ปรับปรุงและบำรุงดินเปรี้ยวเพื่อปลูกข้าว

สัญชัย  สัตตวัฒนานนท์

กองปฐพีวิทยา

กรมวิชาการเกษตร

ดินเปรี้ยว พบในประเทศไทยในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ฝั่งตะวันออก รวมเป็นพื้นที่ประมาณ ๙ ล้านไร่ ดินเปรี้ยวส่วนใหญ่ใช้ในการทำนา

เนื่องจากดินเปรี้ยวมีแต่ไพโรท์เป็นส่วนประกอบสูง เมื่อดินมีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี ไพโรท์จะทำปฏิกิริยากับอ๊อกซิเจนเกิดกรดกำมะถัน กรดที่เกิดขึ้นมีปริมาณมากจนเกินความสามารถของสารมีฤทธิ์เป็นด่างในดินจะเสทิน(หมายถึงเป็นกลางหรือไม่มีสภาพเป็นกรดหรือด่าง) ได้หมด ทำให้ดินเปรี้ยวจัดและเกิดการก่อตัวของแร่จาโรไซท์ที่มีสีเหลืองฟางเด่นชัด อันเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของดินเปรี้ยว แร่จาโรไซท์ที่เกิดขึ้นไม่คงตัวต่อมาจะสลายตัวให้กรดกำมะถันอีก

จากการวิจัย ปัญหาของดินเปรี้ยวที่มีต่อการปลูกข้าว ได้แก่ อันตรายเกิดจาก ไฮโดรเจนไอออน ความเป็นพิษของเหล็ก อะลูมิเนียม และ ซัลไฟต์ การขาดฟอสฟอรัสและธาตุด่าง และ การจำกัดของปฏิกิริยาจุลินทรีย์ในดิน

ดินเปรี้ยวในประเทศไทยถูกแบ่งตามความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น ดินเปรี้ยวจัด พีเอช(ค่าความเป็นกรดด่างของดิน ค่าน้อยจะแสดงว่าดินเป็นกรด ๑-๖ และค่ามากแสดงว่าดินเป็นด่าง ๘-๑๓ ส่วนค่า ๗ แสดงว่าเป็นกลาง(เสทิน)) ๓.๕-๔.๐ ดินเปรี้ยวปานกลาง พีเอช ๔.๑-๔.๕ และดินเปรี้ยวน้อย พีเอช ๔.๖-๕.๕

เนื่องจากดินเปรี้ยวมีสมบัติแตกต่างกันออกไปดังกล่าวมาแล้ว การปฏิบัติต่อดินเปรี้ยวเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว จึงขึ้นอยู่กับสภาพของดินแต่ละแห่ง

นาดินเปรี้ยวนั้นปรับปรุงได้

สรุปโดยทั่วไปการจัดการดินเปรี้ยวเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวกระทำโดยวิธีการ ๒ อย่างคือ

๑.  ปรับปรุงดินเพื่อให้ความเปรี้ยวและสารพิษลดลง

๒. ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน

วิธีที่ ๑  การปรับปรุงดินเปรี้ยวเพื่อให้ความเปรี้ยวและสารพิษลดลง ทำได้หลายวิธีคือ

ก.  การใส่ปูน การใส่ปูนก็เพื่อปรับพีเอชของดินให้สูงขึ้น ลดความเป็นพิษของอะลูมิเนียมและเหล็ก และช่วยเพิ่มปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ในดิน

ปูนที่พบว่าใช้ได้ในดินเปรี้ยว คือ ปูนมาร์ล ปูนขาว และ หินฝุ่น อัตราแนะนำของการใช้ปูนอยู่ระหว่าง ๑ ถึง ๓ ตันต่อไร่ อัตราต่ำหรือสูงขึ้นอยู่กับปริมาณของกรดในชั้นดินบน ความตื้นลึกของชั้นจาโรไซท์ และความถี่บ่อยของการใส่ปูน การใส่ปูนเกินความพอดีมีข้อเสียคือทำให้โปแตสเซียมและจุลธาตุบางธาตุตกตะกอน และซัลไฟต์เป็นพิษ

ข.  การขังน้ำ การขังน้ำเพื่อให้ดินขาดอากาศจะทำให้ความเป็นกรดของดินลดลง และอะลูมิเนียมตกตะกอน การไม่ปล่อยให้ดินแห้งจะเป็นการป้องกันการเกิดกรดและสารพิษขึ้นมาใหม่ การปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรังช่วยปรับปรุงดินเปรี้ยวไปในตัว

ค.  การใส่อินทรีย์วัตถุ การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และไถกลบพืชและตอซังเพื่อเพิ่มอาหารให้แก่จุลินทรีย์ในดิน เมื่อร่วมกับการขังน้ำช่วยเร่งให้กรดและสารพิษในดินลดลงเร็วกว่าการขังน้ำเพียงอย่างเดียว

ง.  การชะล้างดิน การปรับปรุงดินโดยวิธีชะล้างดินก็เพื่อใช้น้ำชะล้างสารพิษออกไปจากดิน วิธีการก็คือทำการไถดินเพื่อให้อากาศซึมลงไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีในดินเกิดกรดและสารพิษ ถ้าในดินมีความชื้นพอเหมาะ ปฏิกิริยาชีวเคมีที่ทำให้เกิดกรด และสารพิษจะรุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากนั้นก็เอาน้ำขังท่วมแปลงเป็นเวลา ๑-๒ วัน เพื่อละลายสารพิษ แล้วระบายน้ำออกนอกแปลงโดยเร็ว

การใช้วิธีปรับปรุงดังกล่าวหลายวิธีร่วมกัน จะทำให้ลดกรดและสารพิษได้มากขึ้นและเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีใดในการปรับปรุงดินเปรี้ยวควรขึ้นอยู่กับความเหมาะสมด้วย

วิธีที่ ๒  การใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน

เนื่องจากดินเปรี้ยวเป็นดินที่ขาดธาตุฟอสฟอรัสอย่างรุนแรง ดังนั้นถ้าไม่ใส่ธาตุนี้ แม้จะมีธาตุอาหารอย่างอื่นครบในกรณีข้าวจะให้ผลผลิตตั้งแต่น้อยมากจนถึงไม่ให้ผลผลิตเลย นอกจากนั้นดินเปรี้ยวยังขาดธาตุไนโตรเจน ดังนั้นการใส่ปุ๋ยข้าวปลูกในดินเปรี้ยวอย่างน้อยต้องมีปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟต ปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำคือปุ๋ย ๑๖-๒๐-๐ หรือ ๒๐-๒๐-๐ หรือปุ๋ยสูตรใกล้เคียงอื่น ๆ ใส่ไร่ละ ๒๕ กิโลกรัม (หรือจะใช้ปุ๋ยหินฟอสเฟตไร่ละ ๕๐ กิโลกรัม กับปุ๋ยยูเรีย (๔๖-๐-๐) ไร่ละ ๑๐ กิโลกรัมก็ได้) ใส่เป็นปุ๋ยครั้งที่ ๑ ที่ระยะปักดำ (ถ้าเป็นนาหว่านน้ำตมใส่หลังข้าวงอก ๒ สัปดาห์) ปุ๋ยครั้งที่ ๒ ใช้ปุ๋ยยูเรีย ๑๐ กิโลกรัม ใส่แต่งหน้าที่ระยะกำเนิดช่อดอก (ก่อนข้าวออกดอก ๑ เดือน) สำหรับพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสงถ้าต้องการผลผลิตสูงกว่านี้จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้สูงกว่าอัตราและนำดังกล่าว

นอกจากการปรับปรุงและการใส่ปุ๋ยดังกล่าวทั้ง ๒ วิธีการดังกล่าวแล้ว การปลูกข้าวพันธุ์ที่ทนทานต่อดินเปรี้ยวก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการจัดการเพื่อการผลิตข้าวในดินเปรี้ยวผลจากการคัดพันธุ์ปรากฎว่า ข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ มีความทนทานต่อดินเปรี้ยวสูง