บอนไซไม้แคระ

ที่มา:สนาน กฤษณะเศรณี

อดีตประธานชมรมบอนไซไม้แคระแห่งประเทศไทย

ไม้บอนไซเป็นไม้ประดับและตบแต่ง ภายในและภายนอกอาคารบ้านเรือนได้อย่างโอ่อ่าสวยงามมากเป็นของใหม่สำหรบประเทศไทยเรา และมีผู้นิยมกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น บอนไซเป็นไม้ที่คงรักษาธรรมชาติจากตามป่าและเขาได้อย่างดีเยี่ยม มีทั้งไม้ใบประดับและไม้ดอกในประเทศญี่ปุ่นนิยมกันมากทั่วทั้งประเทศ บอนไซเป็นไม้ใช้แทนเป็นไม้ประดับแจกัน ดอกไม้ แจกันดอกไม้เราใช้มาประดับตามโต๊ะรับแขกแต่บอนไซก็สามารถเป็นแจกันได้เช่นกัน ส่วนดีมากก็คือ ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ๆ ภายนอกอาคารบอนไซเป็นไม้ประดับนอกอาคารได้ดีเยี่ยม

บอนไซ (Bonsai) เป็นชื่อเรียกตามภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลว่า ไม้ซึ่งย่อมาจากไม้ที่เกิดจากตามธรรมชาติ มาจัดวางลงในกระถางเล็กเป็นประเภทไม้แคระแกรน ดูแล้วมีอารมณ์จากธรรมชาติจริง ๆ ต้นกำเนิดเดิมมาจากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้คิดค้นขึ้นมาจนเผยแพร่ นิยมกันมากขึ้นแม้ชาวต่างประเทศก็นิยมกันมาก เช่น อเมริกา อังกฤษ จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยเราก็นิยมกันมากเช่นกัน ญี่ปุ่นถือบอนไซเป็นเสมือนหนึ่งของวัตถุโบราณ นิยมกันเป็นร้อย ๆ ปีมาแล้ว เป็นสิ่งประหลาดสำหรับผู้พบเห็น เพราะเป็นไม้เล็ก ๆ แคระแกรนแต่คงสภาพรักษาธรรมชาติเอาไว้และเจริญสมบูรณ์เท่าต้นไม้ใหญ่ ซึ่งอยู่ตามป่าและเขานำมาปลูกลงในภาชนะหรือกระถางเล็ก ซึ่งจำกัดบริเวณที่เล็กและคับแคบให้อาหาร ปุ๋ย นํ้า แต่น้อย จึงนับว่าเป็นสิ่งประหลาดได้อย่างหนึ่ง คือ รักษาความเป็นต้นไม้ตามธรรมชาติไว้ได้โดยไม่มีอาการเฉาหรือตาย

บอนไซ เป็นต้นไม้ตามธรรมชาติเป็นลักษณะย่อให้เล็กตามลำต้นบิดงอ ย่อส่วนจากไม้ใหญ่ให้เล็กลง และเลิกความเจริญเติบโต ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรจึงจะได้ใม้บอนไซที่ดี และสวยงามเพื่อนำมาปลูกและประดับอาคารบ้านเรือน โดยไม่ต้องเสียใจภายหลัง

ลักษณะที่ดีของไม้บอนไซ

สำหรับประเทศไทย นักนิยมทำบอนไซได้ดีเท่าเทียมกับประเทศญี่ปุ่นเหมือนกัน วิธีการก็คล้ายคลึงกันมาก แต่มีเหตุขัดแย้งกันอยู่บ้างก็คือ ดินฟ้าอากาศ และพันธุ์ไม้ ไม้บางชนิดซึ่งมีผู้นำมาจากต่างประเทศ พอมาโดนอากาศของประเทศเราเข้าครั้งแรกก็งามดีอยู่ แต่พอนานเข้าเป็นปีสองปี ไม้บางชนิดเกิดอาการอับเฉาและตาย แต่บางชนิดกลับชอบอากาศเมืองไทย และเจริญงอกงามสวยงามมาก เช่น ไทรใบกลม ไทรใบมัน เป็นต้น

การทำบอนไซในประเทศเรา นักนิยมมักค้นหาไม้ซึ่งมีรูปร่างงดงาม และถูกใจได้ก็ด้วยการหาไม้ที่ขึ้นในที่ราบสูง และในบริเวณที่ ๆ มีความแห้งแล้ง ตามเขาตามป่าซึ่งเป็นไม้ที่มีเนื้อแข็งทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี การค้นหาพันธุ์ไม้ตามป่าเราจะต้องคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี เช่น ตะโก มะสัง หมากเล็ก หมากน้อย พุดป่า ฯลฯ บางคนนิยมประเภทตอไม้ บางคนนิยมพันธุ์ไม้ที่ขึ้นแบบตามธรรมชาติ (คือไม้สุดยอด) บางคนนิยมพันธุ์แบบไม้เลื้อย ลงตามลำธารหรือลงนํ้า (เรียกว่าไม้เอนซาย) เราจะเลือกค้นพันธุ์ไม้จากป่าได้อย่างตามความพอใจ

การเตรียมหาพันธุ์ไม้และดูไม้ที่จะทำเป็นบอนไซ

นักนิยมบอนไซส่วนมากต้องเกิดจากการมีใจรักธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ผสมผสานกับการมีมานะอดทน ในการเดินทางเข้าป่า ปีนเขา ลงห้วยในที่มีความแห้งแล้ง และกันดารเพื่อเสาะแสวงหาพันธุ์ไม้และชนิดของไม้ที่ดีและเกิดความพอใจ เพื่อที่จะนำมาทำเป็นบอนไซ ในประเทศญี่ปุ่นนิยมทำกันแบบนี้มากที่สุดเป็นการออกกำลังกายและฝึกความอดทนไปในตัว ในประเทศเรา ส่วนมากเพิ่งเริ่มการนิยม ก็นิยมทำกันแบบนี้เป็นส่วนมาก เพราะเป็นการเรียนลัดและรวดเร็วกว่า การทำบอนไซด้วยการเพาะเมล็ดและเพาะชำกิ่ง

อีกประเภทหนึ่งซึ่งนอกเหนือไปจากการเดินทางไปขุดไม้ตามธรรมชาติแล้วก็โดยการซื้อมาจากผู้รับจ้างขุดหรือผู้ขุดพันธุ์ไม้มาขายก็ได้ตามทัศนะของตนเอง ผู้ที่ขุดมาขายจะมีความชำนาญพอประมาณ ในการดูว่าไม้ชนิดใดจะทำเป็นบอนไซได้ แต่สู้ซื้อบอนไซจากการปลูกสำเร็จรูปแล้วไม่ได้โอกาสที่จะสูญเสียไม้นั้นมีมากกว่าหรือนอกจากจะทดลองปลูกเองเพื่อการทดลองหรือเพื่อความชำนาญ

การขุดไม้ต้องขุดให้ล้อมรอบไม้เป็นรูปเบ้า (ภาษาของนักนิยมขุด) ต้องรักษาดินเดิมและต้องใช้เลื่อยตัดรากแก้วออกเท่าไร? ผู้ขุดขายหรือผู้ขุดเองต้องมีความรู้และความชำนาญเป็นพิเศษ ผู้ที่หัดเล่นใหม่โปรดกรุณาศึกษารากของไม้ให้มาก ๆ เสียก่อน หัดดูรากฝอยว่ามีมากน้อยเท่าใดไม้บางต้นรากแก้วใหญ่ รากฝอยมีน้อย การดูดนํ้าเลี้ยงไม่เพียงพอถ้าตัดรากแก้วออกแล้ว ถ้ารากฝอยน้อยการดูดนํ้าเลี้ยงจะไม่พอไม้ก็จะเกิดมีการชะงักอาจตายได้ง่าย

ฝึกหัดดูสีรากชนิดของไม้เสียด้วยว่าไม้ชนิดใดสีอะไร เช่น ตะโกมีรากฝอยเป็นสีดำแต่มะสังข์มีรากฝอยเป็นสีขาวและมะเกลือสีดำ เกล็ดปลาหมอรากเป็นสีนํ้าตาล เพื่อสะดวกในการตัดแต่งรากฝอย

การคัดเลือกพันธุ์ไม้

1. ต้องเป็นไม้มีโคนใหญ่หนากว่าลำต้น มีความเรียวค่อย ๆ เล็กลง มองดูแล้วให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นไม้ที่มีอายุมากและย่อจากไม้ใหญ่ลงมาเป็นไม้เล็ก โดยธรรมชาติ

2. ต้องหาไม้ที่มีรากฝอยมาก ๆ ออกทั่วรอบโคน มิใช่ว่ามีนิดหน่อยรอบโคน

3. กิ่งก้าน สาขาที่แตกออกจากลำต้นมีกิ่งก้านแข็งแรงและใบหนา กิ่งก้านต้องออกไปทางด้านข้างให้มากกิ่งก้านที่ไม่ได้สัดส่วนจะทำให้ลักษณะของไม้ไม่งดงาม

4. ใบต้องเรียวเล็กและสั้น เขียวสดใสเป็นมัน จึงจะดูมีชีวิตชีวา

5. ลำต้นต้องมีความแข็งแรง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไปหรือเว้าแหว่ง ๆ ขาดตกบกพร่องไป (บางคนชอบเล่นไม้ที่ดูแล้วแบบไม้ตายซากก็มีมาก)

การเตรียมดินเครื่องปลูก

1. การหาดินที่จะใช้ในการปลูกต้องเป็นดินที่ค่อนข้างสะอาดและเก็บความชื้นได้ดี พรวนดินและเปลี่ยนดินได้ง่าย เช่น ดินกลางนา ดินขุยไผ่ ดินโคนจอมปลวกนำมาตากให้แห้งแล้วทุบให้ละเอียด

2. หาหินอ่อนที่บดแล้วอย่างหยาบ กรวดทรายหยาบ หรืออิฐหักนำมาทุบอย่างหยาบ โดยการใช้ตะแกรงตาห่าง ร่อนส่วนละเอียดออกเสีย สิ่งทั้งหลายที่กล่าวเหล่านี้ เพื่อนำมารองก้นกระถางที่จะนำมาใส่ต้นบอนไซ

3. หาตะแกรงลวดตาข่ายจะเป็นเศษมุ้งลวดหรือตาข่ายไนล่อนก็ใช้ได้ แต่ควรจะใช้ตะแกรงที่เป็นอะลูมิเนียมจะดีมาก เพราะไม่เกิดสนิม ถ้าเป็นตะแกรงซึ่งทำด้วยสังกะสีอาจจะเป็นสนิมได้ และจะเกิดการปฎิกริยาทางการเจริญงอกงามของรากไม่สู้ดีนัก เรานำมาตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประมาณด้านละ 2 นิ้ว หรือแล้วแต่รูของกระถางเล็กหรือใหญ่อีกด้วย เพื่อรองกั้นกรวด ทรายหยาบไม่ให้ไหลออกมาและน้ำที่รดจะได้ไหลและถ่ายเทอากาศได้สะดวก

4. หาทรายละเอียดค่อนข้างหยาบเพื่อนำมาผสมกับดินที่ตากแห้งไว้

การวางระดับของต้นบอนไซ

เพื่อความเหมาะสมและสวยงามของบอนไซ ในการปลูกมิใช่ว่าจะปลูกไม้ตามใจชอบนักไม่ได้ การปลูกต้องมีหลักเกณฑ์ในการปลูก การปลูกตาม ใจชอบนั้นทำให้ดูไม่สวยงาม เพราะอาจจะผิดธรรมชาติเกินไป กระถางกับต้นไม้เป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น กระถางเล็กต้นไม้ใหญ่มาก ต้นไม้เล็กกระถางใหญ่ก็จะดูเกิดความเหมาะสมไม่ได้เลย ฉะนั้นต้องจัดหากระถางกับต้นไม้ให้เหมาะสมกันด้วย

บอนไซ มีการวางระดับไม้กับกระถางได้ หลายวิธี เช่น

วิธีที่ 1 การวางที่ได้สัดส่วน

โดยการแบ่งกระถางออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้วางไม้ส่วนที่ 2 ไม้จะวางเอนหรือตั้งตรงก็ได้ ตามความเหมาะสม

วิธีที่ 2

โดยการแบ่งกระถางออกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน ให้วางไม้อยู่ในระหว่างกลางในแนวตรง

วิธีที่ 3

โดยการวางไม้อยู่ในระหว่าง 45 องศา ตามแนวตั้ง โดยมี 3 แบบ แบบ 45 องศา และแบบ 90 องศา

วิธีการปลูกอย่างง่ายและเก็บหรือเพาะชำราก

โดยเราเตรียม ดิน ทราย และกระถางเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรานำเอาไม้ที่ขุดมาจากป่า โดยการขุดแบบเป็นรูปเบ้า การพูดเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ขุดแบบเอาดินติดรากมาด้วย ใช้เครื่องมือขุดเกลี่ยเอาดินออกเสียบ้าง ติดไม่ให้มากนัก แล้วตัดรากแก้วออกให้เหลืออยู่จากผิวดินประมาณ 2-3 นิ้วฟุต แล้วนำไม้วางลงในกระถาง ซึ่งเตรียมไว้แล้วเอาดินผสมโรยลงไปในกระถางกดให้แน่นพอสมควรก่อนจะนำไม้ไปเก็บต้องลิดกิ่งก้าน และใบออกเสียบ้าง ประมาณ 4 ใน 5 ส่วน เพื่อไม้จะได้อาหารและนํ้าเลี้ยงเพียงพอ การลิดกิ่งก้านก็ต้องขึ้นอยู่กับธรรมชาติของต้นไม้ มิใช่จะลิดได้ตามใจชอบ เพราะจะทำให้เสียฟอร์มไม้ ก่อนลิดรอนกิ่งก้าน โปรดพิจารณาให้มาก มิฉะนั้นจะเสียใจภายหลัง กิ่งก้านแต่ละกิ่งจะเกิดมาให้เห็นนั้นช้ามาก กิ่งไม้เท่าฟอร์มเดิมเป็นสิ่งที่หายากและสำคัญมาก

เมื่อปลูกเสร็จเราก็นำไปไว้ในที่ร่ม ในที่ที่มีอากาศชื้น ไม่ให้โดนแสงแดดและลมโกรกพัดแรง แล้วรดนํ้าเช้า-เย็น 2 เวลา ใช้เวลาเก็บเพาะชำ ประมาณ 2-3 อาทิตย์ รากฝอยจะงอกงามและผลิใบออกมาให้เห็นทันที เมื่อย่างเข้าอาทิตย์ 3-4 ก็ควรเลื่อนที่กระถางไม้ออกมาให้ได้รับแสงแดดอ่อน ๆ พอรำไร อีกประมาณ 2-3 อาทิตย์ จึงนำไม้ออกมาไว้กลางแจ้ง ให้ได้รับแสงแดดเต็มที่รดนํ้าเช้า-เย็น ถ้าอากาศแห้งแล้งจัดก็ควรรดนํ้าถึง 3 เวลา เช้า-กลางวันและ เย็น พันธุ์ไม้บางชนิดชอบที่กลางแจ้ง ฉะนั้นผู้นิยมไม้ และรักธรรมชาติกรุณาอ่านนิสัยของไม้แต่ละชนิดด้วยบอนไซ บางชนิดนำไปไว้โชว์บนโต๊ะรับแขกในห้องแอร์ได้ มิใช่ว่าจะตั้งไว้ทั้งวันทั้งคืน บางคนเข้าใจผิด ๆ เพราะไม้ต้องการปรุงอาหารกับแสงแดด

การตัดกำลงด้วยการ ลิดรอน กิ่ง — ก้าน — ใบ เพื่อช่วยให้ไม้มีกำลังดีขึ้น

การลิดใบ

วิธีนี้เราจะทำเมื่อเห็นว่าไม้บอนไซนั้นมีใบดกมากจนเกินไป ซึ่งทำให้รูปทรงของต้นไม้นั้นไม่สวยงาม วิธีนี้จะทำให้รู้สึกว่าไม้พวกนี้มีกิ่งก้านยาวขึ้น เพราะเราลิดใบเกือบหมด การลิดใบนี้เราจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิดของต้นไม้นั้น ๆ

  • ต้นไม้ที่มีก้านใบยาว เราจะลิดตรงก้านใบ โดยเหลือก้านใบไว้พอสมควร
  • ต้นไม้ที่มีก้านใบสั้น เราจะริดออกบริเวณใบ โดยตัดใบออกครึ่งหนึ่งหรือตัดออกมากกว่าครึ่งหนึ่งเล็กน้อย

การขดลวด (การพันลวดรอบต้นไม้เพื่อจัดรูปร่างตามที่ต้องการ)

วิธีนี้เราจะใช้ในกรณีที่เราทำการลิดกิ่งและลิดใบไม่ได้ผล เพราะไม้ไม่ได้รูปร่างตามที่เราต้องการ หรือเนื่องจากต้นไม้ชนิดนั้นมองเห็นว่า ไม่สามารถจะทำการลิดกิ่งและลิดใบได้

ลวดที่นิยมใช้กันเป็นลวดทองแดง ที่มีขนาดต่าง ๆ กันแล้วแต่เราต้องการจะใช้กับไม้ชนิดใด หรือต้องการให้รูปร่างเป็นอย่างไร ถ้าเป็นไม้ลักษณะกิ่งก้านแข็ง ก็ต้องใช้ลวดค่อนข้างใหญ่ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ก่อนที่จะนำไปใช้ต้องเผาลวดนั้นเสียก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค และถ้าจะใช้ควรจะใช้กระดาษหุ้มห่อลวดนั้นอีกทีหนึ่ง การพันลวดนั้นเริ่มจากโคนต้นตามลำต้น โดยฝังปลายด้านหนึ่งของลวดลงในดินแล้วพันไปรอบลำต้นตามรูปร่างที่เราต้องการในต้นหนึ่ง ๆ อาจจะพันมากกว่า 1 เส้นก็ได้ เพื่อป้องกันมิให้ต้นไม้นี้ได้รับอันตรายได้ จึงควรมีผ้าใบบังแดดเวลาที่แดดร้อนจัด ๆ ด้วย เวลาที่ย้ายไปปลูกนั้นจะต้องขุดเอารากฝอยไปให้มาก ๆ เพื่อที่จะได้มีรากสำหรับดูดหาอาหาร

การจัดรูปร่าง

วิธีชะงักการเจริญของตา เรากระทำเมื่อไม้บอนไซที่เราปลูกนั้นเริ่มมีอาการเจริญเติบโตสูง ฤดูที่เหมาะจะทำการชะงักการเจริญเติบโตของตา คือฤดูร้อน วิธีการชะงักการเจริญของตานั้น เราจะทำการตัดตาออกหมดเหลือไว้แต่ตาบริเวณใกล้ ๆ ฐานของกิ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ในป่าเบญจพรรณ หรือไม้ป่าดงดิบ แต่เราจะเหลือมากน้อยก็แล้วแต่การจัดรูปร่างที่เราได้ตั้งใจไว้เป็นสำคัญ การชะงักการเจริญของตาด้วยวิธีนี้เรานิยมใช้กับไม้สน แต่ไม่ยืนต้นที่ให้ดอกหรือผลเราจะทำเพียงเล็กน้อย หรือบางครั้งไม่ทำเลย

การลิดกิ่ง

การลิดกิ่งเป็นการสร้างความแข็งแรงให้แก่ต้นไม้ ตลอดจนทำให้ไม้เข้ารูปร่างตามที่เราต้องการ การลิดกิ่งนี้เราจะต้องคำนึงถึงตาและกิ่งไม้นั้นให้ดี ถ้าเราตัดกิ่งด้านบนของไม้ออกจะช่วยป้องกันไม่ให้ต้นไม้นั้นโตเร็วเกินไป และยังจะให้ต้นไม้นั้นได้รูปร่างเป็นธรรมชาติดียิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้วยังทำให้ต้นไม้นั้นมีเรือนร่างทางด้านยอดกับบริเวณโคนต้นได้สัดส่วนกัน คนเก่าแก่ที่เล่นไม้บอนไซนี้เคยกล่าวว่า “ไม้บอนไซ ที่ดีนั้นต้องการการลิดกิ่งบริเวณด้านบนสุดของต้นไม้ 7 แห่ง มากกว่าด้านล่างของต้นไม้ ซึ่งต้องการเพียง 3 แห่งเท่านั้น” อันนี้เป็นคำกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นว่า การลิดกิ่งนั้นนิยมทำกันเฉพาะตอนบนของเรือนยอดมากกว่า แต่อย่างไรก็ดี การที่เราจะลิดกิ่งมากน้อย แค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของลำต้นและรูปร่างที่เราต้องการด้วย

วิธีลิดกิ่งนั้นมีอยู่ 2 แบบ

1. ลิดเอากิ่งที่สาม ซึ่งมีการแตกแบบซ้อนส้อมสามง่าม ให้เหลือเพียงสองง่าม

2. ลิดกิ่งสลับกันไปเพื่อให้ได้รูปตามที่ต้องการ

สรุปแล้วการเล่นไม้บอนไซในเมืองไทยเรานั้นนับวันจะแพร่หลายยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ในเมืองไทยที่จะนำมาใช้ทำบอนไซนั้นหาง่าย และ ราคาถูก รวมทั้งดินฟ้าอากาศในเมืองไทยก็ยังอำนวยประโยชน์สำหรับไม้ประเภทนี้อีกด้วย ฉะนั้นผู้ที่นิยมปลูกไม้บอนไซเริ่มแรกจะต้องศึกษาหาความรู้และ ประสบการณ์จากผู้เล่นเดิม ซึ่งมีความชำนาญอยู่แล้ว สนใจค้นคว้าติดตามและศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ๆ ก็จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จ และยึดเป็นอาชีพที่ถาวรมั่นคงได้อีกอย่างหนึ่งเหมือนกัน

การขยายพันธุ์ไมเพื่อเลี้ยงบอนไซ

การเพาะเมล็ดเพื่อนำมาทำบอนไซ เช่น ชาฮกเกี้ยน เชอรี่ ตะขบป่า มะสัง มะเดื่อ มะขามเทศ มะขามฝัก และไทรไทย สามารถทำได้โดยจัดเตรียม กระบะเพาะชำขนาดพอเหมาะบรรจุดินร่วนผสมทรายหยาบ เหลือขอบกระบะไว้ประมาณ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันมิให้เมล็ดพันธุ์และนํ้าไหลออกภายนอกกระบะ เวลารดนํ้า นำเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการเพาะมาล้างเนื้อเยื่อออกให้หมด เหลือไว้เฉพาะเมล็ดเท่านั้น นำไปผึ่งแดดรำไร ประมาณ 1 วัน ระวังอย่าให้โดนแดดจัด หลังจากนั้นนำเมล็ดที่ผึ่งแดดไว้แล้วมาหว่านลงในกระบะเพาะชำ รดนํ้าให้ชุ่มพอควร

สำหรับเมล็ดมะขามเทศ มะขามฝัก และไทรไทย สามารถนำเมล็ดหว่านลงในกระบะเพาะชำได้ทันที เพราะเมล็ดพวกนี้งอกง่ายเจริญเติบโตดี หลังจากนั้น ให้รดนํ้าเป็นละอองฝอยบาง ๆ เพียงวันละ 1 ครั้ง ก็เพียงพอเพราะหากให้นํ้ามากเกินไปเมล็ดอาจเน่าได้

หลังจากการเพาะเมล็ดและได้ต้นกล้าโตพอประมาณ กล่าวคือ ต้นกล้าเกิดใบแท้ประมาณ 1-2 คู่ ให้แยกต้นกล้ามาชำไว้ในกระบะเพาะชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อรักษารูปทรงของต้นกล้าซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นบอนไซในอนาคต มีรูปทรงที่สมบูรณ์ แข็งแรงและ สวยงาม เพื่อเตรียมไว้ดัด -ตัด-แต่ง เป็นบอนไซ ชนิดต่าง ๆ ต่อไป

ส่วนการขยายพันธุ์โดยการปักชำ เป็นวิธีการที่ค่อนข้างสะดวกและรวดเร็ว สามารถได้ไม้บอนไซเร็วกว่าการเพาะเมล็ด วิธีการนั้นง่าย เพียงเตรียม กระบะเพาะชำขนาดพอเหมาะ (ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของกิ่งชำ) บรรจุวัสดุปลูกที่มิคุณสมบัติในการดูดซับนํ้าได้ดี สีทึบ มีความโปร่งเบา สามารถระบายนํ้าและอากาศได้ดี คัดเลือกกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคและแมลงรบกวน เป็นกิ่งพันธุ์ที่มีอายุปานกลาง ไม่แก่และไม่อ่อนจนเกินไป นำมาตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 5 นิ้ว ให้รอยตัดเป็นปากฉลาม นำกิ่งที่ตัดเป็นท่อน ปักชำลงในกระบะที่เตรียมไว้ให้เป็นแถวยาว โดยให้แต่ละกิ่งห่างกันพอประมาณ เพื่อความสะดวกในการงอกรากและกิ่งตา

หลังการปักชำ ประมาณ 2 สัปดาห์ จะสังเกตเห็นว่ากิ่งชำเริ่มแตกยอดและใบใหม่ปล่อยทิ้งไว้ให้กิ่งใหม่แข็งแรง และมีจำนวนกิ่งมากพอควร จึงแยก กิ่งนั้นลงกระถางเดี่ยว เพื่อให้แต่ละต้นมีโอกาสเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งรากก็จะสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ ต้นกล้านั้นก็จะเจริญขึ้นตามลำดับ

เมื่อพิจารณาเห็นว่าต้นกล้าที่แยกลงกระถางเดี่ยวไว้ เจริญเติบโตมีกิ่งก้านมากพอควร และสมควรที่จะดัดและตัดแต่งแล้ว ให้คัดเลือกต้นที่ดีที่สุด กล่าวคือ มีความสมบูรณ์ แข็งแรง และรูปทรงโดยพื้นฐานดี นำต้นที่คัดเลือกได้มาพิจารณารูปทรงโดยรอบ สังเกตดูกิ่งทุกกิ่งโดยละเอียด แล้วตัดสินใจว่าจะเลือกกิ่งใดไว้สำหรับการตัด-ตัด-แต่งบ้าง กิ่งที่เหลือตัดทิ้งให้หมด

วิธีดัดบอนไซ

คัดเลือกลวดขนาดพอเหมาะกับกิ่งที่จะดัด เป็นลวดที่สะอาดปราศจากสนิมเกาะไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป นำลวดมาทำให้เป็นเส้นตรง ใช้ปลายด้านหนึ่งปักลงไปจนถึงก้นกระถางให้ขนานกับลำต้น ใช้มือซ้ายจับลำต้นไว้ให้มั่น มือขวาจับลวดพันไปตามลำต้นและกิ่งก้าน ทิ้งระยะห่างพอประมาณ ระวังอย่าให้ถี่จนเกินไป เพราะอาจทำให้ไม้บอนไซเฉาและตายได้ หลังจากพันลวดตามลำต้นและกิ่งก้านเป็นที่เรียบร้อย ก็สามารถตัดได้ตามที่ต้องการ อาจจะเป็นรูปแบบจากจินตนาการของท่านเอง หรืออาจจะฝึกทำตามตำราไปก่อน ซึ่งมีทั้งตำราไทยและตำราต่างประเทศมากมาย การตัดควรทำอย่างเบามือ อย่าพยายามดัดหรือหักลำต้นจนเกินไป เพราะอาจทำให้กิ่งและลำต้นหักเสียหายได้

หลังจากตัดเรียบร้อยแล้ว ปล่อยต้นไม้ให้อยู่ตัวสักระยะหนึ่ง ประมาณ 2-3 เดือน เพื่อป้องกันการสปริงตัวกลับของกิ่งและลำต้น หลังจากนั้นจึงคลาย ลวดออก อย่าปล่อยลวดพันกิ่งนานจนเกินไป เพราะเนื้อไม้อาจงอกจนหุ้มลวด จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องการนำลวดออกในภายหลัง เมื่อนำลวดออกเรียบร้อยแล้ว จึงดูแลตัดแต่งกิ่ง และใบที่ไม่ต้องการออก และเลี้ยงใบชุดใหม่เพื่อให้ใบแน่น และสวยงาม

หากเมื่อนำลวดออกแล้ว ได้บอนไซที่ไม่สวยงามตามความต้องการ ก็สามารถทำการดัดใหม่ได้อีกครั้ง โดยปฎิบัติตามขั้นตอนเดิม เพียงแต่ระวังอย่าให้ลวดซ้ำรอยแผลเก่า เพราะอาจจะเป็นเหตุให้กิ่งเปราะและหักได้ง่าย เมื่อได้บอนไซที่สวยงามถูกใจ ก็สามารถย้ายจากกระถางปลูกใบเดิมมาปลูกลงใหม่ในกระถางบอนไซที่ท่านชอบ ซึ่งอาจเป็นกระถางรูปไข่ สี่เหลี่ยม หรือกลม

การทำไม้ช่อ

อันดับต่อไปขอแนะนำให้รู้จักไม้ช่อ ต้นไม้ที่นิยมนำมาทำไม้ช่อนั้น ได้แก่ ต้นตะโก ต้นข่อย ต้นมะขามเปรี้ยว ต้นโมก ส่วนไม้ชนิดอื่นยังไม่นิยมนำมาทำไม้ช่อกันนัก

การทำไม้ช่อนั้น จะคัดเลือกต้นที่มีความสูงประมาณเมตรครึ่ง หรือสองเมตร ส่วนการทำช่อของแต่ละต้นนิยมทำช่อคี่มากกว่าช่อคู่ เพราะดูการดัด สลับกันดี จัดทำช่อไม้ไม่เกินต้นละ 9-11 ช่อ เพราะถ้ามากกว่านี้อาจจะมองดูไม่สวย แต่ถ้าได้ต้นที่ใหญ่มาก อาจจะเพิ่มช่ออีกก็ได้แล้วแต่ความพอใจของผู้ดัด

สมัยก่อนการจะขุดต้นไม้ช่อแต่ละต้นมักจะขุดล้อมเอาไว้ก่อนประมาณ 4-5 วัน จึงลงมือตัดรากของต้นไม้นั้น และการตัดแต่ละต้นจะขุดล้อมต้นขนาด ที่จะนำมาใส่โอ่งมังกรได้ เพราะสมัยก่อนต้นไม้ใหญ่ สามารถขุดนำมาใส่โอ่งมังกรได้ เรียกว่าผู้นั้นมีความสามารถมาก

การปลูกเลี้ยงไม้ช่อเลี้ยงง่ายมาก ถ้าครั้งแรก รู้จักการถนอมรากไม้ให้ดีและอยู่แดดรำไร กับรดนํ้าสมํ่าเสมอ วันละ 2 ครั้ง จะทำให้ต้นไม้ช่อนั้นแตกกิ่งก้าน และใบออกมาสมบูรณ์ดี อีกทั้งคอยตัดแต่งเสมอ ๆ จะทำให้ใบของไม้ช่อนั้น ๆ แน่นมากและดูสวยงาม การแต่งไม้ช่อนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ

1. ตัดแบบทรงกลมคล้ายทรงลูกฟุตบอล

2. ตัดแบบทรงแบนคล้ายลูกจันทร์

ไม้ช่อมักนิยมแต่ง 2 แบบนี้ เพราะไม้ช่อเป็นไม้ที่แข็งแรงและไม่ต้องตัดแต่งบ่อย 2-3 เดือนแต่งหนึ่งครั้งก็ได้

การบำรุงรักษา

การพรวนดินในกระถางต้นไม้นั้น ควรพรวน แต่เฉพาะหน้าดินเท่านั้น พรวนปีละ 2 ครั้งก็พอ การพรวนดินแต่ละครั้งจะโรยปุ๋ยคอกลงไปด้วยเพื่อ บำรุงดินและรากไม้ การให้ปุ๋ยคอกนั้น อาจนำปุ๋ยคอก (มูลสัตว์) มาหมักใส่นํ้าแช่ไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วนำนํ้าของมูลสัตว์นั้นมารดต้นไม้ได้เลย ส่วนกากของมูลสัตว์นำมาตากแห้งแล้วนำมาโรยตามโคนไม้ใหญ่ได้ด้วย โดยไม่ต้องทิ้งเปล่า ไม่นิยมให้ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพราะปุ๋ยวิทยาศาสตร์มีประโยชน์กับไม้บางชนิดเท่านั้น แต่กับบอนไซถ้านำมาใช้จะทำให้หน้าดินแห้งกระด้าง และจะงามในระยะแรกเท่านั้น ส่วนปุ๋ยคอกจะทำให้ต้นไม้งอกงามอย่างสมํ่าเสมอ

การที่แนะนำให้บำรุงต้นไม้ปีละ 2 ครั้ง ก็เพราะจะทำให้ต้นไม้เจริญพอควร การตัดแต่งก็ไม่ยุ่งยาก แต่ถ้าท่านรักต้นไม้บอนไซเกินไป ใส่ปุ๋ยบำรุงทุกเดือน จะทำให้บอนไซของท่านใบงามมากเกินไป และจะเกิดการขยายกิ่งก้านมากเกินความจำเป็น เพราะต้นไม้บางต้นมีกิ่งก้านที่สมบูรณ์พอแล้ว ไม่ต้องการใบและกิ่งใหม่อีก การเลี้ยงบอนไซมีขอบเขตจำกัดเหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าคิดจะเลี้ยงไม้ช่อหรือต้นไม้บอนไซก็ควรจะมีใบเล็กเสมอ และกิ่งก้านที่ไม่ยาวเก้งก้างจนเกินไป จึงไม่แนะนำให้บำรุงต้นไม้ประเภทบอนไซมาก ตามที่ กล่าวมาแต่ต้น เพราะการเลี้ยงต้นไม้ช่อหรือต้นบอนไซ ส่วนมากเจ้าของจะเลี้ยงด้วยใจรัก และมีฝีมือจำลองในการนำต้นไม้ใหญ่เอามาใส่กระถางบอนไซ ทำให้ดูต้นไม้บอนไซนั้นสวยงาม ใช้ตั้งประดับทำให้เจ้าของได้ดูด้วยความสดชื่นจากต้นไม้ฝีมือตนเอง

การทำไม้บอนไซสมัยใหม่ แยกประเภทออกให้เห็นได้ชัดเจน คือ

  • การเสียบยอด
  • การทาบแบบเสียบข้าง

ซึ่งขอยกตัวอย่างไม้ 3 ขนิด คือ

1. ตอต้นไทร

2. ตอต้นเฟื่องฟ้า

3. ตอต้นโพธิ์

ก. การเสียบยอดไทรไทยด้วยไทรไต้หวัน

โดยการนำตอต้นไทรไทยที่มีใบไม่สวยงาม นำมาตัดกิ่งออกให้หมด เหลือไว้เฉพาะตอเท่านั้น และนำตอไทรไทยวางให้ถูกแดดรำไร เพื่อบำรุงรักษารากไม้และลำต้นให้เจริญงอกงามและสมบูรณ์ นำยอดไทรไต้หวันพันธุ์ใบยาวมาเสียบข้างหรือยอดของไทรไทย ตอไทรไทยตอเก่าแต่นำไทรไต้หวันพันธุ์ใบยาวมาเสียบใหม่

การเสียบยอดด้วยไทรไต้หวัน คือ ตัดกิ่งไทรไต้หวันที่สมบูรณ์มีความยาวประมาณ 10 ซม. นำมาเสียบตามส่วนที่เราต้องการจะเสียบ ว่าควรจะอยู่ส่วนใดของตอต้นไทร เมื่อเวลาเสียบยอดหรือกิ่งแล้วจะได้ดู ออกมาสวยงาม การตัดยอดกิ่งไทรควรตัดปลายกิ่งที่จะเสียบ เฉือนเป็นรูปปากฉลามแล้วนำยอดหรือกิ่งที่ตัดมานั้น นำส่วนปลายที่เป็นปากฉลามเสียบติดกับลำต้นตอไทร แล้วจับกิ่งใหม่กับตอไทรให้แน่น แล้วนำพลาสติกใสพันให้แน่นอย่าให้อากาศหรือนํ้าเข้าได้ และทิ้งไว้ประมาณ 20-30 วัน ถ้าเห็นยอดที่เสียบมีกิ่งที่สดชื่นสีเขียวสด และเนื้อแผลที่เสียบแน่นสนิทกันมียอดใบแตกออกมาใหม่ ก็นำพลาสติกใสนั้นออกได้เลย

การเสียบยอด ถ้ายอดสนิทแน่นกลมกลืนกับตอไทรแล้ว และรากไทรตอเก่าสมบูรณ์ดีจะทำให้ยอดไทรใหม่เจริญแตกออกมางามมาก แต่จะมียอดไทรไทยเก่าแตกออกมาด้วยเหมือนกัน ในระยะแรกพยายามตัดเล็มยอดไทรเก่าบ่อย ๆ และเลี้ยงบำรุงยอดไทรใหม่ ดัด-ตัด-แต่งให้สวยงาม จะมีฟอร์ม เข้ารูปทรงเข้ากับตอไทรเก่า ถ้าไม่บอกใคร ๆ ก็ต้องคิดว่าเป็นตอไทรต้นพันธุ์เดียวกัน

อนึ่ง การทำไทรแฟนซี ก็สามารถทำได้ด้วยวิธีการเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ดูแปลกตาออกไปอีกลักษณะหนึ่ง

ข. การเสียบยอดและทาบกิ่งเฟื่องฟ้า

ใช้วิธีการเดียวกับยอดไทร ส่วนใหญ่จะนำตอเฟื่องฟ้าป่ามาทำเป็นต้นตอ และนำยอดเฟื่องฟ้าพันธุ์ใหม่มาทาบหรือเสียบ จะเกิดกิ่งก้านสวยงาม แต่ระยะการนำพลาสติกใสออกช้ากว่ากิ่งไทรนิดหน่อย เพราะเฟื่องฟ้าเป็นไม้เนื้อแห้งไม่เหมือนตอต้นไทร ซึ่งมีความสดทั้งต้นและกิ่งก้าน ฉะนั้นการเสียบยอดเฟื่องฟ้าควรเสียบกับยอดของตอเก่าจะทำให้รอยแผลติดแน่นและอยู่ตัวดีกว่าติดกับลำต้นโดยตรง

การทำไม้เกาะหิน

การทำไม้เกาะหิน เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องอาศัยเวลาและความอดทนสูง มีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่สามารถนำมาทำไม้เกาะหินได้ แต่ที่สะดวกควรเป็น ไม้ที่มีรากอากาศโดยธรรมชาติ เช่น โพธิ์ ไทร ไกร กร่าง เป็นต้น ส่วนไม่อื่น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ค่อนข้างจะยุ่งยากกว่า

วิธีการทำไม้เกาะหิน

ประการแรกต้องคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่จะใช้ก่อน จากนั้นจึงจัดหาก้อนหินที่มีลักษณะตามที่ต้องการ ซึ่งควรเป็นหินธรรมชาติ ไม่ควรเป็นหินระเบิด เพราะ รูปทรงจะกระด้างไม่กลมกลืนกับงานศิลปะที่เราปรารถนา นำพันธุ์ไม้มาแซะดินออกให้หมด ทดลองทาบกับก้อนหินดู หากกลมกลืนและสามารถเข้ากันได้ดี จึงนำเชือกกระสอบมารัดโดยรอบก้อนหินกับรากให้แนบสนิทกันให้มากที่สุด แล้วนำลงกระถางใส่ดินผสมลงไปเต็มกระถาง ทิ้งไว้ประมาณ 5-6 เดือน เพื่อรอให้ไม้ตั้งตัว

หลังจากระยะเวลาผ่านไป 5-6 เดือน สังเกตดูว่ารากและหินเกาะติดกันสนิทแน่นหรือยัง หากยังไม่เกาะกันดีควรเลี้ยงต่อไปอีกสักระยะ แต่ถ้ารากเกาะหินได้ดีแล้ว ก็สามารถแก้เชือกผูกออกได้ เพื่อให้ต้นไม้เจริญได้อย่างอิสระยิ่งขึ้น ระยะนี้อาจช่วยเสริมด้วยปุ๋ยคอกได้บ้าง เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของต้นไม้ให้ดีขึ้น

เมื่อต้นไม้ทรงตัวได้ และเจริญเต็มที่จึงเปลี่ยนจากกระถางปลูกเติมลงกระถางบอนซ ซึ่งเป็นกระถางก้นตื้น เพื่อโชว์สัดส่วนของหินและรากอย่างเต็มที่

การบำรุงรักษาบอนไซ

การบำรุงรักษา เป็นหัวใจสำคัญของการปลูกเลี้ยงบอนไซ ผู้ที่นิยมปลูกเลี้ยงบอนไซบางท่านยังไม่เข้าใจในการบำรุงรักษา ซึ่งการปลูกบอนไซนั้น มิใช่จะเป็นของง่ายนัก บางท่านปลูกเลี้ยงบอนไซ เพียงให้อยู่รอดก็เข้าใจว่าดีแล้วเป็นแล้ว

บอนไซที่ดีนั้น ส่วนมากจะต้องเป็นต้นไม้ที่มีอายุมาก มีความงดงาม มีความสมบูรณ์คงที่เสมอต้นเสมอปลาย บางท่านที่เข้าใจว่า เมื่อปลูกได้และเห็น ต้นไม้แตกกิ่งก้านสาขาออกมาให้ชม ก็นึกว่าเป็นบอนไซแล้ว ความเข้าใจนี้ยังไม่ถูกต้องทีเดียวนัก การปลูกเลี้ยงที่ดีนั้นจะต้องมีการปลูกเลี้ยง บำรุง ให้ถูกหลักเกณฑ์ จึงจะได้บอนไซที่สมบูรณ์แบบ เช่น เมื่อท่านได้ไม้ต้นที่ขุดมาจากป่านั้น มิใช่ว่าพอได้มาแล้ว ก็ลงมือหั่นใส่กระถางเลยทีเดียว ถ้าทำเช่นนั้นร้อยทั้งร้อย รับรองว่าเรียบร้อย (ตาย) ถ้าไม่ตายก็ได้บอนไซ ที่ไม่สมบูรณ์แบบ

วิธีที่ดีนั้นจะต้องพักต้นไม้ให้มีความสมบูรณ์เสียก่อน เพราะเหตุว่าต้นไม้ที่ขุดจากป่าใหม่ ๆ นั้น ถูกตัดรากแก้ว และได้รับความกระทบกระเทือนอย่างมาก ไม่ควรปลูกลงกระถางอย่างรีบร้อน

นักนิยมบอนไซส่วนมาก จะเป็นนักปลูกเลี้ยงที่มี ใจรักต้นไม้กันแทบทุกคน แต่ก็มีบางคนเห็นเขาหาบอนไซมาเลี้ยงกัน ก็หามาเลี้ยงตามเขาบ้างโดยไม่ได้ไปศึกษาชีวิตของพันธุ์ไม้ว่าต้นไม้ขนิดใดชอบดินฟ้าอากาศอย่างไร ดินชนิดใด อาหารชนิดใดและเมื่อไหร่ควรจะเปลี่ยนดิน ซึ่งต้นไม้แต่ละพันธุ์ใช้เวลาการเปลี่ยนดินแตกต่างกันออกไป ความไม่เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดการสูญเสียพันธุ์ไม้มากต่อมากแล้ว ความรู้ในการปลูกเลี้ยงนั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของท่านเอง ที่นอกเหนือไปจากนี้ทางชมรมบอนไซ (ไม้แคระ) แห่งประเทศไทย ก็จะได้พยายามรวบรวม ค้นคว้าลงในวารสารบอนไซเป็นลำดับติดต่อกันไป

วิธีการบำรุงรักษาบอนไซในชั้นต้นนั้น เราจะต้องรู้จักนิสัยของพันธุ์ไม้เสียก่อน โดยการศึกษาด้วยตนเอง เช่น ต้นตะโกชอบอากาศร้อน เครื่องปลูกดินผสมกรวด, ทราย หรือดินผสมลูกรัง ให้ปุ๋ยเป็นประจำ เป็นต้น

ต้นไม้แต่ละชนิด นิสัยไม่เหมือนกัน การปลูกเลี้ยงก็ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ของที่ปลูกเลี้ยงด้วย การรักษาบอนไซให้มีอายุยืนนาน และคงสภาพเดิมได้ จะต้องทำให้ถูกต้องตามวิธีขั้นตอน ดังต่อไปนี้

บอนไซที่มีลักษณะสวยงามกิ่งก้าน ลำต้น ใบ มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ควรจะปลูกเลี้ยงในที่กลางแจ้ง ได้รับแสงแดดเต็มที่ รดนํ้าเช้าเย็นให้เปียกชุ่ม ภาชนะ สำหรับรดนํ้าควรจะป็นบัวรดนํ้าจะเหมาะกว่าการใช้ สายยางต่อจากก๊อกประปามาฉีดที่ต้นไม้ เพราะจะทำให้ดินกระจายออกจากกระถาง และทำให้ดินแน่น เป็นเหตุให้เกิดรากเน่าได้โดยง่าย นํ้าที่ใช้รดไม่ควรมีกรดหรือด่างมากเกินไป นํ้าฝนเป็นนํ้าที่ใช้รดบอนไซดีที่สุด นํ้าประปาก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่ต้องรอพักทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง จึงนำไปใช้รด

การให้ปุ๋ย บอนไซที่ปลูกเลี้ยงมีหลายชนิด หลายพันธุ์ บางชนิดก็ชอบปุ๋ยมาก บางชนิดก็ชอบปุ๋ยน้อยแตกต่างกันไป ถ้าหากไม่ให้ปุ๋ยเสียเลย ต้นไม้ จะขาดอาหารในดินจะทำให้ต้นไม้ไม่สมบูรณ์ อาจจะเกิดโรคและแมลงทำให้ต้นไม้ทรุดโทรม ปุ๋ยที่ใช้กับต้นบอนไซประเภทที่ขี้เกียจเปลี่ยนดิน เมื่อครบกำหนดที่จะต้องเปลี่ยนดินในกระถาง ปุ๋ยเคมีที่อยากจะแนะนำ ได้แก่ ปุ๋ยนํ้าเคมี ไฮโฮโมน ซึ่งคิดค้นขึ้นเพื่อใช้กับบอนไช ซึ่งได้ทดลองดูแล้วได้ผลดีเช่นกัน นอกจากนั้นปุ๋ยที่ไม่เป็นอันตรายต่อต้นไม้ และเป็นอาหารของบอนไซได้ในระยะยาวได้แก่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยปลา ระยะเวลาการให้แก่ต้นบอนไซ ทั่ว ๆ ไปแล้ว ให้ปุ๋ยประมาณ 4 เดือนต่อครั้ง ใช้รดทั้งใบและลำต้น ให้เปียกชุ่ม ถ้าเป็นต้นไม้บางชนิดที่ไม่ชอบชุ่ม ก็ควรจะให้บ้างพอลมควร ควรผสมปุ๋ยกับนํ้าให้เจือจาง และระยะการให้ควรจะให้ปุ๋ยประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง

บอนไชบางชนิดไม่ชอบอากาศร้อนจัด เช่นต้นไม้ ประเภทสนต่างประเทศ แต่ก็สามารถเลี้ยงในประเทศไทยได้เป็นบางชนิด และต้องได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีเท่านั้น จึงจะมีชีวิตรอด นอกจากนี้พันธุ์ไม้ต่างประเทศที่เลี้ยง ในบ้านเราได้อย่างสบาย ได้แก่พันธุ์ไม้ประเภทไทร เช่น ไทรใบกลม ไทรใบร่อง ไทรย้อยใบทู่ ฯลฯ บอนไซ ประเภทต้นไทรนี้ เป็นที่นิยมกันในประเทศไต้หวัน และฮ่องกงเป็นอันมาก เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่เลี้ยงง่าย การบำรุงรักษาก็ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์มาก ในขณะนี้ก็เป็นที่นิยมกันในประเทศเรามากด้วยเช่นกัน

ฤดูหนาวของประเทศไทยจะเป็นเวลาที่ความชื้นในอากาศน้อยมาก ต้นไม้ส่วนใหญ่จะพักตัว ฉะนั้น จึงไม่นิยมเปลี่ยนดิน หรือปลูกต้นไม้กันในระยะนี้ เนื่องจากการปลูกบอนไซนั้นจะต้องมีการตัดแต่งรากมาก โดยเฉพาะไม้ตุ้มเมื่อนำเข้ากระถางส่วนมาก แล้วจะต้องตัดตอในดินออกบ้าง ถ้าหากต้นไม้ไม่ตาย ก็จะต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าปกติมาก ระยะเวลาของฤดูหนาวอยู่ในราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์

ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน เป็นฤดูที่จะต้องให้ปุ๋ยมากที่สุด เพราะต้นไม้เริ่มผลิใบใหม่หลังจากพักตัวที่มีอากาศชุ่มชื้นมากขึ้น และในปลายฤดูร้อนก็จะทำการตัดแต่งทรงไม่ได้ บอนไซบางชนิดอาจจะทำการเปลี่ยนดินในฤดูนี้ได้

ฤดูฝนเริ่มแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมในต้นฤดูฝนนั้นจะเหมาะแก่การเปลี่ยนดิน หรือการขยายพันธุ์ต้นไม้ที่จะทำเป็นบอนไซอย่างมาก เนื่องจากในฤดูนี้ต้นไม้จะแตกกิ่งก้านสาขาออกมา ความชุ่มชื้นในอากาศมีมาก ซึ่งทำให้ง่ายแก่การดัด ตัด แต่งให้เป็นบอนไซเข้ารูปทรง

เมื่อบอนไซมีความเจริญงอกงามเต็มที่ ความสวยงามมีมาก ก็ย่อมจะต้องมีศัตรูคอยรังควานอยู่เสมอ คือ พวกหนอนผีเสื้อ, เพลี้ยแป้ง, เพลี้ยเกล็ด, เชื้อรา และแมลงต่าง ๆ ฉะนั้นจึงควรจะฉีดยาฆ่าแมลงเป็นการป้องกันบอนไซทุก 2-3 เดือนก็จะเป็นการดี และควรจะผสมยาฆ่าแมลงตามสลากที่แนบมากับขวดยา ฆ่าแมลง ฉีดให้ทั่วทั้งต้นด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง และโปรดอย่าลืมว่ายาเหล่านี้ฆ่าแมลงได้ก็อาจฆ่าคนได้เหมือนกัน มีบอนไซบางพันธุ์ไม่ชอบยาฆ่าแมลง เช่น ชาฮกเกี้ยนหรือที่เรียกว่าชาใบมัน

การปลูกเลี้ยงบอนไซนั้น ที่สำคัญที่สุดได้แก่ ความชำนาญและประสบการณ์เฉพาะตัว ซึ่งท่านจะต้องทำการทดลอง ด้วยตัวของท่านเอง การเลี้ยงต้นไม้ให้รอดตายเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนการทำรูปทรงจะงดงามแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของท่าน ไม่มีข้อแนะนำหรือคำสอนใด ๆ จะดีไปกว่าการตัดสินใจ และเกิดจากความชำนาญด้วยตัวของท่านเอง