ปลาหมอตาล

ปลาหมอตาล (Kissing Gouramy) Helostoma temminki Cuv.8i Val.

ปลาหมอตาลเป็นปลาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาแรด แต่ขนาดโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ 300 กรัม เป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจเช่นเดียวกับปลาแรด มีลำตัวแบนข้าง บริเวณด้านบนของลำตัวสีเทาอมเขียว มีแถบสีดำพาดขวางบริเวณหัว 1 แถบ และบริเวณโคนหางอีก 1 แถบ ปากขนาดเล็กยืดหดได้ ปลาหมอตาลเป็นปลาที่กินอาหารจำพวกสาหร่ายสีเขียว หรือสีน้ำเงินแกมเขียวชนิดเซลล์เดียว (Blue green algae) ตะไคร่น้ำ อาหารผสมจำพวกรำ ปลายข้าว และปลาป่น

การเลี้ยงปลาหมอตาล

เป็นปลาที่เหมาะสมที่จะเลี้ยงในนารวมกับปลานิล ปลาไน เพราะปลาชนิดนี้จะใช้ประโยชน์จากอาหารต่างชนิดกับปลาดังกล่าว นอกจากนี้ในบ่อที่เลี้ยงปลานิลที่อุดมไปด้วยสาหร่ายสีเขียวชนิดเซลส์เดียว (Phytoplankton) ซึ่งเป็นอาหารโดยตรงตามธรรมชาติของปลาหมอตาล ดังนั้น จึงใช้ปลาชนิดนี้แก้ปัญหาน้ำเสียอันเนื่องมาจากสาหร่ายดังกล่าวและยังเป็นการเพิ่มพูนผลผลิตปลาอีกด้วย

การเพาะปลาหมอตาล

การเพาะปลาหมอตาลทำได้ง่ายมาก สามารถเพาะในถังส้วมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร สูง 40 ซม. ใส่น้ำให้ระดับสูง 35 ซม. ใช้ปลา 1 คู่ ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์ขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยาว 2 เมตร ความลึก 60 ซม. ใส่น้ำ 50 ซม. สามารถเพาะปลาหมอตาลได้ครั้งละ 2-3 คู่

ปลาหมอตาลตัวผู้เรียวแคบกว่าตัวเมีย ในฤดูวางไข่ปลาหมอตาลตัวเมียจะมีท้องใหญ่ ลักษณะความแตกต่างของเพศปลาหมอตาลที่สามารถสังเกตได้อีกอย่างหนึ่ง คือปลาตัวเมียจะมีก้านครีบท้องเสมอกัน ส่วนตัวเมียก้านครีบท้องอันที่สามจะยาวกว่าอันอื่นๆ ฤดูวางไข่ของปลาหมอตาลเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน- ตุลาคม ไข่ของปลาหมอตาลเป็นลักษณะไข่ลอย มีไขมันพอสมควร ปลาหมอตาลตัวเมียขนาด 150-250 กรัม จะวางไข่ได้ครั้งละ 10,000-20,000 ฟอง ไข่จะฟักเป็นตัวภายในเวลา 12 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำเฉลี่ย ราว 26 ∘ซ. ภายหลังที่ไข่ฟักเป็นตัวแล้ว 2-3 วัน จะต้องรวบรวมลูกปลาวัยอ่อนขนาดเล็กลงเลี้ยงในบ่อดิน หรือบ่อซีเมนต์เพื่อลดความหนาแน่นลง และทำการเลี้ยงอนุบาลเช่นเดียวกับลูกปลาอื่นๆ