ปัญหาและอุปสรรคที่มีต่อการผลิตและการปลูกผัก

ผักเป็นพืชล้มลุกที่มีช่วงอายุการเจริญเติบโตสั้น ที่ให้ผลผลิตนำมาใช้ประโยชน์บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของต้น กิ่ง ก้าน ใบ ผล หัว ราก และฝัก ส่วนใหญ่เป็นพืชอวบน้ำ succulent) และมีส่วนที่เป็นเนื้อมาก จัดเป็นพืชที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเป็นอยู่ของมนุษย์มากทั้งในด้านที่เป็นอาหารและด้านเศรษฐกิจ

ด้านอาหาร

ผักเป็นพืชอาหารที่มนุษย์จะขาดเสียมิได้ เนื่องจากผักมีส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหลายอย่าง ได้แก่ เกลือแร่ ธาตุสำคัญๆ และวิตามินชนิดต่างๆ ที่ร่างกายต้องการเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ช่วยให้ระบบกลไกต่างๆ องร่างกายดำเนินไปเป็นปรกติ ช่วยให้เกิดพลังงานให้มีความต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ของร่างกายดำเนินไปเป็นปรกติ และยังช่วยให้ร่างกายฟื้นหายจากโรคได้อย่างรวดเร็ว หากขาดอาหารประเภทผักหรือได้รับไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะอ่อนแอ อาจเกิดอาการผิดปกติขึ้น ทำให้ความต้านทานต่อโรคต่างๆ ลดลง หรือทำให้ร่างกายทนต่อการ เปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวไม่ได้ดีเท่าที่ควร

ด้านเศรษฐกิจ

เนื่องจากผักมีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ดังกล่าว ทำให้ต้องมีการปลูกการผลิตขึ้น เป็นผลก่อให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนตามมา โดยการซื้อขายนี้อาจเป็นไปในระหว่างกลุ่มชนในท้องถิ่นเดียวกันหรือใกล้เคียงระหว่างจังหวัด และในที่สุดอาจขยายกว้างออกไปถึงขั้นระหว่างประเทศขึ้น ดังเช่นปัจจุบันประเทศไทยเราสามารถผลิตและส่งผลิตผลที่ได้จากผักหลายชนิดออกไปจำหน่ายยังประเทศข้างเคียงเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง เป็นมูลค่านับล้านๆ บาทในแต่ละปีเหตุนี้จึงก่อให้เกิดเป็นความสำคัญในแง่ของเศรษฐกิจตามมา นอกจากนั้นหากเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ แล้ว ผักจัดว่าเป็นพืชที่มีอายุการเจริญเติบโตและให้ผลเก็บเกี่ยวได้ในเวลาสั้นกว่า ในเนื้อที่ปลูกและระยะเวลาที่เท่ากัน พืชผักสามารถทำรายได้ให้กับผู้ปลูกและผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องสูงกว่าการกสิกรรมในด้านอื่น ตามตัวเลขสถิติที่รวบรวมได้จากกองเศรษฐกิจการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เฉพาะพืชผัก เพียง 3 ชนิด อันได้แก่ พริก หอม กระเทียม ที่ผลิตได้ไนช่วงฤดูการเพาะปลูกระหว่างปี พ.ศ. 2518 ถึง 2523 ทำรายได้ถัวเฉลี่ยให้กับผู้ปลูกรวมกันเป็นมูลค่ากว่าปีละ 5,000 ล้านบาท ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ได้จากการผลิตและการจำหน่ายเพียงอย่างเดียว ไม่รวมถึงค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดโรคแมลงและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากนำมารวมกันทั้งหมดแล้ว จะเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนที่ใช้จ่ายไปในการนี้รวมกันสูงกว่าตัวเลขดังกล่าวอีกมาก

ปัญหาและอุปสรรคที่มีต่อการผลิตและการปลูกผัก

เนื่องจากผักเป็นพืชที่มีอายุการเจริญเติบโตสั้น มีองค์ ประกอบและโครงสร้างละเอียดอ่อนเปราะบางเสียหายได้ง่าย การปลูกและผลิตผักจึงมักจะประสบกับอุปสรรคและปัญหาต่างๆ อันเป็นผลทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพนานับประการ ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกไปจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค พอจะสรุปได้ดังนี้

ความไม่เหมาะสมของสถานที่ปลูกอันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อม

โดยทั่วไปแล้วพบว่าพืชผักสามารถเจริญเติบโตได้ ในช่วงของอุณหภูมิตั้งแต่ 10 – 40 ∘ซ ความชื้นไม่น้อยกว่า60% (ทั้งอากาศและดิน) pH ของดินระหว่าง 4-8 แต่เนื่องจากผักจัดว่าเป็นพืซที่มีอายุการเจริญเติบโตให้ผลเก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ได้ในเวลาสั้น มีโครงสร้าง องค์ประกอบที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนฉะนั้นในช่วงของสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น pH หรือแม้แต่แสงสว่างในการเจริญเติบโต ผักแต่ละชนิดจึงต้องการสิ่งเหล่านี้เฉพาะตัวของมันซึ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นผักที่ปลูกขึ้นได้ดีในท้องถิ่นหนึ่งจึงไม่สามารถเจริญงอกงามให้ผลสมบูรณ์ได้ เมื่อนำไปปลูกในที่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นผิดไป หรือแม้หากทำได้ก็จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนและค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ไม่สามารถผลิตเป็นปริมาณมากได้เพราะราคาขายจะต้องสูงตาม จำหน่ายยาก นอกจากนั้นในท้องถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยไม่อยู่ในกรอบดังกล่าว มีอุณหภูมิร้อนหรือเย็นจัดจนเกินไป แห้งแล้ง ดินมีสภาพเป็นกรดหรือด่างจัดจนเกินไป เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเพาะปลูกพืชผักไม่ได้ผล นับเป็นต้นเหตุในการจำกัดทั้งปริมาณในการผลิตและคุณ ภาพของผลผลิตให้ลดลงได้ทั้งสิ้น

ปัญหาเกี่ยวกับภูมิประเทศและลักษณะของดินปลูก

พืชผักเกือบทุกชนิดจะงอกและเจริญเติบโตได้ดี เฉพาะในที่ที่อุดมสมบูรณ์ในบริเวณที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำ หรือมีแหล่งให้น้ำพอเพียง ดินต้องเป็นชนิดที่เหมาะต่อการเพาะปลูกไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว ร่วนหรือดินปนทราย จะต้องเป็นดินที่มีแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นตลอดจนอินทรีย์วัตถุเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ในภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา หรือทะเลทรายไกลจากแหล่งน้ำ ดินมีลักษณะแข็งเป็นหินมีแต่กรวดหรือทรายจัดจนเกินไป มีลักษณะเป็นแอ่ง ห้วย หนอง คลอง บึง มีน้ำขังอยู่ตลอดปี เหล่านี้ย่อมไม่เหมาะที่จะทำการเพาะปลูกผักทั่วๆ ไป หรือปลูกเป็นปริมาณมากไม่ได้

มีต้นทุนในการผลิตสูง

พืซผักที่มีต้นทุนในการผลิตสูง เช่นผักที่ปลูกยาก ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ระวังรักษาเป็นพิเศษ หรือผักที่นำมาปลูกในแหล่งที่ผิดไปจากธรรมชาติเดิมของมัน จำเป็นต้องควบคุม ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตเ ช่นในท้องถิ่นที่มีอากาศหนาวจัด ร้อนจัด หรือไม่มีพื้นผิวดินที่เหมาะต่อการเพาะปลูก พวกนี้ต้องปลูกในเรือนกระจก ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ ต้องปลูกในน้ำยาหรืออาหารในภาชนะที่เตรียมเป็นพิเศษ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ผักพวกนี้นอกจากไม่สามารถผลิตเป็นปริมาณมากได้แล้ว ยังต้องจำหน่ายในราคาสูง ทำให้มีผู้บริโภคอยู่ในวงจำกัด ผลได้จึงมักไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป

ปัญหาเกี่ยวกับระยะทางและการขนส่ง

ในกรณีที่แหล่งผลิตไม่ได้อยู่ใกล้ชุมชน หรือผู้บริโภคใน

สถานที่บางแห่งมีความอุดมสมบูรณ์มีสิ่งแวดล้อมต่างๆ และมีดินดีเหมาะแก่การปลูกผักแต่อยู่ไกลแหล่งบริโภคหรือตลาด ในปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งทำการเพาะปลูกผักใหญ่ๆ เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง ซึ่งล้วนแต่ไกลออกไปจากกรุงเทพฯ (แหล่งบริโภคใหญ่ที่สุด) ทั้งสิ้น เช่นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอฝาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งบางแห่งอยู่บนภูขาสูง ไกลจากชุมชน ทางคมนาคมไม่สะดวก การปลูกแม้จะได้ผลดีผลิตได้เป็นจำนวนมาก แต่พืชผักบางชนิดกว่าจะส่งมาถึงกรุงเทพฯ เกิดการเสียหายและสูญเสียไปเป็นจำนวนมากเสมอ ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่มักเนื่องมาจากการขาดการเอาใจใส่และละเลยต่อการปฏิบัติที่ถูกต้องอันพึงกระทำต่อผักที่ต้องเคลื่อนย้ายหรือขนส่งเป็นระยะทางไกล ดังที่ทราบแล้วว่าผักนั้นเป็นพืชเปราะบางอวบอ่อน แตกหักเสียหายได้ง่ายทั้งโดยตัวของมันเองและจากโรคแมลงต่างๆ หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วบางครั้งไม่ได้ทำความสะอาด ไม่มีการล้างนํ้าหรือแช่น้ำยาเพื่อฆ่าทำลาย เชื้อที่อาจติดมาจากแปลงปลูกหรือที่เกิดขึ้นภายหลังขณะขนส่งและรอการจำหน่าย ไม่มีการบรรจุลงในหีบห่อภาชนะที่ถูกต้องเหมาะต่อรูปทรงของผักชนิดนั้น เพื่อป้องกันการเบียดกดอัดกระทบกัน ยานพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกหรือขนส่งไม่ได้เป็นชนิดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับขนส่งพืชผักโดยเฉพาะ การนำขึ้นบรรทุกยานพาหนะมักจะคำนึงถึงแต่ปริมาณให้ได้มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายอันอาจเกิดตามมาแม้กระทั่งการขนถ่ายขึ้น-ลงจะปราศจากความระมัดระวังโดยการโยนขึ้นและเหวี่ยงอย่างแรง เหล่านี้ล้วนเป็นทางนำไปสู่ความเสียหายได้ทั้งสิ้น

อายุความคงทนของผักหลังเก็บเกี่ยวแล้วอยู่ไม่ได้นาน

นอกเหนือไปจากความเสียหายที่เกิดขึ้นขณะทำกาขนส่งและเดินทางแล้ว จากลักษณะธรรมชาติของผักคือมีโครงสร้างเนื้อเยื่อที่อวบอ่อนเปราะบาง มีนํ้ามาก ทำให้ผักเก็บไว้ไม่ได้นานมักจะเหี่ยวเฉา เน่าเสียหายหรือเสื่อมคุณภาพเร็วมื่อเทียบกับพืชผลอย่างอื่น นอกจากนั้นยังง่ายต่อการที่ถูกเชื้อโรคต่างๆ ทั้งที่อาจติดมาจากแปลงปลูกและภายหลังจากที่เก็บเกี่ยวแล้วเข้าทำลาย หากไม่สามารถจำหน่ายให้หมดไปได้ในเวลาอันสั้น หรือมีความจำเป็นต้องเก็บไว้นานๆ แล้ว มักจะเสียหายทำให้ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์เสมอ จากการคำนวณและการคาดคะเนเกี่ยวกับความเสียหายของพืชผักโดยทั่วๆ ไปซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเก็บเกี่ยวในสภาวะปกติ ทั้งจากโดยธรรมชาติของผักเองและจากการทำลายของโรค พบว่ามีถึง 20% หรือมากกว่า

ปัญหาเกี่ยวกับพ่อค้าคนกลางและการตลาด

ปัญหานี้จัดว่าเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชีพในการกสิกรรมเกือบทุกแขนง โดยเฉพาะในเรื่องของผัก เนื่องจากเป็นพืชที่เสียหายเสื่อมสภาพเร็วเก็บไว้ไม่ได้นาน ทำให้เกิดเป็นสภาวะจำยอม บางครั้งกสิกรผู้ปลูก ต้องรีบขายผลิตผลของตนให้พ่อค้าคนกลางไปแม้จะถูกกดราคาหรือยอมรับราคาที่พ่อค้ารับซื้อเป็นฝ่ายกำหนดให้ ทั้งๆ ที่ต่ำกว่าต้นทุนในการผลิต นอกจากนั้นยังพบอีกว่าระหว่างพ่อค้าต่อพ่อค้าได้มีการติดต่อคบคิดร่วมมือกันในอันที่จะไม่รับซื้อผลิตผลจากกสิกรหากไม่ยอมรับราคาที่พวกตนตั้งไว้ ครั้นจะนำไปจำหน่ายเสียเองให้ถึงผู้บริโภคโดยตรงก็ทำไม่ได้ เนื่องจากทุนน้อย ขาดคน ขาดเวลา ขาดสถานที่และทำเลที่จะจำหน่าย ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งในปัจจุบันคือในด้านเศรษฐกิจส่วนตัวของกสิกรเอง ส่วนใหญ่มักจะมีสภาพความเป็นอยู่และมีฐานะค่อนข้างยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง มีทุนน้อย บางรายในการดำเนินอาชีพต้องขึ้นอยู่ กับนายทุนหรือพ่อค้าคนกลางโดยตลอดทั้งที่ดินและเงินลงทุน เมื่อได้ผลผลิตออกมาก็ถูกนายทุนเรียกเก็บเอาไปจำหน่ายเสียเอง แล้วก็หักหนี้กันไป อาจเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันสำหรับครอบครัวบ้าง พอให้อยู่ได้ไปวันๆ เมื่อถึงฤดูปลูกใหม่ก็ต้องกู้กันอีกหมุนเวียนอยู่ในสภาพเช่นนี้เรื่อยไป นอกจากบางปีหรือบางฤดูโชคดี บังเอิญผักที่ปลูกตลาดมีความต้องการสูง ประกอบกับที่อื่นๆ ปลูกไม่ได้ผล หรือได้น้อย ทำให้จำหน่ายได้ราคาดี ก็พอที่จะมีเงินเหลือจากการใช้หนี้เป็นกอบกำ สามารถเก็บไว้เป็นทุนสำรองของตนเองต่อไปได้ แต่ในกรณีนี้มักจะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แล้วก็มักจะก่อให้เกิดเป็นปัญหาใหม่ติดตามมาในปีหรือฤดูปลูกถัดไป กล่าวคือจะเกิดการตามอย่างมุ่งผลิตหรือปลูกพืชผักชนิดเดียวกันนั้นออกมาเป็นจำนวนมาก จนเกินความต้องการของตลาด ผลก็คือขายไม่ออกราคาตกต่ำขาดทุน ทำให้ ต้องกลับไปมีหนี้สินอย่างเดิมอีก สภาพการณ์เช่นนี้จะปรากฏอยู่เสมอ กสิกรบางรายที่ขาดความอดทนเกิดความท้อถอยเบื่อหน่ายในที่สุดก็ไม่สามารถทนทำอาชีพปลูกผักต่อไปได้ ต้องเปลี่ยนไปประกอบอาชีพทางด้านอื่นแทน

ปัญหาความเจริญของบ้านเมืองและราคาที่ดินสูงขึ้น

ตัวอย่างนี้จะเห็นได้จากแหล่งปลูกผักที่เคยมีอยูในบริเวณจังหวัดกรุงเทพมหานครหรือแถบชานเมือง เดิมที่มีอยู่หลายแห่ง เช่น บริเวณมักกะสัน ดินแดง ประตูน้ำ บางซื่อ สะพานควาย ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน เหล่านี้ในอดีตล้วนเคยเป็นแห่งปลูกผักชนิดต่างๆ ได้ผลดี พอเพียงสำหรับความต้องการของกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง แต่ปัจจุบันกรุงเทพฯ ขยายตัวเจริญกลายเป็นเมืองใหญ่มีผู้คนเข้ามาอาศัย ทำมาหากินเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ทำให้ความต้องการในที่อยู่อาศัยมากขึ้นที่ดินที่เคยทำการเพาะปลูกผักได้ดีแต่เดิมก็กลายมาเป็นบ้านเรือน ตึกแถว ศูนย์การค้า โรงงานหรือ โรงแรมแทน และมีราคาสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว บรรดานายทุนเจ้าของที่ หรือแม้แต่ชาวสวนเองบางรายก็เลยขายที่นั้นไปเสียแล้วเอาเงินที่ได้ไปลงทุนทำอาชีพอย่างอื่นทดแทน

ภัยจากธรรมชาติ

ภัยจากธรรมชาติที่เป็นอุปสรรคต่ออาชีพการปลูก หรือการผลิตผักที่พบเห็นอยู่เสมอก็ได้แก่ภัยจากน้ำท่วม ลมพายุ และลูกเห็บ

ภัยจากนํ้าท่วม นํ้าซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการปลูกผัก ทั้งนี้เนื่องจากผักเป็นพืชที่ต้องการน้ำในการเจริญเติบโตสูงมาก แหล่งปลูกผักต่างๆ จึงมักอยู่ใกล้น้ำ หรือที่ที่มีน้ำอย่างพอเพียง เช่น ตามที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ตามที่ดังกล่าวเหล่านี้เมื่อถึงฤดูฝนหรือฤดูมรสุม พอน้ำหลากลงมามักจะเกิดการท่วมเอ่อล้นฝั่งขึ้นมา ทำให้พืชผักที่ปลูกอยู่ได้รับความเสียหาย หรือไม่ก็ต้องหยุดทำการเพาะปลูกไปชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าน้ำจะลด ซึ่งอาจกินเวลานาน ตั้งแต่ 1-2 เดือนเป็นอย่างน้อย เช่น บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อ่างทอง สิงห์บุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และธนบุรี ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ของปี 2516 2518 2521 2523 และ 2526 ซึ่งมีน้ำเหนือไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเป็นระยะที่น้ำทะเลหนุนเนื่องขึ้นมาพอดี ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายและสูญเสียกับบรรดาไร่-นา และสวนอย่างมากมาย โดยเฉพาะในบริเวณจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และธนบุรี และในช่วงที่นํ้าท่วมอยู่เป็นเวลานาน ดังกล่าว บางสวนที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการมีทุนน้อย ไม่ สามารถสร้างคันคู ทำนบป้องกันหรือลงทุนสูบน้ำออกได้ ก็ต้องหยุดทำการเพาะปลูกไปจนกว่าน้ำจะลด ซึ่งกินเวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน นอกจากนั้นในบางท้องถิ่นหรือบางจังหวัด นิยมทำการปลูกผักบนดินที่มีลักษณะเป็นหาด ที่น้ำไหล ทรายมูลหรือสันดอน ตามริมและกลางแม่น้ำลำคลองซึ่งผุดขึ้นเมื่อนํ้าลดในฤดูแล้ง เป็นดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการปลูกผักเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีปุ๋ยและอินทรีย์วัตถุ ที่พัดพามากับน้ำตกตะกอน ทับถมกันอยู่ ลักษณะของดินก็ร่วนซุย ไม่มีวัชพืช ง่ายต่อการเตรียมและดูแลรักษา พืชผักที่ปลูกในที่เช่นนี้จะเจริญงอกงามให้ผลผลิตสูง แม้จะให้ปุ๋ยเสริมช่วยเพียงเล็กน้อยหรือไม่ต้องให้เลย นอกจากนั้นยังไม่ค่อยมีโรคและแมลง รบกวน เพราะเป็นดินใหม่ แต่ในที่เช่นนี้ก็มีข้อเสียคือ จะทำการเพาะปลูกได้ก็เฉพาะฤดูแล้งที่

นํ้าลด ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น พอถึงฤดูฝนน้ำมาก็ต้องหยุด ทำให้เสียเวลาไปปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 7-8 เดือน

ภัยจากลมพายุ ลมที่กำลังแรงหรือความเร็วสูงมากๆ เข้า

ลักษณะพายุ อาจทำลายหรือสร้างความเสียหายให้กับผักที่ปลูกได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น อาจทำให้ลำต้นโยก คลอน ถอน หลุดออกจากดิน ทำให้กิ่ง ก้าน ใบ ลูก ผล หัก ฉีก ขาด ร่วงหลุดเสียรูปทรง นอกจากนั้นก็อาจจะพัดนำเอาฝุ่น ผง ดิน ทราย หรือสิ่งที่เคลื่อนที่ได้มาทับถมต้นผักทำให้เกิดความเสียหายได้

ลูกเห็บ ที่มีขนาดใหญ่และตกลงมาเป็นจำนวนมาก หาก

บังเอิญตกลงมาในที่เรือกสวน ไร่นา ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้ อันตรายจากพายุลูกเห็บนี้ส่วนใหญ่มักพบเกิดขึ้นในบางจังหวัดของภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือเท่านั้น โดยเกิดขึ้นในช่วง

ระหว่างฤดูร้อนต่อฤดูฝน ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม และ

มิถุนายนของแต่ละปี ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนเมษายน 2522

มีรายงานจากหลายจังหวัดทั้งภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง

อันได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี นครราชสีมา และ

สระบุรีได้เกิดพายุลูกเห็บตกลงมาอย่างรุนแรง เป็นปริมาณมาก

ประกอบกับมีขนาดค่อนข้างโต ทำความเสียหายให้กับพืชผล

ไร่นานับเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาทโดยเฉพาะที่อำเภอเมือง

จังหวัดเชียงราย เพียงแห่งเดียว ทำความเสียหายให้ไร่ยาสูบและพืชผักต่างๆ เป็นบริเวณนับร้อยๆ ไร่ เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่นาทีที่ลูกเห็บตกลงมา พืชผลต้องเสียหายไปเป็นจำนวนมาก

ปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงศัตรูพืช

โรคและแมลงศัตรูพืชจัดว่าเป็นปัญหาที่นับว่าสำคัญที่สุดในบรรดาปัญหาทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้ว เนื่องจากเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับพืชทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเป็นจำนวนมากเสมอในแต่ละปี นอกจากนั้นยังพบว่าทั้งโรคและแมลงเข้าไปก่อให้เกิดความเสียหายร่วมอยู่ในหัวข้ออุปสรรคที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วทั้งหมด แม้ว่าสถิติตัวเลขความเสียหายของพืชผักที่เกิดขึ้นจากการทำลายของโรคและแมลงในประเทศไทยขณะนี้จะยังไม่มีผู้ใดรวบรวมสถิติเป็นตัวเลขหรือจำนวนที่แน่นอนไว้ แต่ผลจากที่ได้สำรวจและศึกษาตามแหล่งที่มีการปลูกผักเป็นอาชีพใหญ่ๆ ในประเทศไทยในระยะ 4-5 ปีที่แล้ว เช่นบริเวณอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอภาษีเจริญ และตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพฯ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่าพืชผักที่ปลูกในแหล่งต่างๆ เหล่านี้ ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากโรคและแมลงศัตรูพืชโดยทั่วๆ ไปจะอยู่ในระดับ 10-20% ของจำนวนผลิตผลทั้งหมดในแต่ละฤดูปลูก บางแห่งในบางที่อาจพบสูงขึ้นไปถึง 40-50% หากสิ่งแวดล้อมเหมาะสม และการป้องกันกำจัดทำไม่ได้ทันท่วงที จำนวนหรือปริมาณความเสียหายดังกล่าวหากนำมาคิดคำนวณเป็นตัวเลขเปรียบเทียบจากผลิตผลรวมทั้งประเทศซึ่งมีมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท แล้วจำนวนเพียง 10-20% ที่เสียหายไป หากคิดเป็นจำนวนเงินที่สูญเสียไปในแต่ละปีก็เป็นมูลค่านับพันล้านบาท ทั้งนี้ยังรวมค่ายาหรือสารเคมีตลอดจนค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติต่างๆ ที่ต้องเสียและจ่ายไปในการป้องกันกำจัดอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อรักษาส่วนที่ยังดีอีก 80-90% เอาไว้ นอกจากนั้นในแหล่งปลูกบางแห่งเกิดโรคและศัตรูพืช ระบาดทำความเสียหายให้กับผักที่ปลูกติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้การสะสมของเชื้อโรคในดินมีมากขึ้น ตลอดจนความทนทานของเชื้อโรคที่มีต่อยาหรือสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและไม่ถูกต้องตามคำแนะนำก็มีมากขึ้น ทำให้การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดในอัตราปรกติที่เคยใช้หรือที่ทางผู้ผลิตกำหนดไว้เดิมไม่ได้ผล นอกจากจะเพิ่มความเข้มข้นหรือระยะเวลาการใช้แต่ละครั้งให้สั้นลง ซึ่งเป็นการเพิ่มทั้งค่าใช้จ่ายและอันตรายจากพิษของสารเคมีมากยิ่งขึ้น ผู้ปลูกบางรายไม่สามารถทนต่อสภาวะดังกล่าวได้ทำให้ต้องเลิกอาชีพปลูกผักหันไปทำการปลูกพืชอย่างอื่น เช่น ไม้ผลหรือไม้ดอก หรือไม่ก็ต้องย้ายถิ่นทำเลที่เคยทำอยู่เดิมไปหาใหม่แทน ตัวอย่าง ดังกล่าวจะเห็นได้จากการปลูกพริก หอม กระเทียม บริเวณอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงและจัดว่าเป็นแหล่งผลิตใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศมานับสิบๆ ปี ต่อมาระยะหลังหรือปัจจุบัน ปรากฏว่ามีโรคและศัตรูพืชหลายชนิดระบาดทำความเสียหายให้กับพืชผักพวกนั้นอย่างรุนแรงทั้งที่ได้มีการพยายามใช้ทั้งสารเคมีและวิธีการต่างๆ เพื่อป้องกันกำจัด หยุดยั้ง หรือลด ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากดินปลูกมีการปลูกพืชชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน และจากสารเคมีที่ใช้กันอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดและปริมาณมากทำให้เชื้อโรคต่างๆ เกิดความต้านทานและดื้อยา การป้องกันกำจัดโรคในระยะหลังนี้ไม่ค่อยได้ผล หรือไม่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ผลได้ไม่คุ้มกับทุนที่ลงไป การปลูกพริก หอม กระเทียมของดำเนินสะดวกปัจจุบันจึงลดน้อยลงไปมาก หลายรายหันไปทำสวนผลไม้ เช่น องุ่น ชมพู่ ส้ม หรือมะละกอ แทน บางคนที่ไม่ยอมเลิกอาชีพการทำสวนผักก็ย้ายไปหาที่ปลูกใหม่ที่ไกลออกไป โดยบางรายพบว่าไกลไปถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย ก็มี

นอกจากความเสียหายดังกล่าวแล้ว โรคบางชนิดไม่เพียงแต่จะลดปริมาณหรือสร้างความเสียหายโดยตรงให้กับพืชผักขณะที่ยังอยู่ในแปลงปลูกเท่านั้น แต่ยังสามารถระบาดแพร่กระจายโดยติดไปกับชิ้นส่วนหรือผลิตผลที่เก็บเกี่ยวแล้ว รวมไปถึงเมล็ดหรือส่วนที่จะนำไปปลูกหรือขยายพันธุ์ต่อไป ทำให้เกิดโรคระบาดติดต่อขึ้นภายหลังได้อีก

จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องโรคเป็นปัญหาที่สำคัญเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปลูก ผู้ขายและผู้บริโภครวมกัน จึงควรที่จะได้เรียนรู้เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ การเกิดและการทำลายของโรค เพื่อประโยชน์ในอันที่จะหลีกเลี่ยง ป้องกันกำจัด หรือลดความเสียหายอันอาจเกิดมีขึ้นให้ได้ผลมากที่สุด