ปาล์ม:ปาล์มประดับพื้นเมืองของไทยสำหรับปลูกเป็นไม้กระถาง

ดร.ปิยะ  เฉลิมกลิ่น

สาขาวิจัยอุตสาหกรรมการเกษตร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ในจำนวนปาล์มที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนั้น ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ควรนำมาเป็นไม้ประดับได้สักกี่ชนิด เนื่องจากว่าปาล์มมีรูปทรงและสีสันแตกต่างกันออกไปมากมาย จึงสามารถนำมาใช้ประดับในแต่ละสถานที่ แต่ละโอกาสได้ไม่เหมือนกัน

บรรดาพืชในวงศ์ปาล์มที่มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดมากกว่า 3,800 ชนิด ส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อนของโลกส่วนการจัดให้อยู่ในสกุลใดและมีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างไรนั้น พบว่ายังมีการย้ายสับไปสับมาอยู่บ่อยๆ ดังเช่น เปาโรตีส ชื่อเดิมคือ Paurotis wrightii ชื่อปัจจุบันคือ Acoelorraphe wrightii ปาล์มบังสูรย์ ชื่อเดิมคือ Teysmannia altifrons ชื่อปัจจุบันคือ Johannesteijsmannia altifrons หมากงาช้าง ชื่อเดิมคือ Pinanga dicksonii ชื่อปัจจุบันคือ Nenga pumila ส่วนหมากแดงมีชื่อว่า Cyrtostachys renda หรือมีชื่อพ้องคือ C.lakka

ในจำนวนปาล์มที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนั้น ยังไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าควรนำมาเป็นไม้ประดับได้สักกี่ชนิด เนื่องจากว่าปาล์มมีรูปทรงและสีสันแตกต่างกันออกไปมากมายจึงสามารถนำมาใช้ประดับในแต่ละสถานที่แต่ละโอกาสได้ไม่เหมือนกัน

การทำสวนรวบรวมพันธุ์ปาล์มในต่างประเทศ นอกจากจะมีปาล์มชนิดต่างๆ ให้เลือกชมกันแล้ว ทางสวนยังได้มีการตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม เหมาะสมและเน้นความเป็นเอกลักษณ์ของสวนแต่ละแห่ง เมื่อคนไทยได้ไปเที่ยวชม จึงบังเกิดความประทับใจและหลงใหลไปกับความงามของปาล์มนั้นๆ แล้วอดไม่ได้ที่จะหาซื้อมาปลูกในบ้านเมืองเรากันบ้าง มีการเลี้ยงดูทะนุถนอมกันอย่างดี ประกอบกับปาล์มหลายชนิดสามารถปรับตัวเข้ากับบรรยากาศของเมืองไทยได้เป็นอย่างดีผลก็คือปาล์มต่างประเทศเหล่านั้น ได้มายืนต้นเด่นเป็นสง่าอวดศักดิ์ศรีอยู่ในเมืองไทย แถมยังมีราคาแพงมากในปัจจุบัน เช่น ตาลสีฟ้า(Bismarckia nobilis) อินทผลัมประดับ (Phoenix canariensis) ฟอกเทล (Wodyetial bifurcate) นอแมลไบยา (Normanbya normanbyi) อ้ายหมี (Copernicia macroglossa) ปาล์มเจ้าหญิง (Dictyosperma album) หรือแม้กระทั่งปาล์มเฮนรี่ (Pelagodoxa henryana)

ในขณะที่คนไทยกลุ่มหนึ่งไปสนใจกับปาล์มประดับจากต่างประเทศดังกล่าวแล้วนั้น กลับมีคนต่างประเทศอีกหลายกลุ่มสนใจปาล์มประดับที่เป็นพื้นเมืองของไทย เข้าเที่ยวเก็บพันธุ์ปาล์มประดับพื้นเมืองจากป่าของไทย เข้ามาหาซื้อเมล็ด หาซื้อต้นกล้าจากร้านเพาะชำในเมืองไทย มีการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กับนักเล่นปาล์มประดับของไทย ทำให้ปาล์มพื้นเมืองของไทยได้รับความนิยมมากขึ้น และมีการเสาะหาชนิดใหม่ๆ ที่มีความสวยงามออกมาป้อนตลาดอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่าปาล์มพื้นเมืองของไทยจะไม่สูญพันธุ์อย่างแน่นอน ถ้าได้เข้าไปอยู่ในมือของนักเล่นปาล์ม เพราะทุกคนต้องการจะขยายพันธุ์ต้องการจำหน่าย พร้อมทั้งมีการบำรุงรักษากันเป็นอย่างดี ยกเว้นเสียแต่ว่านักเล่นปาล์มคนนั้นเป็นคนใจแคบและต้องการสะสมพันธุ์เอาไว้เพียงคนเดียว

จากการนำปาล์มประดับพื้นเมืองมาปลูก และใช้ประดับตกแต่งสถานที่แล้ว พบว่ามีความสวยงามและมีความเหมาะสมตามวาระและโอกาสต่างๆ กัน บางชนิดสวยตอนเป็นต้นเล็กๆ จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้กระถาง ส่วนบางชนิดสวยช่วงเจริญเติบโตที่และมีทรงต้นขนาดใหญ่ จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะปาล์มประดับพื้นเมืองของไทยที่ควรปลูกเป็นไม้กระถาง ได้แก่ ปาล์มศรีสยาม รังค่าย ช้างร้องไห้ หมากแดง ปาล์มบังสูรย์ หมากงาช้าง สาคู และจั๋ง

ปาล์มศรีสยาม(Arenga hookeriana) พบในภาคใต้บริเวณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเมื่อ 7-8 ปีมานี้เป็นปาล์มที่มีการแตกหน่อเป็นกอแต่ละต้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ซม.มีใบเดี่ยวสีเขียวเข้มเป็นมันกว้าง 10-15 ซม. ขอบใบหยักเป็นติ่งแหลม 8-10 หยัก ขนาดที่สวยงามมีความสูง 1-2 ฟุต ชอบร่มและความชื้นสูง

รังค่าย (Arenga pinnata)        เป็นปาล์มต้นเดี่ยว มีขนาดใหญ่ทรงพุ่มเท่ากับปาล์มน้ำมัน พบขึ้นกระจายทั่วประเทศ ภาคเหนือเรียกชิดหรือตาวมีผลนำมาเชื่อมน้ำตาลใช้รับประทานเรียก “ลูกชิด” ภาคใต้เรียก “ชก หรือรังค่าย” ช่อดอกออกทยอยจากยอดลงมาข้างล่าง แต่ละช่อยาว 3-4 ฟุต มีจำนวนผลช่อละ 1,000-4,000 ผล เมื่อออกช่อหมดแล้วต้นจะตายไป ผิวของผลมีขนเล็กๆ ทำให้คันมาก ขนาดที่สวยงามมีความสูง 1 ฟุต เริ่มแตกใบย่อยแบบขนนก แต่ปลายใบยังเป็นแผ่นใหญ่ท้องใบจะเป็นสีเท่าหรือเหลือบเงินสวยงาม ใช้ประดับได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม

ช้างร้องไห้ (Borassodendron machadonis) เป็นปาล์มต้นเดี่ยวสูง 8-10 เมตร มีลักษณะช่อดอกและผลคล้ายตาลโตนด มีส่วนแตกต่างตรงที่ใบมีหยักลึกกว่า จึงดูพลิ้วได้มากกว่า ขึ้นอยู่ในป่าทึบทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีไปจนสุดประเทสมาเลเซีย เป็นปาล์มที่แยกเพศเป็นต้นตัวผู้และตัวเมียอยู่คนละต้น ที่ขอบก้านใบมีสีดำ แข็งและคมมาก ระยะที่สวยมีความสูง 1-2 ฟุต และปลูกประดับอยู่ในที่ร่มและชื้น มีรายงานว่าในรัฐฟลอริดาของสหรัฐอเมริกาสามารถปลูกประดับได้สวยงามและเจริญเติบโตดี

หมากแดง (Cyrtostachysrenda) เป็นปาล์มที่แตกกอ ถิ่นเดิมอยู่ในป่าพรุ จังหวัดนราธิวาส สูง 8-10 เมตร นอกจากนั้นยังเป็นปาล์มที่มีราคาแพง เนื่องจากมีสีแดงสดใสสวยงามและโตช้ามาก กว่าจะออกช่อดอกและติดเมล็ดได้ก็ใช้เวลา 8-10 ปี ผู้ต้องการปลูกที่ทนรอไม่ได้ จึงใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ และการที่รู้จักแยกเอาหน่อเล็ก ๆ ออกไป จะทำให้กอสวยงาม เหลือไว้เฉพาะหน่อหรือลำต้นที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงสมบูรณ์ดี มีสีแดงเด่นชัดเจน ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่แยกหน่อหรือไม่แต่งกอแล้ว กอจะแน่นและใบของหน่อเล็กๆ จะมาปิดบังสีแดง ทำให้หมดความสง่าหมดความสวยงามลงไป หมากแดงใช้ประดับได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง

ปาล์มบังสูรย์ (Johannesteijsmannial altifrons) เป็นปาล์มต้นเดี่ยวแต่มองไม่เห็นลำต้นเนื่องจากแตกใบขึ้นมาจากพื้นดิน ใบใหญ่รูปข้าวหลามตัด สีเขียวเข้มมีจีบเป็นมันวาว เป็นปาล์มประดับที่โตช้ามากไม่แยกเพศเป็นต้นตัวผู้หรือตัวเมียในประเทศไทยมีเพียงชนิดเดียว แต่ในมาเลเซียและอินโดนีเซียมีถึง 4 ชนิดคือ J.altifrons, J.magnifica, J.lanccolata และ J.perakensis การปลูกประดับได้ทั้งในที่ร่มและที่มีแสงรำไรแต่ห้ามนำออกปลูกกลางแจ้งเด็ดขาดเพราะใบจะไหม้และถ้ามีความชื้นน้อยปลายใบก็จะแห้ง

หมากงาช้าง (Nengapumila) เป็นปาล์มที่แตกกอขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้นทั้งในภาคตะวันออกและในภาคใต้ สูง 4-5 เมตร เป็นปาล์มประดับที่ยังมีราคาสูง เนื่องจากทางต่างประเทศมีความนิยมในต้นนี้มากเจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว ใช้เวลา 4-5 ปีก็ออกช่อดอกและติดเมล็ดได้ ความสวยงามอยู่ที่กาบหุ้มลำต้นมีสีขาวสีเหลืองครีมคล้ายงาช้าง ต้นเล็กสูง 1-2 ฟุต เป็นขนาดที่สวยงามมาก เพราะส่วนกาบหุ้มลำต้นจะมีสีงาช้างเด่นชัดมาก แต่ถ้ามีความสูงมากกว่านี้ขึ้นไป ส่วนกาบด้านล่างจะหลุดออกและมองเห็นส่วนเขียวของลำต้นขึ้นแทนที่

สาคู (Metroxylon sagu) เป็นปาล์มที่แตกหน่อ ขึ้นอยู่ในป่าพรุตามริมน้ำหรือที่ชื้นแฉะในภาคใต้ในอินโดนีเซียตัดต้นเอาไส้ในมาทำแป้งสาคูซึ่งถือว่าเป็นแป้งชั้นดี แต่คนไทยในภาคใต้กลับนำมาสับใช้เลี้ยงเป็ดเลี้ยงหมู ลำต้นมีขนาดใหญ่เท่ากับต้นมะพร้าว มีช่อดอกใหญ่มากสูง 2-3 เมตร เมื่อออกช่อดอกติดผลแล้วต้นก็จะตาย ขนาดกำลังสวยงามมีความสูง 1-2 ฟุต ปลูกอยู่ในกระถางแล้วนำไปแช่น้ำอยู่ในบ่อเลี้ยงปลา หรือบ่อน้ำพุข้างบ้าน เมื่อแตกใบอ่อนออกมาจะมีสีม่วงแดง แต่เมื่อใบแก่ก็จะกลายเป็นสีเขียว แม้ค้าที่เพาะกล้าขายจึงเรียกเป็นปาล์มยอดม่วงหรือปาล์มม่วง

จั๋ง (Rhapis humilis) เป็นปาล์มที่แตกกอขึ้นอยู่ในป่าทั่วประเทศแต่ถูกพ่อค้าและนักจัดสวนขุดล้อมมาปลูกประดับตามบ้านจัดสรรจนจวนจะหมดป่าอยู่แล้ว ต่างจากจั๋งญี่ปุ่นตรงที่ใบยาวกว่า ลำต้นสูงกว่า เป็นปาล์มที่เจริญเติบโตช้า ต้นที่ปลูกเลี้ยงจากต้นเพาะกล้าจะมีกอเป็นพุ่มสวยงาม ขนาดที่กำลังสวยงามมีความสูง 1-2 ฟุต มีการดัดแปลงเอาลำที่ไม่แข็งแรงและไม่สวยงามออกไป จะได้กอที่มีสีเขียว เป็นพุ่มสวยงาม ใช้ประดับได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง

ปาล์มประดับพื้นเมืองที่โตช้าก็มีข้อดีคือ ตายช้า ใช้ประดับอยู่ได้นาน มีความสวยคงทน ชนิดที่เรียกว่า “สวยไม่เสร็จ” และถ้าใช้ปลูกประดับเนิ่นนานออกไป มีความสูงเพิ่มขึ้น ต้นมีขนาดใหญ่ขึ้น จนถึงขนาดที่เรียกว่า “ล้นกระถาง” ก็สามารถนำปาล์มประดับพื้นเมืองเหล่านี้ลงปลูกในแปลงได้อย่างสวยงาม เพียงแต่จัดให้มีปริมาณแสงพอเหมาะกับความต้องการของปาล์มแต่ละชนิด จะให้อยู่กลางแจ้ง ในที่ร่ม หรือในที่ร่มรำไรตามที่กล่าวมาแล้วก็ได้