ปอกระเจามีสรรพคุณดังนี้


ชื่อวิทยาศาสตร์ Corchorus capsularis Linn.
ชื่ออื่นๆ กระเจา กาเจา (ไทย) เส้ง ปอเส้ง (พายัพ)
ชื่ออังกฤษ White Jute, Jute.
ลักษณะ เป็นไม้ล้มลุก อายุ 1 ปี สูงประมาณ 1 เมตรเศษๆ แตกกิ่งก้าน ต้นมักมีสีม่วง ใบเดี่ยว รูปไข่แหลม เรียงสลับกันใบกว้าง 4-5 ซ.ม. ยาว 5-12 ซ.ม. ยาว เรียว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบบาง ที่แผ่นใบตรงฐานใบมีเส้นเล็กๆ สีแดงๆ อยู่ 2 เส้น เป็นลักษณะของพืชในตระกูลนี้ (Corchorus) ฐานของแผ่นใบมนกลม ดอกสีเหลืองขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกระหว่างซอกใบ กับกิ่ง ผลกลมเป็นพู 5 พู ผิวของผลขรุขระ ผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.7-1 ซ.ม. ผลแตกได้ ภายในมีเมล็ดสีนํ้าตาลเป็นจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ ใบอ่อน ใบแก่ เมล็ด และใยจากต้น
สารสำคัญ ในใบมีไกลโคไซด์ชื่อว่า capsularin ผลมี olitoxizid เมล็ดมีไกลโคไซด์ corchoroside-A, D, E และ corchorin (C22 H36 O8) พบcorchorgenin และ corchortoxin ทั้งสองจะออกฤทธิ์ เช่น genin ของ digitalis นอกจากนั้นแล้วในเมล็ดพบ corchoritin และ corchorin ซึ่งมีรสขม
ประโยชน์ทางยา ยาชงของใบ เป็นยาบำรุงธาตุขับลม ระบาย ยาขมเจริญอาหาร ใบแห้ง ป่น เป็นผงรวมกับขมิ้นใช้รักษาบิด
ผล เป็นยากระตุ้นหัวใจ เนื่องจากมีฤทธิ์คล้ายๆ ตัวยาในดิจิตาลิส
รากและผลที่ยังไม่สุก ต้มกินแก้ท้องเดิน ในรัสเซียพบว่าสาร olitoxizid เป็น สารที่มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ในเบงกอลใช้ใบแห้งชงนํ้ารับประทาน เช่นนํ้าชา ใช้แก้ตับพิการ ยาชงของใบปอกระเจารวมกับลูกผักชีและผลเทียนเยาวพาณี ใช้เป็นยาธาตุและบำรุง
เมล็ดของปอกระเจาเป็นพิษต่อสุนัข กินตาย จาก Lloydia เดือนกันยายน- ตุลาคม 2519 มีรายงานว่าผลไม่สุกใช้ลดการอักเสบ ใช้ในโรคหายใจไม่สะดวก แก้ไข้ ส่วนเปลือกใช้ แก้บิด แก้ไข้
อื่นๆ ทางอุตสาหกรรม ใยของลำต้นใช้ทอกระสอบ ทำเชือกและทำเอ็นไว้ใช้ทอเสื่อ ใบอ่อนสด ผัดเป็นอาหาร
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ