บัววิคตอเรีย

ที่มา:กิตติศักดิ์ แสงวิจิตร

บัววิคตอเรีย (บัวกระด้ง)

บัวกระด้งหรือบัววิคตอเรีย เป็นบัวที่มีฃนาดใหญ่ที่สุดในโลกในทุก ๆ ส่วน ตั้งแต่ใบ ดอก ก้านใบ และทุกส่วน ดังกล่าวเต็มไปด้วยหนามที่แหลมคมแข็งแต่เปราะหากตำเข้าไปในเนื้อจะหักเสมอผิวหนังทำให้เป็นที่คร้ามเกรงของเจ้าหน้าที่ที่ลงไปทำความสะอาดบ่อนํ้าเป็นอย่างยิ่ง มีถิ่นกำเนิดแถบลุ่มนํ้าอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ มีชื่อสามัญว่า Giant Water Lily, Amazon Lily หรือ Royal Water Lily

ชื่อพฤกษศาสตร์ Victoria regia Lindl. หรือ Victoria amazonica Sowerby สำหรับชื่อบัวกระด้งที่คนไทยนิยมเรียก คงจะเรียกตามลักษณะของใบที่แผ่กว้างค่อนข้างกลม และขอบใบตั้งขึ้นโดยรอบคล้ายกระด้งฝัดข้าว

ของคนไทย พันธุ์ที่ปลูกอยู่ในเมืองไทยนั้นตามประวัติเท่าที่ทราบมิได้นำมาจากแหล่งกำเนิด แต่ได้มาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งจะสังเกตได้จากชื่อสามัญที่ใช้เรียกบัววิคตอเรีย ก็คือชื่อพระราชินีอังกฤษพระองค์หนึ่ง คนอังกฤษไปพบบัวขนิดนี้แล้วนำไปปลูกในบ้านเมืองของตนแล้วเรียกชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระราชินีเข้ามาเมืองไทยประมาณ 100 ปีมาแล้ว

ลักษณะทั่วไป

ใบมีขนาดใหญ่มากโตเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 ฟุต หน้าใบเรียบสีเขียวเป็นวงกลมไม่มีช่องว่าง รอยแยกขอบใบตั้งขึ้นประมาณ 4-6 นิ้ว หลังใบมีสีม่วง และมีหนามหนาแน่นทุกส่วนของเส้นใบตลอดก้านใบ ความยาวของก้านใบนั้น แล้วแต่ความลึกของนํ้า และความกว้างของสระ

ดอก มีขนาดใหญ่กลีบดอกสีขาวเมื่อแรกบาน และจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงถึงแดงเข้ม กลีบดอกชั้นนอกสุด มีหนามติดต่อกับก้านดอกตลอดทั้งสายเหมือนก้านใบ บานเวลากลางคืน มีกลิ่นหอมแรงมาก ดอกบานประมาณ 3 คืน แล้วกลีบดอกจะค่อย ๆ เหี่ยวหดตัวเล็กลงมองเห็นเฉพาะฐานรองดอกที่ค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้น คล้ายบัวหลวงแต่มีหนาม และขนาดใหญ่กว่ามาก วันที่ 4 หรือ 5 จะลดระดับลงจากที่เคยชูเหนือผิวนํ้า ลดลงเสมอผิวนํ้า และจมน้ำไปในที่สุด การเก็บเมล็ดพันธุ์ก็ลงไปห่อหุ้มไว้ตั้งงแต่ช่วงนี้

ลำต้น เป็นลำต้นใต้ดินเหมือนบัวชนิดอื่น ๆ แตกต่างกันตรงที่บัวชนิดอื่น ๆ อาจจะมีไหลแตกไชชอนผิวดินไปแตกกอใหม่เช่นบัวหลวง แต่บัววิคตอเรียไม่เคยพบแตกกอใหม่ ลำต้นใต้ดินจะสะสมอาหารพัฒนาเป็นหัวซึ่งมีปริมาณแป้ง และโปรตีนสูง คนพื้นเมืองในอเมริกาใต้นิยมใช้เป็นอาหาร เนื่องจากหัวเป็นอาหารได้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บัวชนิดนี้ อายุไม่ยืนยาวเพราะจะเป็นอาหารของปลา หรือสัตว์นํ้าอื่น เมื่อหัวถูกกัดแทะจนเกิดแผลเชื้อโรคก็อาจเข้าทำลาย จนในที่สุดลำต้นจะเน่าตายไป ซึ่งพบเห็นประจำในสวนธนบุรีรมย์ หากไม่สามารถหาวิธีเพาะพันธุ์ได้ บัววิคตอเรียก็อาจจะสูญพันธุ์ไปจากสวนธนบุรีรมย์นานแล้ว

การขยายพันธุ์บัววิคตอเรียในสวนธนบุรีรมย์

การขยายพันธุ์บัววิคตอเรีย หรือการแพร่พันธุ์โดยธรรมชาติ บัวชนิดนี้เท่าที่เพาะเลี้ยงมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ ในสวนธนบุรีรมย์ไม่เคยพบแตกกอใหม่ คงเพาะพันธุ์ได้จากเมล็ดเพียงอย่างเดียว การแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติคือเมื่อ แล้งจากดอกบานประมาณ 5-6 วัน จนกลีบดอกร่วงหมดแล้ว ส่วนฐานรองดอกซึ่งตามที่ชาวบ้านเรียกว่าฝักบัวก็ค่อย ๆ ลดระดับลงมาอยู่ใต้ผิวนํ้าจมดิ่งลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมล็ดเเก่จัดจนได้ที่ (mature) ฝักก็จะแตกออกเมล็ดที่หลุดออกมาจะกระจายไปทั่วบริเวณ หากนํ้าไหลเมล็ดก็จะไหลไปตามนํ้าไปตกตามที่ต่าง ๆ เมื่อผ่านพ้นระยะฟักตัว และได้รับความร้อนจากแสงแดดติดต่อกัน 10-15 วัน เมล็ดก็จะงอก แต่หากไม่ได้รับแสงแดด และอุณหภูมิที่สูงขึ้นติดต่อกันดังกล่าว เมล็ดจะไม่งอก เมล็ดอยู่ได้หลาย ๆ ปีโดยไม่เสีย

โดยหลักการอันนี้ หากประสงค์จะให้เมล็ดบัววิคตอเรียงอกเพื่อจะเก็บพันธุ์ ต้องสูบนํ้าออกจากบ่อให้แห้ง ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน แล้วเปิดนํ้าเข้ามาพอท่วมผิวดิน หลังจากนั้น 2-3 วัน จะพบต้นอ่อนของบัววิคตอเรียงอกอยู่ทั่วไป แต่วิธีนี้ไม่อาจใช้กับสวนสาธารณะได้เนื่องจากสวนสาธารณะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ในสระหรือบ่อต้องมีนํ้าเต็มปริ่มอยู่เสมอจึงจะดูสดชื่น ดังนั้น เจ้าหน้าที่ของสวนธนบุรีรมย์จึงคิดวิธีต่าง ๆ ทดลองเพาะเมล็ดหลายวิธี ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะวิธีที่ง่าย และได้ผลดีพอสมควร

วิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์

หลังจากดอกบัวบานจนกระทั่งกลีบดอกเหี่ยว และฝักจมลงในนํ้าดังกล่าวแล้ว จึงนำไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งไปปักใกล้ ๆ ฝักบัว แล้วใช้ถุงสวมฝักบัวให้ถึงก้านดอก ใช้เชือกรวบปากถุงไว้หลวม ๆ พอไม่ให้เมล็ดออกมาได้ หากผูกปากถุงตึงอาจทำให้ก้านดอกชํ้าฝักบัวอาจเน่าก่อนที่เมล็ดจะแก่ แล้วใช้เชือกที่รวบปากถุงส่วนที่เหลือมาผูกไว้กับไม้หลักปล่อยเชือกไว้ยาวพอสมควร เพื่อให้ฝักบัวเคลื่อนไหวได้อิสระ ประมาณ 60-70 วัน ฝักบัวจะผุเปื่อยขาดออกจากก้านดอก เมล็ดทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ในถุง (ระยะนี้เคยนำ เมล็ดมาเพาะแต่ไม่งอก) ปล่อยให้ถุงเก็บเมล็ดแช่อยู่ในนํ้าต่อไป นับจากวันแรกที่ใช้ถุงลงไปสวมฝักบัวไว้จนถึงประมาณ 150 วัน ก็ให้ลงไปเปิดถุงดู ถ้าเมล็ดงอกก็จะมีหน่อสีขาวเหมือนเส้นด้ายแทงงอกออกมาจากขั้วเมล็ดประมาณ 4-5 นิ้ว ก็นำขึ้นมาเพาะในอ่างได้ แต่หากยังไม่งอกให้รวบปากถุงปล่อยแช่ไว้ตามเติม 10 วัน ให้คนลงไปเปิดดูครั้งหนึ่ง ใช้เวลาไม่เกิน 180 วัน เมล็ดทั่วไปจะงอกหมด จึงย้ายไปทำการเพาะต้นอ่อนต่อไป

การเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ด หรือเพาะกล้าที่เก็บมาจากถุง เพาะลงในอ่างขนาด 20-24 นิ้ว ใช้ดินเลนก้นสระใส่ประมาณ 1/3 ของความลึกของอ่าง ใส่นํ้าให้สูงเหนือผิวดินประมาณ 3 นิ้ว แล้วนำต้นอ่อนลงเพาะอ่างละประมาณ 20 ต้น ใช้เวลา 6-8 วัน ต้นอ่อนเริ่มแตกรากเกิดเป็นกาบห่อยอดอ่อนเจริญเติบโตทุ่งขึ้นสู่ผิวนํ้ากลายเป็นใบแนบติดอยู่กับผิวนํ้า สำหรับขอบใบที่ม้วนตั้งขึ้นเป็นขอบกระด้งนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อนำบัวลงปลูกในสระ และบัวเจริญงอกงามตั้งตัวดีแล้ว จึงจะเกิดขอบกระด้ง 15 วัน หลังจากบัวแตกต้นในอ่างเพาะก็แยกปลูกอ่างละต้น และเติมนํ้าให้สูงถึงปากอ่างได้

การนำบัววิคตอเรียลงปลูกในสระ

นำบัวที่เลี้ยงไว้ในกระถางจนแข็งแรงดีแล้ว ยกทั้งกระถางใส่ลงในสระ ระยะแรกวางริม ๆ สระที่นํ้าไม่ลึกก่อน แล้วค่อยขยับเลื่อนลงไป 2-3 วัน ต่อครั้งจนไปถึงที่ที่ต้องการปลูกก็ให้เหยียบขอบอ่าง หรือกระถางกดลงให้จมดินเลน ก้นบ่อให้ดินก้นบ่อกลบโคนประมาณ 5-6 นิ้ว แล้วทุบกระถางหรืออ่างปลูกออก บัววิคตอเรียจะเจริญเติบโตเต็มที่ภายใน 60-70 วัน