ปอหู

(Pohu)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus macrophyllus Roxb. ex Hornem
ชื่อวงศ์ MALVACEAE
ชื่ออื่น ปอจง อูจง
ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-15 ม. ขนาดทรงพุ่ม 4-6 ม.ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มทรงกระบอกหรือรูปกรวยโปร่ง เปลือกต้นสีนํ้าตาลอ่อนหรือสีครีม แตกเป็นร่องตื้นตามแนวยาวและมี ช่องระบายอากาศขนาดใหญ่


ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปเกือบกลมหรือรูปหัวใจ เส้นผ่านศูนย์กลาง ใบ 15-35 ซม. ปลายใบมนมีติ่งแหลม โคนใบเว้ารูปหัวใจ ขอบใบเรียบ หรือมีรอยหยักตื้นๆ แผ่นใบบางและอ่อน ย่นเป็นลอน ผิวใบด้านบน สีเขียวสด มีขนประปราย ผิวใบด้านล่างมีขนหนาแน่นใบอ่อนมีขนรูปดาว ปกคลุมหนาแน่นและหูใบขนาดใหญ่ห่อหุ้ม ก้านใบยาว 10-26 ซม.


ดอก สีเหลืองสดมีแต้มสีม่วงตรงกลาง เปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อดอก ใกล้รวง ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ช่อดอกตั้ง ดอกย่อย 2-3 ดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ด้านนอกมีหนามเล็กๆ ด้านในมีขน ที่ฐานมีริ้วประดับ 10-12 อัน กลีบดอกเชื่อมติดอยู่กับหลอดเกสรเพศผู้เดยโคนเชื่อมติดกันและบิดคล้ายกรวย เกสรเพศผู้จำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 7-9 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-เม.ย.
ผล ผลแห้งแตกกลางพู รูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-3.5 ซม. กลีบเลี้ยงและริ้วประดับรองรับมีขนแข็งๆ ยาวสีทองปกคลุมด้านนอก เมื่อสุกสีน้ำตาล เมล็ดรูปไตสีนํ้าตาลเข้มจำนวนมาก ติดผลเดือน มี.ค.-พ.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
นิเวศวิทยา พบตามที่โล่งช่องเปิดของป่าชื้น
การใช้ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างภายใน เปลือก ใย ลอกเป็นเส้นใย ใช้ทำเชือก
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย