บัว:การปลูกและขยายพันธุ์บัว

การปลูกและขยายพันธุ์บัวจะแตกต่างกันตามชนิดของบัว ที่แตกต่างกัน เช่นบัวในเมืองไทย จะมีวิธีการปลูกที่ต่างจากบัวพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน จึงจำแนกวิธีการปลูกและดูแลไว้อย่างคร่าว ๆ ดังนี้

บัวหลวง

บัวหลวงจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือไหล ถ้าปลูกโดยใช้เมล็ดสามารถปลูกได้โดยตรงหรือนำไปเพาะในน้ำจนงอกก่อน แล้วนำมาปลูก

หากปลูกด้วยไหล จะฝังไหลตามแนวนอน ลึกลงไปในดิน 1-2 นิ้ว เพราะบัวหลวงจะเจริญเติบโตตามแนวนอน

บัวฝรั่ง

บัวฝรั่งจะปลูกด้วยเหง้า ปลูกตามแนวนอนและเจริญเติบโตตามแนวนอนเช่นเดียวกับบัวหลวง ถ้าปลูกในบ่อหรือสระใหญ่ ควรปลูกจุดละ 3 เหง้า แต่ถ้าปลูกในภาชนะที่จำกัดเล็ก ๆ ปลูกอ่างละ 1 เหง้าก็พอ

บัวกระด้ง

การปลูกบัวกระด้ง จะปลูกด้วยเมล็ดอย่างเดียว โดยการเพาะเมล็ด เมื่องอก ให้ย้ายลงกระถ่างขนาด 12 นิ้ว ขึ้นไปเพราะต้องเลี้ยงให้ก้านโต ยาว เท่าความลึกของน้ำที่จะนำไปปลูก ประมาณ 0.5-1 เมตร บ่อหรือสระที่ปลูก ควรกว้างและยาว ไม่ต่ำกว่า 5 เมตร การปลูกควรปลูกกลางบ่อเพราะจะเจริญเติบโตทางดิ่ง

บัวผัน บัวจงกลนี บัวนางกวัก และบัวยักษ์ออสเตรเลีย

จะเจริญเติบโตทางดิ่งเช่นเดียวกันกับบัวกระด้ง ต้นอ่อนมาจากหัว จึงปลูกได้โดยการฝังหัวลึก 1-2 นิ้ว กลางภาชนะปลูกหรือในบ่อ บัวทั้ง 4 ชนิดนี้ บัวผันจะแตกหัวยากที่สุด โดยเฉพาะในเขตร้อนภาคกลางจึงต้องขยายพันธุ์ด้วยต้นอ่อนที่แตมาจากต้นแม่ ที่เปลี่ยนสภาพจากหัวเป็นเหง้า ส่วนบัวสาย จงกลนี บัวยักษ์ บัวนางกวัก จะได้หัวหรือต้นอ่อนที่งอกจากต้นแม่ เป็นต้นใหม่แยกปลูกได้

เทคนิคในการปลูกบัว

ดินปลูกและการเตรียมดิน

ดินปลูกในบ่อดินท้องนา เป็นดินเหนียวเหมาะกับการปลูกบัวอยู่แล้ว ใช้ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต 200 กรัมต่อ 1 ตารางเมตร (ประมาณ 1 กำมือ) เหยียบย่ำเคล้าให้เข้ากับกิน จากนั้นปล่อยน้ำให้สูงประมาณ 1 คืบ ก็ใช้ปลูกได้

การปลูกบัว ถ้าปลูกเป็นไม้ประดับในกระถาง ต้องเตรียมดินโดยใช้ดินนา ที่เก็บวัชพืชออกหมดแล้ว มาต่อยให้ได้ขนาดประมาณโตกว่าหัวแม่มือเล็กน้อย ใช้ดิน 7 บุ้งกี๋ ต่อมูลวัวแห้ง 1 บุ้งกี๋ หรือดิน 10 บุ้งกี๋ ต่อมูลไก่ หรือมูลเป็ดแห้ง 1 บุ้งกี๋ ไปผสมกับปุ๋ยฟอสเฟต 1 กำมือ ต่อดินและมูลสัตว์ 1 บุ้งกี๋ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ดินนาที่ต่อยเป็นก้อนเล็ก ๆส่วนหนึ่งไม่ต้องผสมอะไร เก็บไว้เป็นดินกลบหน้า บรรจุดินผสม 2 ส่วน และดินธรรมดากลบหน้า 1 ส่วน ในภาชนะปลูกอัดให้แน่น โดยเติมน้ำให้ชุ่ม ก็พร้อมที่จะปลูกได้ การบรรจุดิน จะใช้ตามปริมาตรและความลึกที่บัวแต่ละชนิดและแต่ละพันธุ์ต้องการ

ประโยชน์ของบัว

บัวทุกชนิดจะมีประโยชน์ที่เหมือนกันคือ นำปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ แต่มีบัวหลายชนิดที่สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ได้ทั้งต้น อย่างเช่น บัวหลวงทุกส่วนของบัวหลวง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ตั้งแต่เหง้า ก้าน ใบ กลีบดอกและเมล็ด

เหง้า

สามารถนำมาใช้เป็น อาหาร ยาแก้ร้อนใน แก้ประจำเดือนไม่ปกติ เป็นยาบำรุงกำลัง ยาแก้ท้องร่วง แก้ริดสีดวงทวาร

ก้านใบ-ก้านดอก

เป็นยาครรภ์รักษา ยาแก้มุตกิต เป็นยาบำรุงกำลัง ยาบำบัดแผลในลำไส้ ทำกระดาษ และเส้นใยใช้ทำไส้ตะเกียง

ใบ

ใบอ่อนใช้เป็นอาหาร ทำยาแก้ไข้ เป็นยาบำรุงเลือด ยาแก้โรคผิวหนัง แก้ท้องร่วง และเป็นยาห้ามเลือด สมานแผล ใบแก่ใช้ห่อของได้

กลีบดอก

ใช้ทำยาแก้โรคหนองใน ยาแก้ท้องร่วง ยาแก้ไข้ ยาสมานแผล ยาบำรุงหัวใจและคลอดลูกอ่อน รวมทั้งนำไปทำเครื่องสำอางค์ และใช้มวนบุหรี่แทนใบตองได้

เกสรตัวผู้

ใช้ทำยาหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้โรคกษัย แก้โรคลำไส้อักเสบ

เปลือกแห้งของเมล็ด

ใช้เพาะเห็ด และทำปุ๋ยได้

เอมบริโอของบัว(ดีบัว)

ใช้เป็นยาลดไข้ ยาแก้ท้องร่วง ยาขยายหลอดเลือดได้ (มีสาร methylcoly polline) และลดน้ำตาลในเลือดได้

ฝัก

ฝักอ่อนนำมาอบหรือตากแห้งใช้ปักแจกัน ตกแต่งสถานที่แทนดอกไม้แห้งได้ ฝักแก่นำมาทำปุ๋ย

ต้นและดอก

เป็นไม้ดอกใช้ประดับสถานที่ ดอกบัวนำมาปักแจกันเพื่อความสวยงามและนำไปบูชาพระ

ประโยชน์ของบัวผัน

หัว ใช้เป็นยาได้

ต้นและดอก เป็นไม้ดอกไม้ประดับเครื่องสำอางประทินกลิ่น

ประโยชน์ของบัวสาย

หัว เป็นยา

ก้านดอก เป็นอาหาร

ต้นและดอก เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ทำเครื่องสำอางประทินกลิ่น

ประโยชน์ของบัวจงกลนี

หัว เป็นยา

ต้นและดอก เป็นไม้ดอกไม้ประดับ

ประโยชน์ของบัวฝรั่ง

ต้นและดอก เป็นไม้ดอกไม้ประดับ

ประโยชน์ของบัวกระด้ง

ก้านใบ-ก้านดอก เป็นอาหาร

เมล็ด นำมาใช้เป็นอาหารทดแทนแป้งจากข้าวได้

ต้นและดอก เป็นไม้ดอกไม้ประดับ