ปลาเทโพ

ลักษณะทั่วไปเป็นปลาไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายกับปลาสวายเพราะเป็นปลาในสกุลเดียวกัน มีหัวโตหน้าสั้นทู่กว่าปลาสวาย ลำตัวยาวและด้านข้างแบน นัยตาค่อนข้างโตและอยู่เหนือมุมปาก ปากกว้าง มีฟันซี่เล็กแหลมคมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง มีหนวดเล็กและสั้นอยู่ที่ริมฝีปากและมุมปาก แห่งละหนึ่งคู่ กระโดงหลังสูงและมีด้านเดี่ยวอันแรกเป็นหนามแข็ง ครีบหูมีเงี่ยงแหลมแข็งข้างละอัน มีครีบไขมันอยู่ใกล้กับโคนครีบหาง ครีบหางมีขนาดใหญ่ปลายแหลมเป็นแฉกลึก ลำตัวบริเวณหลังมีสีดำคล้ำหรือสีน้ำเงินปนเทา หัวสีเขียวอ่อน ท้องสีขาวเงิน มีจุดสีดำขนาดใหญ่เหนือครีบหู ถิ่นอาศัย แต่เดิมมีชุกชุมในลำน้ำเจ้าพระยา ในปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยลง ในภาคอีสานพบในแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียก ปลาหูหมาด อาหารกินสัตว์น้ำที่ขนาดเล็กกว่าและซากของสัตว์ ขนาดความยาวประมาณ 80-120 ซม.

การเลี้ยง

ปลาเทโพเมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อจะกินอาหารได้แทบทุกชนิด เช่นเดียวกับปลาสวาย แต่ปลาชนิดนี้จะเจริญเติบโตดีถ้าได้ให้ปริมาณอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนสูงกว่าปลาสวาย ในระยะเวลา 1 ปี ปลาจะโตถึง 5 กก. ในบ่อที่เลี้ยงด้วยไข่ไก่ตายโคม แต่โดยปกติถ้าเลี้ยงด้วยอาหารผสมจะได้น้ำหนัก 1.5 กก. ปลาชนิดนี้สามารถจะนำไปเลี้ยงได้ทั้งในบ่อ กระชัง และในคอก เช่นเดียวกับปลาสวาย

การเพาะ

ปัจจุบันสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดหนองคายสามารถเพาะปลาชนดนี้ได้ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนและผสมเทียม ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการเพาะปลาสวาย

ปลาชนิดนี้เป็นที่นิยมบริโภคของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเหมาะสมที่จะแปรรูปทำอาหารพื้นเมืองที่เรียกว่า เค็มหมากนัด บรรจุขวดจำหน่ายด้วยราคาค่อนข้างสูงและเป็นที่นิยม สำหรับราคาปลาสดที่ซื้อขายในปัจจุบันกิโลกรัมละประมาณ 60 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาปลาสวายถึง 3 เท่า ดังนั้น จึงสมควรพิจารณาส่งเสริมการเลี้ยงปลาชนิดนี้ขึ้นในภูมิภาคนี้ เพราะตลาดมีความต้องการสูง