ปักษาสวรรค์:ไม้ดอกเขตร้อน

ปักษาสวรรค์(Bird of Paradise) เป็นไม้ดอกเขตร้อนชนิดหนึ่งที่ออกดอกตลอดปี นิยมใช้ตัดดอก หรือปลูกเพื่อประดับสถานที่ตกแต่งสวน ความสวยงามของไม้อกที่มีชื่อเสียงเรียงนามไพเราะเช่นนี้ เป็นที่ติดอกติดใจผู้ที่รักดอกไม้มามากต่อมากแล้ว เนื่องด้วยลักษณะเด่นของดอกเมื่อเวลาบานเต็มที่ จะมีลักษณะคล้ายนกเกาะที่ก้านดอกหรือกาบดอก บางท่านก็จินตนาการเห็นเป็นนกที่กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า บ้างก็เห็นเป็นหัวนกที่มีหงอนหรือลักษณะการกรีดนิ้วมือของหญิงสาวด้วยท่าทางที่ชดช้อย ก็แล้วแต่สายตาของแต่ละท่านที่จินตนาการแตกต่างกันไป

แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากยังสับสนและเข้าใจผิดคิดว่าปักษาสวรรค์เป็นไม้ดอกชนิดเดียวกับธรรมรักษา(ก้ามกุ้ง ก้ามกั้ง และก้ามปู;Heliconia)เพราะมีลักษณะดอกคล้ายๆกัน ถ้าพิจารณาในแง่ของความงาม ดอกธรรมรักษานั้นสู้ปักษาสวรรค์ไม่ได้ ราคาก็ถูกกว่า การปลูก การเลี้ยงดูและการขยายพันธุ์ก็ทำได้ง่ายกว่า ซึ่งตรงจุดนี้ก็อยากให้ทุกท่านทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ถูกต้องตรงกันคือ “ปักษาสวรรค์” เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ (Family) Strelitziaceae สกุล (genus) Strelitzia (พืชในวงศ์นี้รวมทั้งกล้วยพัดด้วย) ซึ่งต่างกับธรรมรักษาที่อยู่ในวงศ์ Heliconiaceae สกุล Heliconia สมัยก่อนพืชทั้งสามชนิด คือ ปักษาสวรรค์ กล้วยพัด และธรรมรักษา จะอยู่ในวงศ์เดียวกวันคือ Musaceae ทั้งปักษาสวรรค์และธรรมรักษาสามารถแบ่งย่อยเป็นชนิด (species) ได้อีกซึ่งในตอนนี้จะพูดถึงเฉพาะชนิดของปักษาสวรรค์เท่านั้น

ก่อนที่จะแนะนำรายละเอียดให้ลึกลงไปถึงชนิดของปักษาสวรรค์ เรามาทำความรู้จักกับไม้ดอกเขตร้อนที่มีชื่ออันไพเราะว่า “ปักษาสวรรค์” กันเบื้องต้นก่อน

“ปักษาสวรรค์” มีชื่อสามัญว่า Bird of Paradise มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้ ปักษาสวรรค์มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมปลูกกันมากมี 2 ชนิดคือ Strelitzia reginae (ดอกสีส้ม) และ Strelitzia Nicolai (ดอกสีขาว)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะต้น มี 2 ชนิดคือ

1.  ชนิดที่ไม่มีลำต้นอยู่เหนือพื้นดิน ต้นเป็นหัวหรือเหง้าเจริญอยู่ใต้ดิน มีแต่ก้านใบและตัวใบโผล่ขึ้นมาเท่านั้น ก้านใบมีสีแดงคล้ำ โผล่ขึ้นมาเหนือดิน ใบเป็นใบเดี่ยว เป็นอิสระแต่มักรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ 5-6 ฟุต เช่น Strelitzia reginae, Strelitzia parvifolia เป็นต้น

2.  ชนิดที่มีลำต้นอยู่เหนือพื้นดินเห็นได้ชัดเจน มีลำต้นสูง ใบคล้ายกล้วยพัด บางชนิดสูงถึง 30 ฟุต ใบยาว 6 ฟุต ชนิดนี้ในเมืองไทยขณะนี้ที่มีต้นใหญ่ๆ และมีดอกหาดูได้ยาก เช่น Strelitzia Nicolai, Strelitzia alba เป็นต้น

ใบ  มีสีเขียวเข้ม เนื้อใบเปราะกระด้าง มีเส้นใบย่อยขวางกับใบเป็นเส้นบรรทัดตามแนวเฉียง ใบรูปรีขอบขนาน ปลายใบแหลม ริมใบเรียบเกลี้ยงไม่มีจัก โคนใบเรียวสอบเข้าหาก้านใบ ก้านใบในช่วงต่อรับจากใบเป็นก้านมนกลม ในช่วงเหนือดินราว 1 ฟุต ก้านใบจะแผ่แบนโค้งเข้าหากันเป็นลักษณะกาบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 ฟุต ช่วงใบยาวประมาณ 1-2 ฟุต ขนาดใบกว้างประมาณ 3-4 นิ้ว

ดอก  ปักษาสวรรค์จะเริ่มให้ดอกเมื่ออายุประมาณ 3-6 ปี แต่จะไม่ออกดอกจนกระทั่งมีใบอย่างน้อยที่สุดจำนวน 10 ใบ เมื่อออกดอกปักษาสวรรค์จะแทงก้านดอกเป็นลำกลมขึ้นมาจากกาบโคนใบ สูงมาเหนือกอดอกออกเป็นช่อในส่วนปลายของก้านดอก ดอกปักษาสวรรค์ช่อหนึ่งๆจะมีดอกรวมอยู่ในกาบรองดอกเดียวกันตั้งแต่ 3-7 ดอก กาบรองดอกมีลักษณะคล้ายกาบของปลีกล้วย สีของดอกและกาบรองดอกนี้ในแต่ละพันธุ์จะมีสีที่แตกต่างกันออกไป ในดอกหนึ่งๆ ประกอบด้วยกลีบดอกรูปใบหอกปลายแหลม 3 กลีบ กลีบหนึ่งๆ ยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว เกสรตัวผู้มีลักษณะคล้ายหัวลูกศรตอนปลายสุดของท่อเกสรตัวผู้เป็นส่วนของเกสรตัวเมียซึ่งมีสีน้ำตาลอ่อนมองคล้ายลักษณะของส่วนแหลมที่สุดของปลายลูกศรนั่นเอง ดอกปักษาสวรรค์ ช่อหนึ่งๆ เมื่อบานเต็มที่จะยาวได้ตั้งแต่ 4-8 นิ้ว ลักษณะการบานของปักษาสวรรค์คล้ายนกเกาะหรือลักษณะของการกรีดนิ้วมือ ดอกจะบานจากโคนไปหาปลาย

เมล็ด  กลม เปลือกหนา ผิวเรียบเป็นมัน

การขยายพันธุ์  แยกหน่อหรือเพาะจากเมล็ด (ถ้าต้องการจำนวนต้นมาก) วิธีการให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น โดยการนำเมล็ดแช่ในน้ำร้อน 100°c เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนนำไปปลูก 7-10 วัน

สภาพดินฟ้าอากาศที่ชอบ  ปักษาสวรรค์ชอบขึ้นในที่กลางแจ้ง ต้องการแสงมากตลอดทั้งวัน ลมสงบต้องการน้ำในปริมาณที่พอเหมาะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี และดินที่มีปุ๋ยธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก

ชนิดของปักษาสวรรค์

1.  Strelitzia augusta เป็นชนิดที่มีลำต้นสูงจากพื้นดินคล้ายกล้วยพัด (Ravenala) ลำต้นสูง 18-20 ฟุต หรือบางต้นสูงถึง 300 ฟุต ใบยาว 4-6 ฟุต ใบตองมักแตกเป็นริ้ว เพราะถูกลมพัดตีใบแตก ช่อดอกใหญ่สั้น ติดกาบใบชิดลำต้น มีกาบช่อดอกที่เรียกว่าbract หรือ spath .ใหญ่แข็งภายในมีดอกสีขาว

2.  Strelitzia caudata เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศรัสเซียและทวีปแอฟริกาใต้ ลักษณะลำต้นคล้ายๆกับ S.augusta แต่กาบดอกมีสีชมพู ภายในมีดอกสีขาว

3.  Strelitzia Nicolai ลำต้นสูงคล้าย S.augusta และ S.caudata แต่มีกาบดอกสีแดง กลีบดอกสีน้ำเงินอ่อนปนขาว ช่อดอกค่อนข้างใหญ่

4.  Strelitzia alba ชนิดนี้มีขนาดกอสูงได้ถึง 10 เมตรทีเดียวแต่ช่อดอกกลับเล็กนิดเดียว ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนๆ เกือบขาว กาบรองดอกเป็นสีขาวซีดๆ

5.  Strelitzia parvifolia ขึ้นเป็นกอใหญ่ กอไม่สูงมากนักประมาณ 4 ฟุต ไม่มีลำต้นสูงพ้นพื้นดิน ใบกลมคล้ายกก ก้านดอกยาวชูตั้งตรงขึ้นทำให้ดอกแลดูเด่น กาบดอกสีเหลืองตัวดอกสีเหลืองม่วง มียอดกลีบดอกสีน้ำเงิน

6.  Strelitzia reginae เป็นพวกที่ไม่มีลำต้น แตกกอได้ดี ก้านใบยาว ตัวใบกว้างมน ขอบใบห่อเข้าภายในเล็กน้อย กอสูงประมาณ 3-5 ฟุต เจริญเติบโตช้า กาบใบมีสีเทาปนเขียวและชมพูอ่อนๆ ใบหนาเป็นมันเส้นกลางใบมีสีแดงหรือชมพูอ่อนๆ ดอกชูขึ้น มีก้านดอกยาว มักเป็นช่อดอกเดียวหรือมีสองดอกอยู่บนก้านเดียวกัน กลีบดอกเป็นรูปเรือ สีส้มแก่ปนม่วง กลีบดอกในสีส้ม ปลายกลีบแหลมมีสีน้ำเงิน เมื่อเวลาบานเต็มที่คล้ายนกเกาะที่ก้านดอกหรือที่กาบดอก

7.  Strelitzia kewensis เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่าง S.reginae กับ S.augusta ดอกมีสีเหลืองอ่อน ที่โคนกลีบสีชมพูอ่อน