆ ไม่ใช่จับที่ลำต้นเพราะอาจจะทำให้ช้ำได้เมื่อถอนแล้ว ใส่เข่งเอาผ้าชุบน้ำคลุมเก็บไว้ในที่ร่มพอตอนเย็นแดดอ่อน ๆ ประมาณบ่าย 3-4 โมง จึงนำมาปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมรดน้ำเอาไว้แล้วใช้นิ้วชี้เจาะดินเป็นรูปักต้นกล้าลงไปแล้วกดดินพอประมาณไม่ต้องถึงกับแน่น ระยะปลูกระหว่างต้นห่างประมาณ 30-60 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถวห่างประมาณ 50-100 เซนติเมตร สำหรับการเลือกกำหนดระยะปลูกให้ห่างเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะอากาศ ถ้าอากาศค่อนข้างร้อนก็ปลูกถี่หน่อยถ้าอากาศเย็นก็ปลูกได้ห่าง หรือตามสภาพความสมบูรณ์ของดินคือ ถ้าดินเลวก็ปลูกถี่ ดินดีก็ปลูกห่าง ผลของการปลูกห่างก็คือจะทำให้ลำต้นโต ได้เต็มที่ไม่ต้องเบียดกัน จะทำให้ได้ดอกใหญ่ขึ้น น้ำหนักต่อต้นสูง และไม่เกิดโรคเน่า ที่เกิดจากต้นพืชเบียดแน่นกันเกินไป หลังจากปลูกแล้วคลุมดินด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้งบาง ๆ เพื่อช่วยให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็ว ช่วยรักษาความชื้นของดิน และภายหลัง เมื่อผุพังแล้วยังกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ดินอีกด้วย เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การให้น้ำ

การให้น้ำแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกหลังจากที่ปลูกใหม่ ๆ พืชไม่ต้องการน้ำมากนัก แต่ต้องการอย่างสม่ำเสมอในปริมาณพอดี ๆ อย่าให้แฉะเกินไป ระยะนี้ รดน้ำวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น โดยการใช้เครื่องฉีดน้ำพ่นฝอยหรือใช้บัวรดน้ำเป็นฝอยทั่วแปลง

ระยะที่สอง คือ เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเป็นต้นใหญ่จนถึงระยะเกิดดอก ผักต้องการน้ำมากขึ้นเพราะเมื่อผักโตก็เกิดการสูญเสียน้ำได้ง่ายขึ้นและตอนพัฒนาการ ของดอกน้ำเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะทำให้ดอกเจริญเติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอและสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นจะขาดน้ำไม่ได้ การให้น้ำสำหรับระยะนี้ให้วันละ 2-3 เวลา ในปริมาณที่มากขึ้นกว่าช่วงแรก

การใส่ปุ๋ย

ปุ๋ยสูตรที่เหมาะสมจะเป็นอาหารของบร๊อคโคลีคือสูตร 10-10-20 หรือสูตร 13-13-21 การใส่แบ่งใส่ 2 ครั้ง ๆ ประมาณ 25-27 กก./ไร่ โดย ใส่ครั้งแรกเป็นปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูกหรือใช้กลบฝังข้างร่องแถวปลูก ครั้งที่สองใส่หลังจากปลูกได้ประมาณ 20 วัน แบบโรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบสำหรับปลูกแบบเป็นไร่ ส่วนแปลงปลูกแบบเป็นร่องมีคูน้ำล้อมแบบภาคกลาง การใส่ปุ๋ยวิธีดังกล่าวอาจจะทำไม่สะดวกนัก ชาวสวนจึงใช้วิธีหว่านปุ๋ยลงกระจายทั่วแปลงซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองปุ๋ยมากและพืชดูดไปเลี้ยงลำต้นได้ไม่เต็มที่ เพื่อความประหยัดและได้ผลจริง ๆ ชาวสวนควรใส่ด้วยวิธีข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบจะดีกว่า

ปุ๋ยเสริมอาจจะให้ยูเรียหรือแอมโมเนียไนเตรท เมื่อเห็นว่าพืชเจริญเติบโต

ช้าในอัตราประมาณ 20 กก./ไร่ โดยวิธีให้ปุ๋ยแบบเดียวกับวิธีข้างต้น แบ่งได้ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้เมื่ออายุประมาณ 7 วัน ครั้งที่สองให้เมื่ออายุประมาณ 30 วัน บร๊อคโคลี ควรได้ธาตุอาหารรองคือ ธาตุโบรอน และโมลิบดินัมด้วย ดินที่ใส่ปูนขาวมักจะไม่ ค่อยขาดธาตุนี้

โรคที่สำคัญ

โรคของผักตระกูลกะหล่ำที่พบมากก็คือ โรคเน่าเละ ทำให้ต้นเน่ายุบ ลงไปทั้งต้น สันนิษฐานว่าเกิดจากมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปทางบาดแผลที่หนอนหรือเชื้อราทำลายไว้ก่อนโรคเน่าเละมักพบเกิดร่วมกับโรคโอกีนหรือโรคไส้ดำที่เกิดจากขาดธาตุโบรอน โรคนี้ทำความเสียหายแก่ต้นผักทั้งต้น เมื่อพบเห็นต้นที่เป็นโรคระบาด ควรรีบถอนไปทำลายทิ้งเสียและหากมีโรคระบาดมากไม่ควรจะปลูกพืชตระกูลนี้ซ้ำที่อีกควรเปลี่ยนไปปลูกพืชตระกูลอื่นหมุนเวียนบ้าง

แมลงที่สำคัญ

จุดที่แมลงศัตรูของผักบร๊อคโคลีเข้าทำลายก็คือใบและดอก โดยที่เป็นผักที่เรานิยมรับประทานดอกและลำต้น เกษตรกรจึงไม่กังวลถึงความสวยงามของใบเวลาขาย แต่ถ้าหากพบว่ามีแมลงศัตรูระบาดก็จำเป็นต้องฉีดพ่นยาป้องกันกำจัด เสียเพื่อมิให้ระบาดไปยังดอกหรือระบาดไปต้นอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้ผักเจริญเติบโตได้ไม่ดี แมลงศัตรูที่พบ ได้แก่ หนอนคืบกะหล่ำ, หนอนใยผัก, หนอนกะหล่ำปลี, หนอนกระทู้หอม

การเก็บเกี่ยว

อายุของบร๊อคโคลีนับตั้งแต่วันย้ายปลูกจนถึงวันตัดขายได้ ประมาณ 70-90 วัน โดยเลือกตัดดอกที่มีกลุ่มดอกเกาะตัวกันแน่น โตขนาดประมาณ 10-16 เซนติเมตร และต้องรีบตัดดอกก่อนที่จะบานกลายเป็นสีเหลือง ซึ่งจะขาย ไม่ได้ราคาเพราะผู้ซื้อมักเข้าใจว่าเป็นผักที่ไม่สด ไม่น่ารับประทานใช้มีดตัดต้นชิดโคน แล้วขนออกมาตัดแต่งข้างนอกแปลงตัดแต่งให้เหลือทั้งต้นและดอกยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ตัดใบออกให้เหลือติดดอกประมาณ 2 ใบ เพื่อเอาไว้พันรอบดอก เป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับดอกในระหว่างการขนส่ง ผลผลิตในฤดูร้อนจะได้ประมาณ 1,300-1,500 กก./ไร่ แต่ถ้าในฤดูหนาวจะได้ผลผลิตถึง 2,000-3,000 กก./ไร่

การดูแลหลังการเก็บเกี่ยว

ปัญหาของดอกบร๊อคโคลีหลังการเก็บเกี่ยวก็คือ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสีของดอกเร็วมากโดยเฉพาะดอกที่ย่อยใกล้จะบานก่อนที่จะตัดออกมา คือเมื่อดอกย่อย ที่เป็นสีเขียวบาน จะกลายเป็นสีเหลืองทำให้ขายไม่ได้ราคา บางทีหลังจากตัดออกมา เพียงชั่ววันหรือคืนเดียว ดอกย่อยก็จะบานเหลืองดูคล้ายกับผักไม่สด สาเหตุเป็นเพราะ อุณหภูมิร้อนเกินไป

ในต่างประเทศมีวิธีการเก็บรักษาผักและผลไม้แบบควบคุมบรรยากาศ ให้อุณหภูมิต่ำ (Controlled atmosphere storage = CA) ซึ่งสามารถเก็บรักษาคุณภาพและยืดอายุของผักและผลไม้ได้ดีกว่า การทำให้อุณหภูมิต่ำเพียงอย่างเดียว ซึ่งในเมืองไทยยังไม่สามารถทำได้ แต่ขณะนี้ก็มีการทดลองเก็บรักษาแบบดัดแปลงบรรยากาศ (modified atmosphere storage = M.A) ซึ่งการทดลองทำโดยเก็บรักษาบร๊อคโคลีไว้ที่อุณภูมิต่ำ 1-10 องศาเซลเซียล เติมคาร์บอนไดออกไซค์ เข้าไป 10% แล้วเก็บเอาไว้เป็นเวลาถึง 28 วัน ดอกก็ยังคงมีสีเขียวราวกับเพิ่งตัดจากสวนใหม่ ๆ ซึ่งชาวสวนหรือผู้ทำการขนส่งที่ต้องเก็บรักษาคุณภาพได้นานวัน กว่าปกติอาจจะทำได้โดยพยายามป้องกันไม่ให้อากาศร้อนมากเกินไปก็คงจะพอช่วยได้บ้าง