หญ้าแห้วหมูประโยชน์ทางยา


ชื่ออื่น หญ้าขนหมู(แม่ฮ่องสอน) ซาเช่า(แต้จิ๋ว) ซัวฉ่าว(จีนกลาง) Nut Grass.
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyperus rotundus L.
วงศ์ Cyperaceae
ลักษณะต้น เป็นพืชจำพวกกกคล้ายต้นหญ้า สูง 12-15 ซม. ที่เห็นเป็น ลำต้นเกิดจากก้านใบหุ้มซ้อนกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ใบเล็กยาวคล้ายรูปหอก กลางใบเป็นร่อง ช่อดอกพุ่งขึ้นจากกลางต้น ดอกย่อยไม่มีก้านดอก ดอกเล็กแห้งคล้ายดอกหญ้า ลำต้นใต้ดินเป็นหัวสีดำขนาดเท่าเมล็ดพุทรากลม และมีกลิ่นหอม เป็นวัชพืชขึ้นตามข้างทาง ทุ่งนา และที่รกร้าง
ส่วนที่ใช้ ลำต้นใต้ดิน(หัว)
สรรพคุณ
ขับลม แก้อาการแน่นหน้าอก อาเจียน เข้ายาธาตุแก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ เป็นยากล่อมประสาท เป็นยาแก้ปวดในหญิงที่ประจำเดือนไม่ปกติ ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ใช้แก้อาการคันตามผิวหนัง เป็นยาพอกฝีดูดหนอง
หมอพื้นบ้าน ใช้เป็นยาบำรุงทารกในครรภ์ ปรุงเป็นยาธาตุขับลม ในลำไส้ และแก้อาการปวดท้องเนื่องจากท้องอืดเฟ้อ ใช้ผสมในลูกแป้งหมาก หรือแป้งเหล้า ในการทำแอลกอฮอล์ เพราะทำให้เกิดแก๊สเร็ว
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ขับลม ปวดท้อง บิด ใช้หัวแห้ง 5-10 กรัม ตำกับขิง(Zingiber officinale Rose.) จำนวนเท่ากัน คั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำต้ม กินก่อนอาหารวันละ 3 เวลา
2. อาการบวมน้ำ ปัสสาวะน้อย ใช้หัวสดตำพอกบนจุดหย่งเฉวียน* และจุดกวานเยวียน**
3.ฝีหนอง ใช้หัวสดล้างให้สะอาดตำพอก
4. น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้มีฤทธิ์ไล่แมลงและฆ่าแมลง
สารเคมีที่พบ
ห้ว มีน้ำมันหอมระเหย 0.5-0.9% ซึ่งประกอบด้วย cyperene, cyperol, isocyperol, cyperone, pinene และ cineoli


*จุดหย่งเฉวียน : เป็นจุดกึ่งกลางของเส้นแบ่งเส้นแรกจากปลายเท้า เมื่อแบ่งฝ่าเท้าเป็น 3 ส่วนเท่าๆ กัน (งอนิ้วเท้าทั้งห้าเข้าหาอุ้งเท้า ที่อุ้งเท้าจะปรากฏรอยบุ๋มจุดนี้คือจุดหย่งเฉวียน)
**จุดกวานเยวียน: เป็นจุดใต้สะดือ 3 ชุ่น (1 ชุ่น ยาวเท่ากับ รอยพับข้อนิ้วข้อที่สองของนิ้วกลาง)
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล