ปรงเขา


ชื่อวิทยาศาสตร์ Cycas pectinata Buch-Ham.
ชื่อวงศ์ CYCADACEAE
ชื่ออื่น ปรงเขา (ชุมพร), กา กาเดาะ แข่ดู่ ทอคลิ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กูดหลวา (แม่ฮ่องสอน) บอกะ (มลายู-สตูล), มะพร้าวเต่าหลวง (เหนือ) มุ่งมาง (ละว้า-เชียงใหม่)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น สูง 2-6 ม. ลำต้นมักจะแตกแขนง


ใบ แบบขนนก ยาว 1.5-2.0 ม. ใบย่อยมีขนาดกว้าง 5-10 มม. ยาว 17-25 ซม. รูปยาวแคบ ปลายเป็นหนามแหลม เส้นกลางใบนูน เล็กน้อย ทั้งด้านบนและด้านล่างมีหนามห่างๆ ที่ฐานใบมีขนสีนํ้าตาล ปนเหลือง ก้านใบยาว 45 ซม.


ดอก ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแน่นที่ยอด รูปทรงกระบอกแกมรูปไข่ ถึงรูปกระสวยกว้าง 15 ซม. ยาว 45 ซม. กาบที่สร้างสปอร์รูปสามเหลี่ยม แกมรูปกระบอง ปลายหนากว่าโคนมาก ปลายสุดแหลมและมีจะงอยแหลม ยาว 4 ซม. กางออก กาบกว้าง 2.5 ซม. ยาว 4 ซม. ดอกเพศเมีย ยาว 16 ซม. มีขนสีน้ำตาล เป็นมันเหมือนไหมปกคลุมหนาแน่น ส่วนบนรูปสามเหลี่ยมแกมรูปหัวใจ กว้าง 7-10 ซม. ขอบจักลึก 2 ซม. เป็นซี่เล็กแหลม เรียงกันถี่ คล้ายซี่ฟันหวี ปลายยื่นยาวออกไป 4 ซม. อาจมีรอยหยักเป็นแฉก 1-2 หยัก ส่วนล่างเป็นก้านยาวเท่ากับส่วนบน ครึ่งบนของก้านมีไข่อ่อนติดอยู่ 2-3 คู่
ผล รูปไข่ ยาว 4 ซม. ผิวเกลี้ยง สุกสีเหลืองอมส้ม หรือสีส้ม
นิเวศวิทยา พบตามป่าดงดิบ และป่าสน ตามหน้าผา หรือเขาหินปูน
การใช้ประโยชน์ เมล็ด และยอดอ่อนใช้เป็นอาหาร
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ต้น ตำหรือบดสด ใช้สระผม
เพื่อแก้โรคเกี่ยวกับรากผม
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย