มะเกลือประโยชน์ทางยา

(Ebony Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros mollis Griff.
ชื่อวงศ์ EBENACEAE
ชื่ออื่น ผีเผา มักเกลือ หมากเกลือ
ถิ่นกำเนิด พม่า กัมพูชาและลาว
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 ม. ขนาดทรงพุ่ม 10-12 ม. ผลัดใบ ทรงพุ่มกลมหรือรูปไข่ ลำต้นเปลา โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นสีนํ้าตาลอมดำ แตกเป็นสะเก็ดหรือแผ่นบางขนาดเล็ก


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปไข่หรือรีกว้าง 3.5-4 ซม. ยาว 9-10 ซม. ปลายใบสอบเข้าหากัน โคนใบมน ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงบางแต่ค่อนข้างเหนียวสีเขียวเข้มเรียบใบอ่อนมีขนสีเงิน เมื่อแห้งสีออกดำ ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.
ดอก สีเหลือง ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแบบช่อ กระจุกที่ซอกใบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 4 แฉก โค้งไปข้างหลัง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกนํ้า ปลายแยกเป็น 4 แฉก เรียงเวียนซ้อนทับกัน ดอกเพศผู้มีขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อน อยู่รวมกันเป็นช่อๆ ละ 3 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.8 ซม. เกสรเพศผู้14-24 อัน ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดียว ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-0.8 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-พ.ค.


ผล ผลสดแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ทรงกลมหรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 ซม. ผิวเกลี้ยงสีเขียว เมื่อสุกสีดำ ไม่มีเนื้อและจะแห้ง มีกลีบเลี้ยงติดที่ขั้วผล เมล็ดรูปรี สีน้ำตาล 6 เมล็ดต่อผล ติดผลเดือน เม.ย.-ธ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ประดับมุก เปลือกไม้ หมักรวมกับน้ำตาลทำเป็นน้ำกระแช่ น้ำตาลเมา ผล ให้สีดำใช้ย้อมผ้า และแพรได้
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ลำต้น แก้ตานขโมย แก้กษัย ถ่ายพยาธิไส้เดือน แก่น แก้ฝีในท้อง แก้กษัยกล่อน ราก ฝนกับน้ำซาวข้าวแก้ลม แก้อาเจียน ผลดิบ ถ่ายพยาธิ แก้กษัยจุก แก้ตานซาง
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย