ปวยเหล็ง (Spinach)


ลักษณะทั่วไป
เป็นพืชอายุสั้น เหมาะที่จะปลูกเป็นพืชเสริมเมื่อมีเวลาหรือพื้นที่เหลือระหว่างฤดู โดยมากปลูกบนพื้นที่เล็กน้อย (20-100 ตร.ม.) ชอบอากาศหนาว แต่ราคาและกำไรดีถ้าปลูกในฤดูฝน แม้ผลผลิตจะต่ำ ซึ่งแก้ได้โดยปลูกใต้โรงเรือนพลาสติค
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Orient, Pacific, Oscar, Dash, Sperk
ฤดูปลูก ตลอดปี
ระดับความสูง ฤดูร้อน/ฝน 1000 เมตรขึ้นไป
ความเป็นกรดด่างของดิน 6.0-6.8
ชนิดของดิน ร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    10×15 ซม.
ความลึก 0.8-1.0 ซม.
จำนวนต้น 60 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของแปลง 50 ซม.
ระยะเวลาที่เจริญเติบโตเต็มที่ 33-45 วัน แล้วแต่ฤดูกาล
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุนผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
พืชชอบฤดูหนาว มีปัญหาเมล็ดงอกน้อย ปัญหาแมลงในฤดูร้อนและโรคในฤดูฝน สำหรับการปลูกและดูแลอย่างดีภายใต้โรงเรือนพลาสติค ในฤดูฝนจะช่วยให้พืชผลเสียหายลดลงและได้รายได้สูง
ผลผลิต
ฤดูหนาว อากาศเหมาะสม ปัญหาโรคมีน้อย จึงให้ผลผลิตสูง ในฤดูร้อน พืชจะแทงช่อเร็ว ทำให้ต้องรีบเก็บเกี่ยวและได้น้ำหนักน้อย ในฤดูฝน ช่วงฝนชุก ต้นอ่อนหักเสียหาย และมีปัญหาโรคพืช
เกรด
ผลผลิตฤดูหนาวและฝนได้เกรด A ประมาณ 50-60% ส่วนฤดูร้อนได้เกรด A เพียง 40-50%
ราคาขายของเกษตรกร
ราคาสูงมากในฤดูฝน (20-25 บาท/กก.) เทียบกับ 5-7 บาท ในฤดูหนาว และ 10-13 บาทในฤดูร้อน
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ต้นทุนสูงเมื่อปลูกในฤดูฝนโดยไม่ใช้โรงเรือนพลาสติค ต้องฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชและยากำจัดเชื้อราถึง 1.5-2 ครั้ง พืชตอบสนองต่อปุ๋ยคอกดี
การปลูกใต้โรงเรือนพลาสติค
ลดความเสียหายเนื่องจากฝนและโรคในฤดูฝน ทำให้ได้ผลผลิตสูง ประกอบกับราคาในช่วงนี้ค่อนข้างสูง ทำให้การลงทุนสร้างโรงเรือนให้ผลคุ้มค่า ต้นทุนโครงเหล็กและผ้าพลาสติครวมประมาณ 40 บาท/ตร.ม. ต้นทุนเฉลี่ยตามตารางที่แล้วรวมถึงค่าเสื่อมราคา (อายุโครงเหล็ก 10 ปีและผ้าพลาสติค 2 ปี) และดอกเบี้ยเงินทุน (ร้อยละ 6)
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
เกษตรกรเห็นว่าเป็นพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวเมื่อไรก็ได้จึงละเลยการดูแลที่ดี เช่น การให้น้ำ ทำให้ผลผลิตและคุณภาพต่ำ การเก็บเกี่ยวพืชเมื่อเปียกทำให้เน่าเสียระหว่างขนส่ง และการตัดต้นระดับสูงเกินไปทำให้เสียใบพืชไม่ได้ขายเต็มที่
การปลูกปวยเหล็งแต่ละครั้ง ควรทดสอบความงอกและพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ในฤดูฝนจะเกิดการสูญเสียจากโรคและปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างมาก ถ้าเป็นไปได้ ควรสร้างโรงเรือนพลาสติค ในการเก็บเกี่ยวควรจะเก็บผลผลิตในช่วงตอนเช้าหรืออากาศเย็นเพื่อลดการสูญเสีย เนื่องจากการคายน้ำของพืช และเลือกภาชนะบรรจุให้เหมาะสมเพื่อลดการสูญเสียจากการขนส่ง
การตลาด
พืชสูญเสียระหว่างการขนส่งไปกรุงเทพฯ มาก (50-60%) ทำให้เกษตรกรขายได้ราคาต่ำ ราคาเฉลี่ยในตลาด 15-30 บาท/กก. ระหว่าง ธ.ค.-เม.ย. 30-70 บาท/กก. ระหว่าง พ.ค.-พ.ย. ราคาสูงสุดช่วง มิ.ย.-ส.ค.
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค ปัญหาแมลงในฤดูร้อน และโรคในฤดูฝน
ศัตรูพืช
หนอนกระทู้ดำ (Black cut Worm) พบในช่วงร้อน ม.ค.-เม.ย. สังเกตจากลำต้นล้มเหี่ยว ป้องกันแก้ไขโดยราดด้วย คูมิฟอส (Kumiphos) หรือ ลอร์สแบน (Lorsban) เมื่อพบการทำลาย
เพลี้ยอ่อน พบตลอดปีและมากช่วงฤดูร้อน ตัวเพลี้ยอยู่ตามยอดและใต้ใบ ทำให้ใบหงิก ป้องกันและแก้ไขโดยใช้ อโซดริน (Azodrin) แลนเนท (Lannate) หรือ นุวาครอน (Nuvacron) 1 หรือ 2 ครั้ง แล้วแต่ความรุนแรง
เพลี้ยไฟ (Thrips) พบช่วงฤดูร้อน สังเกตจากใบมีรอยหยาบสีน้ำตาลและหงิก ใช้ พอส์ส (Posse) และ เมซโรล (Mesurol) 1-2 ครั้ง เมื่อพบการทำลาย
หนอนกินใบ (Leaf-eating Worm) พบตลอดปี ใช้ แอมบุช (Ambush) หรือ อโกรน่า (Agrona) เมื่อมีปัญหา 1-2 ครั้ง
ไส้เดือนฝอย (Nematodes) พบได้ทั้งปีในบางพื้นที่ สังเกตจากต้นแคระแกร็นและมีปมที่ราก ป้องกันแก้ไขได้โดยขุดดินและทิ้งตากแดดไว้ ก่อนจะปลูกอีกครั้ง
โรค
โรคโคนเน่า(Damping Off) เกิดจากเชื้อรา สังเกตจากต้นอ่อน หักล้มตายเป็นหย่อมๆ แก้ไขโดยใช้ แคปแทน (Captan) ราด 2-3 ครั้งก่อนราด ควรขุดต้นที่เป็นโรคออกเสียก่อน
โรคใบจุด (Leaf Spot) เกิดจากเชื้อรา Cercospora sp. และ Septoria sp. ระบาดมากช่วงฝนชุก สังเกตจากรอยแผลสีน้ำตาลตามใบ วิธีป้องกันแก้ไขใช้ ดาโคนิล (Daconil) สลับหรือผสมกับ เบนเลท (Benlate) กันไว้ตลอดทุกๆ 7-10 วัน
โรคราน้ำค้าง (Downy Mildew) เกิดจากเชื้อราในช่วงฤดูฝน สังเกตจากรอยสีเหลืองอ่อนบนใบ มีเส้นใยของราสีขาวใต้ใบ ป้องกันแก้ไขโดยใช้ ดาโคนิล (Daconil) สลับหรือผสมกับ เอพรอน 35 (Apro 35) เมื่อมีการระบาด 1-2 ครั้ง หรือจนโรคหยุดระบาด
อื่นๆ ดินขาดธาตุแมกนีเซียม(Magnesium Deficiency) สังเกตจากพื้นที่ระหว่างเส้นใบเป็นสีเหลือง แต่เส้นใบยังคงเป็นสีเขียว ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่นธาตุอาหารเสริมเช่น โทน่า (Tona) เอ็มซีเอ (MCA) ไบโฟลาน (Bayfolan) กันไว้ตลอด หรือเมื่อพบอาการ
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อ ตร.ม.)
ในแต่ละขั้นตอนการผลิต ต้องการชนิดและปริมาณปัจจัย ดังนี้


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
การฉีดพ่นยาสารเคมี
มากน้อยตามการระบาดของศัตรูพืชและโรค มักสูงในฤดูฝน ควรให้ความดูแลและเอาใจใส่มากระยะต้นอ่อนและตั้งตั้ง
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงปลูก
ขุดดินตากทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ คลุกปูนขาว ปุ๋ยคอก และปุ๋ย 15-15-15 ลงในดิน ย่อยดินให้ละเอียด ขึ้นแปลงกับปรับให้เรียบ ขีดร่องลึกประมาณ 1 ซม. ขวางแปลงห่างกัน 15 ซม. หยอดเมล็ดตามร่องห่างกัน 2-3 ซม. กลบด้วยดินละเอียด รดน้ำด้วยถังฝักบัว ราดยากันราและกันมด ถ้าต้องการคลุมแปลงด้วยตาข่ายพลาสติคในฤดูร้อนเพื่อกันแดด หลังงอกให้เอาผ้าคลุมแปลงออก แต่ถ้าอากาศร้อนจัดให้คลุมแปลงโดยตลอด เพื่อลดความร้อน การปลูกฤดูฝน ควรอยู่ในโรงเรือน ป้องกันฝนทำลายต้นพืชและลดปัญหาโรคพืช
ข้อควรระวัง
1. อย่าหยอดเมล็ดถี่ เพราะจะเกิดโรคโคนเน่า
2. รักษาความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงก่อนเมล็ดงอก
3. ป้องกันไม่ให้ฝนตกกระแทกต้นพืช
ช่วงดูแลรักษา
กำจัดวัชพืชหลังหยอดเมล็ด 15 วัน ถอนแยก ใส่ปุ๋ย 46-0-0 และ 13-13-21 พ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงตามความเหมาะสมแล้วแต่สภาพอากาศและการระบาด ให้น้ำทุกวันในฤดูร้อน อย่าให้น้ำมากเกิน เพราะจะทำให้เกิดโรคและได้ผลผลิตต่ำ
ช่วงเก็บเกี่ยว
ขุดดินพร้อมราก หรือใช้มีดตัดลึกกว่าผิวดินเล็กน้อย ปล่อยให้ต้นอ่อนตัวในที่ร่ม พืชไม่ควรเปียกเมื่อบรรจุ ใช้กระดาษห่อผัก 0.5-1 กก. บรรจุในตะกร้าพลาสติค หรือกล่อง กระดาษควรเก็บเกี่ยวในวันที่จะทำการขนส่ง
ข้อควรระมัดระวัง
ไม่ควรรดน้ำพืช 24 ชั่วโมงก่อนเก็บเกี่ยวหรือล้างน้ำหลังเก็บเกี่ยว เพราะจะทำให้พืชผลเสียหาย