ประวัติการปลูกสตรอเบอรี่ในเมืองไทย

การปลูกสตรอเบอรี่ที่แม่สาย


ประวัติการปลูกสตรอเบอรี่ในเมืองไทย

ก่อน พ.ศ.2512  ในจังหวัดเชียงใหม่มีการปลูกสตรอเบอรี่  แต่ยังไม่แพร่หลาย  อาจเนื่องมาจากพันธุ์ที่ใช้ปลูกกัน(ที่เรียกว่าพันธุ์พื้นเมือง) ไม่เหมาะสม คือ ผลผลิตต่ำ ขนาดเล็ก รสชาติไม่ดี รวมทั้งเนื้อนิ่มช้ำง่าย ไม่สามารถส่งไปจำหน่ายไกล ๆได้  นอกจากนั้นวิธีปลูกปฏิบัติก็ไม่เหมาะสมรวมทั้งความรู้ในเรื่องโรคและแมลง  ของสตรอเบอรี่ยังไม่กว้างขวางพอทำให้อาชีพการทำสวนสตรอเบอรี่อยู่ในวงจำกัด จนกระทั่งในปี พ.ศ.2512 ภาควิชาพืชสวนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกับโครงการหลวงภาคเหนือทำพันธุ์สตรอเบอรี่พันธุ์ดีจากต่างประเทศเข้ามาทดลองปลูก  เพื่อหาพันธุ์ที่เหมาะสม ณ สถานีไม้ผลเมืองหนาว ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนหลายสิบพันธุ์และได้พบว่ามีพันธุ์สตรอเบอรี่หลายพันธุ์ที่ดีกว่าพันธุ์ที่ปลูกกันมาดั้งเดิม (พันธุ์พื้นเมือง)  ได้แก่พันธุ์เบอร์ 13 (แคมบริดจ์เฟเวอริท), เบอร์ 16 (ไทโอก้า, เบอร์ 20 (ซีกัวยา)  และในปี พ.ศ.2516  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานสตรอเบอรี่พันธุ์ดีทั้งสามพันธุ์นี้แก่ชาวสวนนำไปปลูกกัน จนเป็นที่แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อของพันธุ์พระราชทานเบอร์ 13, เบอร์ 16 และเบอร์ 20 พันธุ์ที่ชาวสวนนิยมปลูกกันเกือบทั้งหมดในปัจจุบันก็คือพันธุ์เบอร์ 16 หรือไทโอก้านั่นเอง

สำหรับที่อำเภอแม่สาย  ได้มีการนำสตรอเบอรี่พันธุ์ดีทั้งสามพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ.2516 เนื่องจากสตรอเบอรี่เป็นผลไม้ที่ใหม่ต่อคนไทยจึงมีราคาแพง ทำให้ชาวสวนสนใจที่จะปลูกกันมาก เพราะทำรายได้ดี  และรวดเร็วกว่าการปลูกไม้ผลอื่น ๆ จึงทำให้เนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นทุกปี  ในปีนี้อำเภอแม่สายมีพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่ กว่า 200 ไร่ พื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่ส่วนใหญ่ของอำเภอแม่สาย  อยู่บริเวณริมถนนพหลโยธิน ระหว่างกิโลเมตรที่ 880 ถึงกิโลเมตรที่ 888 (บ้านจ้อง,บ้านน้ำจำ,บ้านป่าเหมือด)  โดยบ้านน้ำจำ เป็นหมู่บ้านที่มีการนำสตรอเบอรี่เข้ามาปลูกเป็นแห่งแรกและมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในอำเภอแม่สาย และอาจกล่าวว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกสตรอเบอรี่มากที่สุดในประเทศไทย