ปลูกผักหวานบ้าน ป้อนให้กับโครงการฯเขาหินซ้อน

พูดถึงผักหวานบ้านแล้วแน่นอนว่าหลายคนนึกถึงโครงการพัฒนาส่วนพระองค์ เขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งปลูกผักหวานบ้านในเชิงการค้าอย่างจริงจัง ในพื้นที่ขนาดใหญ่ป้อนให้กับโกลเด้น เพลส และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ จนทำให้ผักหวานบ้าน เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคจนถึงตอนนี้  ซึ่งความจริงแล้วผักหวานบ้านเป็นผักพื้นบ้านที่บริโภคกันมานานแล้วแต่ไม่โด่งดังเป็นที่รู้จักกว้างขวางนัก  ยังคงเป็นเพียงผักพื้นบ้านที่บริโภคกันในกลุ่มชาวบ้านเท่านั้น แต่พอโครงการฯ เขาหินซ้อนมาผลิตและส่งเสริมการบริโภคอย่างจริงจัง  ก็ทำให้ตลาดโตและขยายตัวอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว จนโครงการไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการของตลาด และเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วโครงการฯเขาหินซ้อนก็ได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรที่นี่ปลูกแล้วรับซื้อคืนในราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม

คณะกรรมการหมู่บ้านปรึกษากันแล้วคิดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้และน่าจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกในหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี  จึงตัดสินใจปลูกผักหวานบ้านป้อนให้กับโครงการฯ โดยใช้พื้นที่ว่างในหมู่บ้านประมาณ 20 ไร่ และให้สมาชิกลงทุนร่วมกันโดยการขายหุ้นให้กับเกษตรกรหุ้นละ 100 บาท  ซึ่งการลงทุนครั้งแรกค่อนข้างสูงทีเดียว  พี่ทองหล่อบอกว่าลงทุนไปทั้งหมดหลักล้านแล้ว  โดยแปลงผักหวานขนาด 20 ไร่ นี้ลงทุนติดตั้งระบบน้ำสปริงเกลอร์เต็มพื้นที่เพื่อความสะดวกในการดูแล  ซึ่งหมดไปกว่า 3 แสนบาท แต่ส่วนที่หนักเห็นจะเป็นค่ากิ่งพันธุ์ ซึ่งซื้อจากโครงการทั้งหมดกว่า 9.8 แสนบาท  โดย 1 ไร่จะปลูกผักหวานได้ 7,000 ต้น

การบริหารแปลงผักหวานก็จะให้สมาชิกหรือผู้ถือหุ้นแต่ละคนแบ่งหน้าที่กันไปเป็นต้นว่า ฝ่ายผลิตหรือดูแลแปลงผักหวาน ฝ่ายจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์อย่างพวก ปุ๋ย สารเคมี ฝ่ายเก็บเกี่ยวและบรรจุ ฝ่ายตลาด เป็นต้น  ที่ผ่านมาสามารถเก็บยอดผักหวานป้อนให้กับโครงการฯ ได้อาทิตย์ละประมาณ 300-500 กก.  พี่ทองหล่อบอกว่าเคยเก็บตัวเลขผลผลิตดูผักหวานจะสามารถเก็บยอดได้ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน  โดยช่วงฝนยอดจะงามและเก็บยอดได้เยอะ แต่ช่วงหนาวจะเก็บยอดได้น้อยลง

การเก็บยอดจะเก็บยอดเดือนละ 8 ครั้งหรืออาทิตย์ละ 2 ครั้ง  โดย 20 ไร่จะแบ่งเป็น 8 แปลงย่อย การเก็บยอดในแต่ละวันใช้คนค่อนข้างเยอะ  ถ้าเก็บยอดวันหนึ่ง 200 กิโลกรัม ต้องใช้คนมากถึง 20 คนเลยทีเดียว  โดยจะเริ่มเก็บยอดตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 10 โมงเช้า  เพราะทางโครงการฯ จะเข้ามาเอาผักตอน 11 โมงเช้า ค่าจ้างเก็บจ้างวันละ 100 บาท หรือคิดแล้วตกประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม หลังจากเก็บยอดแล้วจะนำยอดผักหวานมาแช่ในน้ำผสมน้ำแข็งอุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส  โดยจุ่มยอดผักหวานในน้ำแข็งนาน 1 นาที แล้วผึ่งในสะเด็ดน้ำ พี่ทองหล่อบอกว่า การแช่ยอดผักในน้ำแข็งนี้จะทำให้ผักกรอบและเก็บได้นาน จากนั้นนำใส่ลังพลาสติก ลังละ 3.5 กิโลกรัม

สำหรับการดูแลผักหวานนั้นพี่ทองหล่อบอกว่างานหลักก็จะมีถางหญ้ากับใส่ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยจะใส่เดือนละครั้ง ใช้สูตร 15-15-15 เดือนหนึ่งใช้ประมาณ 20 กระสอบ ส่วนการพ่นสารเคมีก็มีบ้างเหมือนกันแต่ไม่บ่อยเพราะทางโครงการฯ จะมีการตรวจสอบผลผลิตด้วย  ส่วนใหญ่จะเจอปัญหา เพลี้ยไฟบ้าง ถ้าช่วงไหนเจอก็ต้องพ่นสีเคมี แต่ปัญหาใหญ่ตอนนี้ก็คือโรคจากเชื้อรา ซึ่งผักหวานจะมีอาการใบเหลืองและร่วง ที่ผ่านมาเคยนำไปตรวจเชื้อที่ ม.เกษตรศาสตร์ พบว่า เกิดจากเชื้อรา ฟูซาเรียม (Fusarium sp) ซึ่งตอนนี้ก็แก้ไขโดยการพ่นสารเคมีควบคู่กับการปรับสภาพดิน นอกจากนี้ยังใช้วิธีกรรมชาติ คือใช้น้ำปูนละลายให้ตกตะกอน แล้วนำน้ำใสที่ได้ 20 ลิตร มาผสมน้ำ 200 ลิตร พ่นทุกสัปดาห์ ซึ่งก็ทำให้อาการดีขึ้น โรคนี้นับว่าเป็นปัญหาสำหรับการผลิตผักหวานของที่นี่พอสมควร

นอกจากจะมีหุ้นในแปลงผักหวานของหมู่บ้านแล้ว  พี่ทองหล่อยังปลูกผักหวานเป็นส่วนตัวอีกประมาณ 2 งาน  ซึ่งก็สามารถเก็บขายได้เดือนหนึ่ง 100 กิโลกรัม ส่งขายให้กับร้านอาหารในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความต้องการค่อนข้างมาก

นอกจากอาชีพที่พูดถึงแล้วเกษตรกรหลายคนยังมีการทำสวนมะม่วง การเลี้ยงไก่พื้นเมือง ปลาสวยงาม เป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย  นับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

สนใจเข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด 109 ม.3 ตำบลบ้างซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.(038) 520-688 หรือติดต่อ พี่ทองหล่อ  บุญปองหา  ได้ที่ 109/29 หมู่ 3 ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 21420 โทร.(09) 836-8053