ประโยชน์ของเปล้าน้อย


ชื่อวิทยาศาสตร์ Croton sublyratus Kurz
ลักษณะ เป็นไม้พุ่มแตกกิ่งก้านสูงได้ 2-4 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ยอดอ่อนมีขนสีนํ้าตาลสั้นๆ นิ่มๆ คลุมอยู่ ซึ่งแตกต่างจากเปล้าชนิดอื่น ๆ ที่ไม่พบขนชนิดนี้ ในยอดอ่อน ใบกว้าง 4-6 ซ.ม. ยาว 15-20 ซ.ม. ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กๆ แบบฟันเลื่อย ฐานใบเรียว แหลม ใบไม่มีขน ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกตัวผู้อยู่ด้านบน ดอกตัวเมียอยู่ด้านล่าง ดอกสีนวล ผลค่อนข้างกลม มี 3 พู ขนาดของผลโตเท่าเมล็ดข้าวโพด ต้นไม้ในสกุลนี้มีลักษณะเด่นชัดคือ ใบที่แก่จัดจะมีสีส้มและร่วงหล่น ในประเทศไทยมีสมุนไพรที่ชื่อเปล้า 15 ชนิด ทั่วโลกมีประมาณ 750 ชนิด เปล้าน้อยเป็นพืชผลัดใบ
เปล้าน้อยมีอีก 2 ต้นคือ C.  congissima Airy Shaw พบมากที่จังหวัดลำปาง และ C. jufra Roxb. พบขึ้นทั่วๆ ไป เปล้าน้อยทั้ง 3 ชนิดนี้ จะแตกต่างกันที่รูปร่าง ขนาดของใบ ผลและดอก
ส่วนที่ใช้ ใบที่ไม่แก่
สารสำคัญ เป็นพวก furanoditerpenes 5 ชนิด ได้แก่ Plaunol A. (C20 H20 O6) มี mp.214°-217°, Plaunol B (C2() H2() O6) มี mp. 184°, Plaunol C (C2() H20 O7) มี mp. 197°-199°, Plaunol D (C2() H22 O7) มี mp. 170°-172° และ Plaunol E (C22 H 24 O8) มี mp. 180°-181° และมีสาร 18- hydroxygeranylgeraniol
นักวิชาการชาวญี่ปุ่น Ogiso และคณะ ได้ทำการวิจัยเปล้าน้อยตั้งแต่ปี 2521 มาตลอดเวลา 10 กว่าปี พบว่ามีสารสำคัญที่สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ และยังช่วยสมานแผลในโรคกระเพาะอาหารชนิดเรื้อรัง ทำให้แผลหายเร็ว เนื่องจากไปสร้างเนื้อเยื่อบุกระเพาะ ลดปริมาณนํ้าย่อย และลดอาการหลั่งกรด
ประโยชน์ทางยา ปัจจุบันได้มีการเตรียมยาแผนปัจจุบันจากใบเปล้าน้อย เพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นออกจำหน่ายแล้ว โดยได้มีการจดทะเบียนยาไว้ที่ประเทศญี่ปุ่นและในประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นยาแผนปัจจุบนชนิดล่าสุด ที่สกัดได้จากพืชสมุนไพร
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ