ประโยชน์จากต้นโสกน้ำ

(Asoka, Saraca)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Saraca indica L.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE – CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น ส้มสุก โสก อโศกน้ำ
ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8-12 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มกลม แผ่กว้างและแน่นทึบ เปลือกต้นสีนํ้าตาลอมเทาหรือดำ ค่อนข้างเรียบหรือมีรอยแตกตื้นๆ ตามแนวยาว


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 10-30 ซม. ใบย่อย 1-7 คู่ รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 1.5-10 ซม. ยาว 5-30 ซม. ปลายใบแหลมโคนใบสอบ เบี้ยว แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเรียบเป็นมัน ใบอ่อนสีเขียว อมเหลือง ออกเป็นช่อห้อยย้อย
ดอก สีเหลืองและเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นที่ปลายกิ่งช่อดอกตั้งยาว 5-10 ซม. ดอกย่อยรูปดอกเข็ม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 4 แฉก รูปไข่ กลับแกมรูปขอบขนานปลายมนไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ยาว 6-8 อัน สีเหลืองครึ่งทางด้านปลายสีแดง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 1.2-1.5 ซม. ออกดอกเดือน ม.ค.-ม.ค.


ผล ผลแห้งแตกสองตะเข็บ เป็นฝักทรงแบน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง 2-6 ซม. ยาว 6-25 ซม. สีเขียว เมื่อสุกสีนํ้าตาล เมล็ดรูปรีแกมรูปขอบขนาน เรียงตามขวางของฝัก สีนํ้าตาลเข้ม 3-5 เมล็ดต่อฝัก ติดผลเดือน ก.พ.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามริมน้ำ ป่าทั่วทุกภาคของไทย
การใช้ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ร่มเงาทรงพุ่มสวย ดอกสวย มีสีสัน ใบอ่อนและดอก ทำแกงส้ม ยำหรือทำผักจิ้มน้ำพริก
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ดอก บำรุงธาตุ แก้ไอ และขับเสมหะ
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย