ประโยชน์ของคึ้นไช่

ต้นคึ้นไช่
ชื่ออื่น ผักข้าวปืน ผักปึน ผักปึม (ภาคเหนือ) ขึ่งฉ่าย, ฮั่งขึ่ง (แต้จิ๋ว) ฉินฉ้าย, ฮั่นฉิน (จีนกลาง) Garden Celery, Smallage
ชื่อวิทยาศาสตร์ Apium graveolens L.
วงศ์ Umbelliferae
ลักษณะต้น เป็นพืชล้มลุกอายุ 1-2 ปี มีกลิ่นหอมฉุน ลำต้นกลวงกลม ต้นสูง 30-50 ซม. ใบรวมประกอบด้วยใบย่อย 2-3 คู่ ก้านใบรวมอาจยาว 36-45 ซม. ใบย่อยที่อยู่ชั้นล่างมีก้านใบยาวกว่าใบย่อยที่อยู่บนสุด ใบย่อยกว้าง 5 ซม. ขอบใบหยักเป็นแฉกลึก แต่ละแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือห้าเหลี่ยม ช่อดอกคล้ายซี่ร่ม ยอดดอกแผ่เป็นรัศมี ดอกเล็กเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ผลหรือเมล็ดรูปกลมรี ขนาด 1.5 มม. มีกลิ่นหอม เป็นพืชที่ชอบความชื้นเย็น เจริญได้ดีในดินทราย ในที่ที่มีอากาศหนาวและอยู่บนเขา คึ่นไช่จะมีอายุได้ถึง 2 ปีและให้ผลในปีที่สอง แต่ในที่ราบมีอายุปีเดียว ให้ผลครั้งเดียว ขยายพันธุ์โดยเมล็ด เป็นพืชที่ต้องให้ความสนใจดูแล ต้องหมั่นรดน้ำให้ปุ๋ยจึงจะงอกงามดี


ส่วนที่ใช้ ทั้งต้น เมล็ด และราก
สรรพคุณ
ทั้งต้น ลดความดันโลหิต แก้นิ่วมีปัสสาวะเป็นเลือด และฝีฝักบัว
ทั้งต้นและเมล็ด ขับลม ทำให้เจริญอาหาร บำรุงประสาท ทำให้หลับ เป็นยาขับปัสสาวะ
ราก แก้โรคปวดข้อ เก๊าท์ เป็นยาบำรุง และขับปัสสาวะ
รายงานทางคลีนิค
1. ลดความดันโลหิตและลดโฆเลสเตอรอลในพลาสมา (plasma) คึ่นไช่สด (ไม่เอาราก) ล้างให้สะอาดคั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม จำนวนเท่ากัน กินครั้งละ 40 มล. วันละ 3 ครั้ง (อุ่นก่อนกิน) ทดลองในผู้ป่วย 16 ราย ได้ผล 14 ราย ไม่ได้ผล 2 ราย โดยทั่วไปความดันโลหิตเริ่มลดลงหลังจากกินยาแล้วหนึ่งวัน มีบางรายที่ความดันเริ่มลดลง หลังจากกินยาไปแล้ว 4 วัน ผู้ป่วยจะรู้สึกเองว่าอาการดีขึ้น นอนหลับดี ปริมาณปัสสาวะมากขึ้น
รากคึ้นไช่สด 10 ต้น ล้างให้สะอาดและตำให้ละเอียดใส่พุทราจีน (แห้ง) 10 ลูก ต้มน้ำแบ่งกินเช้า-เย็น เป็นเวลา 15-20 วัน ใช้ในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ และมีระดับโฆเลสเตอรอลสูง เกินกว่า 200 มก.% ในจำนวน 21 ราย พบว่า 14 รายมีโฆเลสเตอรอลลดลง 8-75 มก.% รากคึ่นไช่สดให้ผลในการรักษาดีกว่ารากแห้ง ปริมาณยาที่ใช้เพิ่มขึ้นได้ตามอาการ
2. ปัสสาวะขุ่นขาว (chyluria) ใช้คึ่นไช่ต้นเขียว (ส่วนโคนต้น มีสีเขียว ต้นเล็กและสั้นกว่าคึ่นไช่ต้นขาว) โดยใช้ส่วนโคนต้นติดราก ครั้งละ 10 ต้น (ถ้ารากมีขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2 ซม. ให้ เพิ่มปรมาณ) ล้างให้สะอาดเติมน้ำ 500 มล. ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มจนเหลือ 200 มล. กินก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ในผู้ป่วย 6 ราย เมื่อกินติดต่อกันเป็นเวลา 3-7 วัน สังเกตได้ว่าอาการดีขึ้น 5 ราย
3. ผลต่อเชื้ออสุจิ ให้ผู้ทดลองอายุ 20-24 ปี จำนวน 7 คน กินคึ่นไช่สดคนละ 85 กรัมต่อวันเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ติดต่อกัน (ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์) พบว่าหลังจากเริ่มกินคึ่นไช่ไปแล้วเชื้ออสุจิลดลงจากค่าเฉลี่ยปกติ เกินร้อยละ 50 ภายในเวลา 1 สัปดาห์ 4 คน, ภายใน 2 สัปดาห์ 2 คน และภายในเวลา 3 สัปดาห์ 1 คน
หลังจากหยุดกินคึ่นไช่แล้ว จำนวนเชื้ออสุจิจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนสูงขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติภายใน 8-13 สัปดาห์ ผลของคึ่นไช่ต่อการทำ งานของเชื้ออสุจิไม่ปรากฏเป็นที่แน่นอนชัดเจน ปริมาตรน้ำเชื้ออสุจิก็ไม่ ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญแต่อย่างใด
ผลทางเภสัชวิทยา
1. ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต สารสกัดจากคึ่นไช่ เมื่อฉีดเข้า หลอดเลือดดำของกระต่ายและสุนัขจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตอย่างเห็น ได้ชัด เนื่องจากมีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัว ถ้าฉีดเข้าหลอดเลือดแดง ใหญ่ใกล้หัวใจ (arch of aorta) มีผลช่วยลดความดันโลหิตที่เกิดจากการ กระตุ้นด้วยสารนิโคตีน (nicotine) ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตไม่ได้เกิดจากสารอัลคาลอยด์ กรดที่สกัดได้จากคึ่นไช่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตของหนูขาวอย่างช้าๆ และคงที่ เวลาในการออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับปริมาณที่
ใช้
มีรายงานการทดลองในเมืองไทยพบว่า ไม่ว่าจะกรอกน้ำสกัดคึ่นไช่10% ทางปากหรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำสุนัข หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำกระต่าย ก็ทำให้ความดันโลหิตลดลงทั้งสิ้น โดยพบว่า คึ่นไช่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อหัวใจทำให้เลือดผ่านหัวใจน้อยลง แต่ไม่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ และแรงต้านทานส่วนปลายของหลอดเลือด สารที่ออกฤทธิ์เข้าใจว่าเป็นโปรตีนที่โมเลกุลไม่โตนัก และละลายน้ำได้
2. ฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดคึ่นไช่ พบว่า มีฤทธิ์ในการสงบประสาทและสามารถเสริมฤทธิ์ของยาเพนโตบาร์บิทัล (pentobarbital) และยังช่วยลดอัตราการตายของหนูถีบจักรที่เกิดจาก การให้ยาแอมเฟตามีน (amphetamine) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการชักที่เกิดจากการทดลองโดยกระตุ้นด้วยไฟฟ้าอย่างแรงหรือการให้ยาเมตาซอล (metazol) จากการศึกษาพบว่าฤทธิ์ในการกดประสาทส่วนกลางเกิด
จาก 3-N-butylphthalide และซีดานีโนไลด์ (sedanenolide) ซึ่งถ้าให้ ก่อนให้ยาเพนโตบาร์บิทัล จะยืดระยะเวลาการสลบ แต่เมื่อให้หลังจาก ฟื้นจากการให้ยาเพนโตบาร์บิทัลก็จะทำให้หลับทันที และมีฤทธิ์เป็นยา สงบประสาทอย่างอ่อนเมื่อใช้เพียงลำพัง
กลัยโคซัยด์ เอปิอิน (apiin) ที่ได้จากทั้งต้นสามารถต้านอาการชัก ของหนูถีบจักรที่เกิดจากการใช้โคเคน (cocain)
3. นํ้าที่ได้จากการต้มใบคึ่นไช่สด สามารถเร่งการเจริญของยีสต์ (Saccharomyces) ซึ่งช่วยลดเวลาการหมักแป้งทำขนมปัง
4. น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากเมล็ดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรค
5. น้ำที่คั้นจากคึ่นไช่ทั้งต้นมีฤทธิ์ขับปัสสาวะในสุนัข
สารเคมีที่พบ
ทั้งต้น ประกอบด้วยน้ำ กรดอะมิโน (ได้แก่ alanine, glutamic acid, glycine, aspartic acid, serine,Y-aminobutyric acid, glutamine และ asparagine คาร์โบไฮเดรท (ได้แก่ mannitol และ apiose) วิตามิน (ได้แก่ วิตามีน บี1 บี2 บี6 ซี, อี, niacin และ folic acid) และ stigmasterol
ทั้งต้นและเมล็ด พบกลัยโคซัยด์ apiin, bergapten และน้ำมันหอมระเหย (ประกอบด้วย d-limonene, d-selinene) และสารที่ให้กลิ่นและรสเฉพาะคือ 3-N-butylphthalide, sedanolide, sedanonic acid anhydride และ neochidilide นอกจากนี้เมล็ดยังมี graveoside A และ B
ในคึ่นไช่แห้งมีกรดสีเหลืองชนิดหนึ่งเมื่อละลายในสารละลายด่าง จะเรืองแสงสีเขียว เชื่อว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิต
ราก ประกอบด้วย glycolic acid และสารพิษพวก polyacetylene
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล