ประโยชน์ของพืชสุขุมที่น่าสนใจ

พืชสุขุม

กาญจเนศ  อรรถวิภาคไพศาลย์(รองศาสตราจารย์ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มก.)

“หวานเป็นลม ขมเป็นยา” เป็นคำพังเพย ที่คนไทยรู้จักกันดีมาเป็นเวลานาน เพราะคนโบราณถือว่า การกินอาหารหวานมาก ๆ จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ คือเป็นลม แต่ถ้ากินอาหารขม จะทำให้แข็งแรงเพราะมีประโยชน์และมีฤทธิ์เป็นยา ซึ่งจากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ในปัจจุบันก็ยืนยันความจริงข้อนี้แสดงว่าคำพังเพยนี้ถูกต้อง  เพราะได้มีการแสดงให้เห็นได้แล้วว่า การกินอาหารประเภทน้ำตาลมาก ๆ จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหลายโรค จนทำให้ประชาชนในบางประเทศที่รู้ความจริง ต่างก็ลดปริมาณน้ำตาลในอาหารลงอย่างมาก เช่น สหรัฐอเมริกา แต่อาหารที่มีรสขมซึ่งคนส่วนมากไม่นิยม เพราะรู้สึกว่าไม่อร่อย และไม่พยายามหัดบริโภคนั้นแท้จริงแล้วเป็นอาหารที่มีคุณค่ามากมาย และมีประโยชน์แก่ร่างกายอย่างที่คาดไม่ถึง จึงเห็นว่าการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับพืชที่มีรสขม ซึ่งในประเทศไทย จะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจและยังอาจนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ขี้เหล็ก

ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Cassia siamea Ram.

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ  Siamese Cassia

ชื่อภาษาไทย ภาคกลาง – ขี้เหล็กใหญ่

ภาคพายัพ – ขี้เหล็กบ้าน

เชียงใหม่ – ขี้เหล็กเผือก

ปัตตานี – ยาหา

ลักษณะ ขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใบมีลักษณะคล้ายใบทรงบาดาลหรือใบราชพฤกษ์ หรือใบชุมเห็ดไทย ดอกเป็นช่อแบบใหญ่ ดอกตูมสีเหลืองอมเขียวกลม เมื่อบานสีเหลืองสด ใบสวยงาม ฝักมีลักษณะยาวคล้ายฝักแค มีขึ้นตามป่าชื้นและริมน้ำ ลำคลองทั่วทุกภาค และยังมีพบในทวีปเอเซียเขตร้อน คือ อินเดีย ศรีลังกา และมาเลเซียอีกด้วย

สำหรับการบริโภคเป็นอาหารนิยมใช้ดอกตูมและใบอ่อนเป็นอาหาร ที่รู้จักกันดีคือแกงขี้เหล็ก แต่ดอกขี้เหล็กก็สามารถนำมาใช้บริโภคเป็นอาหารชนิดอื่นได้คือ ยำดอกขี้เหล็ก ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้คือ

เครื่องปรุง

ดอกขี้เหล็ก  ½  กก.

เนื้อหมูต้มหั่นแล้ว  ½ ถ้วย

กุ้งต้มหั่นแล้ว ½ ถ้วย

หอมเผาหั่นแล้ว 3 ช้อนโต๊ะ

กระเทียมเผาหั่นแล้ว 2 ช้อนโต๊ะ

พริกแห้ง

แกะเมล็ดออกแล้วเผา 5 เม็ด

หัวกะทิ ¼ ช้อนโต๊ะ

น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ

น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ

น้ำมะนาว 2-3 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

1.  ต้มดอกขี้เหล็กเปลี่ยนน้ำ 2-3 ครั้ง บีบคั้นให้ดอกขี้เหล็กช้ำและแห้ง

2.  โขลกพริกเผา หอมเผา กระเทียมเผาให้ละเอียด

3.  ตั้งหัวกะทิบนไฟพอเดือด

4.  ผสมดอกขี้เหล็กและเครื่องที่โขลกให้เข้ากัน พร้อมทั้งหมูและกุ้งที่หั่นไว้

5.  ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล น้ำมะนาว ราดด้วยหัวกะทิ

นอกจากบริโภคขี้เหล็กเป็นอาหารแล้วยังได้มีผู้ศึกษาค้นคว้าถึงคุณภาพการเป็นยาไว้ดังต่อไปนี้

1.  ยาระบาย

1.1  ใช้ใบอ่อน 4-5 กำมือต้มกับน้ำ 1 ½ ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อยรับประทานเมื่อตื่นตอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว

1.2  ใช้แก่นขนาด 2 นิ้ว 3-4 ชิ้น ต้มกับน้ำ 1 ½ ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อยรับประทานตื่นนอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียวเช่นกัน

1.3  ใช้ใบขี้เหล็กอ่อนหรือดอกตูมของขี้เหล็ก 1-2 กำมือ ใส่น้ำให้ท่วมต้มให้เดือดนาน 15 นาที กินครั้งละ 1 ถ้วยแก้วก่อนอาหารเช้าหรือก่อนนอน

2.  ยากล่อมประสาท

เอาใบเพสลาด มาสกัดด้วยแอลกอฮอล์ หรือมาดองด้วยเหล้าโรงใช้ความแรงประมาณ 15%รับประทานยาดองก่อนนอนครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงสรรพคุณของเปลือกต้นขี้เหล็กว่า แก้ไข้พิษ และแก้เสมหะอีกด้วย

สำหรับประโยชน์อย่างอื่น ของขี้เหล็กก็คือ ใบขี้เหล็ก ถ้าใส่ในตุ่มบ่มมะม่วงดิบ ๆ หรือกล้วยดิบ ๆ ช่วยให้ผลไม้สุกเร็ว

สะเดา

ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Azadirachta indica. A. Juss

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ  Neem (Nim)

ชื่อภาษาไทย ภาคกลาง – สะเดา

ภาคใต้ – เดา

ภาคเหนือ – สะเลี่ยม

นครพนม – กาเดา

ภาษามลายู – กะเดา

ภาษาส่วย – จะดัง

ลักษณะ สะเดาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ใบเล็กยาว ริมใบเป็นจักเล็ก ๆ ใบเป็นใบรวมแบบขนนก ดอกออกเป็นช่อสีขาว ผลกลมยาวเล็กน้อย ขนาดลูกหว้างาม ๆ ลูกอ่อนสีเขียว เมื่อสุกจะมีสีเหลือง รสขมจัด มีปลูกกันตามเรือกสวนทั่วไป รสขมที่มีในดินและใบสะเดาคือ azadarin และ margosin

การบริโภคสะเดานั้นนิยมบริโภคส่วนที่เป็นดอกตูม และใบอ่อน โดยบริโภคกับน้ำปลาหวานและปลาหรือกุ้งย่าง ซึ่งต้องลวกให้สุกเสียก่อน สำหรับน้ำปลาหวานมีรายละเอียดดังนี้คือ

เครื่องปรุง

น้ำตาลปี๊บ 1 ถ้วย

น้ำส้มมะขามคั้น

น้ำสุกกับน้ำปลา ½ ถ้วย

น้ำปลา ¼ ถ้วย

หอมเล็กหั่นตามขวาง ¼ ถ้วย

กระเทียมหั่นตามขวาง ¼ ถ้วย

วิธีทำ

1.  ละลายน้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มมะขามให้เข้ากัน

2.  ตั้งไฟเคี่ยวพอเป็นยางมะตูม

3.  เจียวหอม กระเทียม และพริกแห้งทอดกรอบ

4.  พักน้ำปลาหวานไว้ พอคลายร้อน โดยหน้าด้วยหอมเจียวและกระเทียมเจียว

5.  เสิร์ฟกับปลาดุกย่าง หรือทอดกรอบหรือกุ้งเผา หรือปลาช่อนย่าง และสะเดานั้นได้มีผู้ชี้แจงไว้ดังนี้คือ

สำหรับคุณสมบัติในทางรักษาโรคของสะเดานั้นได้มีผู้ชี้แจงไว้ดังนี้คือ

1.  ไข้หวัด สามารถรักษาได้โดยเอาก้านสะเดา 15 ก้าน หั่นเป็นท่อนสั้น ๆ ประมาณ 1 นิ้ว ต้มกับน้ำ 2 แก้ว เคี่ยวจากสามส่วนให้เหลือสองส่วน ใช้ดื่มครั้งละครึ่งแก้ววันละ 2-3 ครั้ง

2.  โรคผิวหนัง ให้ใช้เมล็ดสะเดาที่โตเต็มที่ 2 กำมือ มาตำหรือบีบ จะได้น้ำมันสามารถนำมาใช้ทาโรคผิวหนังบ่อย ๆ จะหายได้

3.  เหา ให้ใช้ใบสะเดาแก่ ๆ 2-3 กำมือ โขลกให้ละเอียด ผสมน้ำพอเหลวนิดหน่อย ทาผมให้ทั่วปล่อยให้แห้ง แล้วค่อยสระผมด้วยแชมพู

นอกจากนี้ยังได้กล่าวไว้ว่า เปลือกราก เปลือกต้น และผลอ่อน เป็นยาเจริญอาหารแก้ไข้มาเลเลีย ใบบำรุงไฟธาตุ ก้านใบแก้ไข ใบ เมล็ดเป็นยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อ และยากระตุ้น เฉพาะที่ใบอ่อน ดอกเป็นยาช่วยให้เจริญอาหารช่วยย่อย เปลือกสะเดา รสขมเย็นมีสรรพคุณ แก้ไข้เนื่องจากถุงน้ำดีอักเสบ แก้อาเจียน แก้สะอึก แก่นสะเดา แก้ไข้และแก้อาเจียน เป็นต้น

มะระ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Momordica charantia L.

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ  Bitter Gourd

ชื่อภาษาไทย ภาคกลาง – ฝักไห่

ภาคพายัพ – มะไห่ มะห่อย

ภาคอีสาน – ผักใส่

ภาคใต้ – ระ

ภาษาจีน – โคขวยเกี๋ยะ

ภาษากะเหรี่ยง – สุพะชู สุพารด

ลักษณะ มะระเป็นไม้เถาชอบเลื้อยพันต้นไม้อื่น หรือตามร้านที่ทำขึ้นใบเป็นจักเว้าลึกเข้าไป ดอกสีเหลืองผลสีเขียวผิวขรุขระเป็นพืชผักที่มีอายุสั้น นับตั้งแต่วันปลูกถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 45-55 วัน สามารถปลูกได้ตลอดปีแต่ได้ผลดีที่สุดในฤดูหนาว

พันธุ์มะระที่ปลูกอยู่ในประเทศไทย คือ

1.  มะระขี้นก เป็นมะระที่มีผลเล็ก ๆ สั้นป้อม ผลยาวประมาณ 3-4 ซม. ผิวขรุขระเป็นหนามแหลม สีเขียวแก่เนื้อบาง ปลูกง่ายผลดกและมีรสขมจัด

2.  มะระย่างกุ้ง เป็นมะระที่ได้พันธุ์มาจากประเทศพม่า ผลมีลักษณะเล็กยาวหัวและท้ายแหลม ผิวขรุขระเป็นหนามแหลมเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 4 ซม.

3.  มะระจีน เป็นมะระที่นำพันธุ์มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผลขนาดใหญ่สีขาวอมเขียว ผิวขรุขระร่องใหญ่ เนื้อหนา เส้นผ่าศูนย์กลาง 7-8 ซม. และยาวประมาณ 30 ซม. มีรสขมเพียงเล็กน้อย

ในการบริโภคมะระนั้น แตกต่างกันระหว่างมะระขี้นกและมะระจีน คือนิยมบริโภคมะระขี้นกเป็นผักสำหรับจิ้มน้ำพริก และมีคุณสมบัติเป็นยาสมุนไพร และมะระจีนนิยมบริโภคเป็นอาหารหลายชนิด ทั้งแกงจืด แกงเผ็ด และผัดมะระสอดไส้ เป็นอาหารอย่างหนึ่งที่ทำได้ง่ายดังรายละเอียดต่อไปนี้

เครื่องปรุง

มะระจีนผลใหญ่ 5 ผล

เนื้อหมู ½ กก.

น้ำมันหมู 1 ถ้วย

เต้าเจี้ยวดำ ½ ถ้วย

น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ

กระเทียม พริกไทย รากผักชี

วิธีทำ

1.  ต้มมะระให้สุก ควักไส้ออก ล้างผึ่งให้แห้ง

2.  สับหมูให้ละเอียด ใส่น้ำปลาผสมกับรากผักชี พริกไทย และกระเทียมที่โขลกให้ละเอียด เคล้าให้เข้ากัน บรรจุในมะระให้เต็มนึ่งในรังถึงพอสุก

3.  ทอดมะระที่นึ่งสุกแล้วให้เหลืองผิวเรียบ ตักขึ้น

4.  เจียวกระเทียมให้เหลือง ใส่เต้าเจี้ยว น้ำตาล ผัดให้หอม ราดหน้ามะระที่ตัดเป็นแว่น ซึ่งจัดใส่จานไว้

สำหรับการใช้มะระเป็นยานั้นใช้มะระขี้นก ซึ่งสามารถใช้ได้ดังต่อไปนี้

1.  แก้โรคเบาหวาย ใช้ผลขนาดกลางหั่นแล้วตากแห้ง นำมาชงด้วยน้ำร้อน ถ้าต้องการให้กลบรสขม ก็เติมใบชาลงไปด้วยขณะที่ชงรับประทานต่างน้ำชา

2.  แก้โรคพยาธิเข็มหมุด ใช้ใบมะระขี้นกสด จำนวน 20-30 ใบ หั่น แล้วชงด้วยน้ำร้อน เติมเกลือเล็กน้อย เพื่อช่วยกลบรสขม

3.  แก้โรคชันตุ และเม็ดผื่นคัน ใช้ผลสดที่ไม่สุก 1 ชิ้นโต ๆ หั่นเนื้อมะระ แล้วตำคั้นเอาแต่น้ำ เติมดินสอพอง ลงไปพอสมควร ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลและเป็นเม็ดผื่นคัน

4.  แก้โรคหืด  และโรคผิวหนัง ใช้ผลมะระขี้นกตากแห้ง แล้วป่นให้เป็นผง ใช้กับโรคแผล หรือทำเป็นขี้ผึ้งแก้โรคหิดและโรคผิวหนัง

นอกจากการใช้มะระ รักษาโรคต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว ยังได้มีผู้อธายถึงสรรพคุณของมะระอีกด้วย ผลและใบใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับลม บำรุงธาตุ ใบมะระขี้นก แก้ไข้ บำรุงถุงน้ำดี และเป็นยาระบายอย่างอ่อน ส่วนเถามะระ มีรสขมเย็น ใช้แก้ไข แก้กระหาย และบำรุงถุงน้ำดี ให้แข็งแรง

มะแว้ง

ชื่อทางวิทยาศาสตร์  Solanum sanit wongsei Craib

ชื่อภาษาไทย ภาคกลาง มะแว้ง

ภาคเหนือ มะแคว้งดำ

สงขลา สุราษฎร์ธานี แว้งคม

กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน สะกั้งแคง

ฉาน-แม่ฮ่องสอน หมากแฮ้งคม

ลักษณะ มะแว้งแตกต่างกัน 2 ชนิดคือ

1.  มะแว้งเครือ เป็นไม้เถามีหนามทั้งเถา และก้านใบ ใบเดี่ยว ออกดอกเป็นช่อตรงซอกใบสีม่วง เกสรตรงกลางสีเหลือง ผลกลมขนาดเล็กเท่ามะเขือพวง ลูกดิบสีเขียวมีลายขาว ลูกสุกสีแดงสดภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด มีรสขมจัด ขึ้นอยู่ตามที่รกร้างทั่วไป

2.  มะแว้งต้น เป็นไม้ต้นขนาดเล็กคล้ายต้นมะเขือพวง มีหนามแหลมตามต้นและกิ่ง ออกดอกสีม่วงและเกสรสีเหลือง มีผลขนาดเท่า ปลายนิ้วก้อย ลักษณะคล้ายมะแว้งเครือ

การบริโภคผลมะแว้ง นิยมบริโภคเป็นผักน้ำพริก ทั้งมะแว้งต้นและมะแว้งเครือ เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ชอบอาหารมีรสขม อย่างไรก็ตาม มะแว้งก็สามารถนำมาทำเป็นของหวานได้ คือ แช่อิ่มมะแว้ง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

เครื่องปรุง

มะแว้งสีเขียว ½ กก.

น้ำปูนใส 4 ถ้วย

น้ำตาลทรายขาว 2 ถ้วย

เกลือ 4 ช้อนชา

ข้าวสาร ¼ ถ้วย

วิธีทำ

1.  คว้านเอาเมล็ดมะแว้งออก ล้างให้สะอาด

2.  ผสมเกลือกับน้ำ 4 ถ้วย แช่มะแว้งที่คว้านไว้ประมาณ ครึ่งชั่วโมงเพื่อไม่ให้มะแว้งดำ แล้วเอาขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ

3.  เตรียมน้ำข้าว โดยใช้ข้าวสาร ¼ ถ้วย ต้มกับน้ำ 2 ถ้วย ทิ้งให้เย็นแล้วนำมาแช่มะแว้งที่แช่น้ำเกลือและผึ่งไว้ เพื่อให้หายขม  ต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยเปลี่ยนน้ำข้าววัน

2 ครั้ง ต้องระวังอย่าให้น้ำข้าวบูด และเมื่อเปลี่ยนน้ำข้าวใหม่ก็ต้องล้างมะแว้งให้สะอาดก่อนทุกครั้ง มิฉะนั้นอาจทำให้น้ำข้าวใหม่บูดเร็ว

4.  เมื่อมะแว้งหายขม ให้ล้างด้วยน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำปูนใสประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ

5.  ต้มภาชนะที่จะใส่มะแว้ง ซึ่งอาจจะใช้ขวดแก้วที่มีฝาปิดสนิทก็ได้ ให้สะอาดแล้วทิ้งไว้ให้แห้ง

6.  เรียงมะแว้งลงในขวด

7.  ผสมน้ำตาลและน้ำ 1 ถ้วย เคี่ยวให้เป็นน้ำเชื่อม ถ้าอยากให้มีสีสวยก็อาจจะหยดสีเขียวลงไปด้วย ทิ้งน้ำเชื่อมไว้ให้เย็นแล้วจึงเทน้ำเชื่อมลงในขวดที่ใส่มะแว้งไว้ ปิดฝาให้สนิทแช่ไว้จนน้ำตาลจะคลายตัว ก็ให้เอาน้ำเชื่อมออกมาเติมน้ำตาล (ไม่เอามะแว้งลงต้ม) ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วจึงเทใส่ลงไปในขวด มะแว้งใหม่ ทำเช่นนี้ 2-3 ครั้ง จนน้ำตาลซึมเข้าเนื้อมะแว้งดีแล้วซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ นำมาใช้รับประทานได้

คุณสมบัติในทางยาของมะแว้ง มีหลายประการคือ

1.  โรคเกี่ยวกับคอ

1.1  เอาลูกมะแว้ง เครือสด ๆ 5-6 ลูก นำมาเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำจนหมดแล้วคายกากทิ้งทำวันละ 2-3 ครั้ง

1.2  ใช้ลูกมะแว้งต้น เคี้ยวกลืนครั้งละ 3-5 ลูก วันละ 3-4 ครั้ง เช่นเดียวกับลูกมะแว้งเครือ

2.  โรคเบาหวาน

ผลโตเต็มที่หรือสุกใช้รับประทานเป็นอาหารทุกมื้อ (อาจใช้เป็นผักน้ำพริก) ประมาณมื้อละ 10 ผล ได้มีผู้ใช้บำบัดโรคเบาหวานได้พบว่าหลังจากเริ่มใช้มะแว้ง 6 เดือน โดยไม่ได้รับประทานยาแก้เบาหวานอย่างอื่นเลยมีอาการดีขึ้น และเมื่อรับประทานต่อไปอีก 1 ปี อาการของโรคเบาหวานจะหายขาด คือไม่พบน้ำตาลในปัสสาวะเลย

3.  ยาขมเจริญอาหาร โดยรับประทานผลมะแว้งผลโตเต็มที่ 10-20 ผลต่อมื้อเป็นอาหารกับน้ำพริก นอกจากนี้ยังมีผู้อธิบายว่า ลูกมะแว้งมีรสขมขื่น สามารถใช้เป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย และแก้ไอได้

บอระเพ็ด

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Tinospora tuberculata Beumee

ชื่อภาษาอินเดีย Gilo

ชื่อภาษาไทยภาคเหนือ จุ่งจิง

อุบลราชธานี เครือเขาฮ่อ

สระบุรี เถาหัวด้วน

อื่น ๆ เจตมูลย่าน

ลักษณะ บอระเพ็ดเป็นไม้เถาเลื้อย พาดพันต้นไม้ใหญ่ เถาอ่อนมีลักษณะเรียบสีขาว แต่เถาแก่มีสีน้ำตาลอมเขียว เป็นปุ่มโปขรุขระตลอดเถา ใบเดี่ยวมีลักษณะกลมปลายแหลมคล้ายใบชิงช้าชาลี หรือกระทุ้งหมาข้า เถาอาจเป็นง่าย แม้แต่เอาเถาที่ตัดแล้วไปแขวนไว้ตามคาคบต้นไม้ ก็ยังเกิดรากเป็นเส้นเล็ก ๆ ทิ้งรากห้อยลงมาหาพื้นดินเจริญงอกงามขึ้นได้ ดอกเป็นช่อออกตามเถาสีเหลืองเล็ก ๆ ผลมีขนาดเล็กเท่าถั่วที่มีสีแดง

บอระเพ็ดเป็นพืชรสขม ที่มีผู้ใช้เป็นยารักษาโรคต่าง ๆ มากมายเช่น

1.  ยาแก้ไข้ ลดความอ้วน ใช้เถาสดดองเหล้าความแรง 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา

2.  ยาขมเจริญอาหาร โดยใช้เถาทั้งสดและแห้ง ทำเป็นทิงเจอร์ 1 ใน 10 รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้บอระเพ็ด เพื่อรักษาโรคผิวหนังฆ่าพยาธิ น้ำสกัดจากลำต้นและใบสามารถลดน้ำตาลในเลือด น้ำมันมะพร้าวผสมกับบอระเพ็ด ช่วยบำบัดโรครูมาติซั่ม และยาต้มจากเถาของบอระเพ็ด ทำให้อาเจียนเพื่อแก้พิษงูบางชนิด เป็นต้น

สรุปได้ว่า พืชรสขมที่ได้กล่าวมาคือ ขี้เหล็ก สะเดา มะระ มะแว้ง และบอระเพ็ด ล้วนเป็นพืชที่คนไทยรู้จักกันดี มีขึ้นอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ และสามารถปลูกได้ไม่ยาก จะเห็นได้ว่าพืชที่มีรสขมเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ ทั้งเป็นอาหารและเป็นยารักษาโรค จึงน่าจะสนใจพืชเหล่านี้ และใช้เป็นอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังควรสงวนพันธุ์พืชเหล่านี้ แทนที่จะทำลายโดยเห็นว่าเป็นพืชที่ไม่มีราคา เพราะแท้ที่จริงแล้วพืชเหล่านี้มีค่ามากสำหรับผู้ที่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์